ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Sunday, December 17, 2006

แนวคิด Post-modernism และวิกฤตการสื่อความหมายในวิชามานุษยวิทยา

Henrrietta L.Moore 1999

แปลโดย นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จากเรื่อง Anthropology at the Turn of the Century

มีการส่อเสียดที่ใหญ่หลวงเกิดขึ้น เนื่องจากเหตุผลที่ว่า ทุกอย่างเป็นเช่นนี้ก็เพราะมีทฤษฎีทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทฤษีหนึ่งเกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (Grossberg, Nelson and Treichler,1992 : Seidman,1994) ทฤษฎีที่ว่านี้เกิดจากพวกผู้รื้อถอนทำลาย พวกที่ปฏิเสธโครงสร้างระเบียบ และพวกที่ผ่านพ้นความคิดแบบสมัยใหม่มาแล้ว(post-modernist) สำหรับในทางมานุษยวิทยา ทฤษฎีดังกล่าวนี้มาพร้อมกับการวิพากษ์การใช้ภาษาในการสื่อความหมาย และให้ความสำคัญเพียงบางส่วนสำหรับการทำงานภาคสนาม และเชื่อในความไม่แน่นอน ความแตกขาดไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของวัฒนธรรม ตัวตนของมนุษย์ และประวัติศาสตร์

สิ่งที่ตกทอดมาจากทฤษฎีดังกล่าว สำหรับการศึกษาทางมานุษยวิทยาก็คือ ข้อถกเถียงที่เกิดจากกลุ่มนักวิชาการกลุ่มเล็กๆในช่วงทศวรรษที่ 80 และต้นทศวรรษที่ 90 เช่นการศึกษา Clifford และ Marcus 1986 ,Marcus and Fischer 1986, Clifford 1988, Kapferer 1988, Ulin 1991, Polier and Roseberry 1989, Sangren 1988 ,Gellner 1992 และ Roth 1989 ข้อถกเถียงเหล่านี้ ยังคงดำเนินต่อมาพร้อมกับข้อโต้แย้งมากมายเกี่ยวกับเรื่อง ความเชื่อมโยงระหว่างการตีความ กับวิธีการศึกษาด้วยกรอบแบบวิทยาศาสตร์ ประเด็นที่ถกเถียงจะเป็นเรื่องอำนาจของการสื่อความหมายซึ่งมีความขัดแย้งระหว่าง แนวคิดแบบ objectivism กับ subjectivism ระหว่างแนวคิด empiricism กับ social construction

อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาจากข้อถกเถียงดังกล่าวนี้ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนากรอบความคิดทฤษฎีในทางมานุษยวิทยาในหลายๆด้าน ซึ่งต่างเกี่ยวข้องกับประเด็นคำถามที่ว่า อะไรคือทฤษฎีที่เป็นมานุษยวิทยา

สิ่งที่น่าคิดที่สุดในเรื่องข้อถกเถียงของพวก Post-modernist และ deconstructionist ในทางมานุษยวิทยาก็คือ มีการปฏิเสธทฤษฎีที่เคยยึดถือกันมา ซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ วิธีการศึกษาแบบตะวันตก และพยายามหลีกหนีจากทฤษฎีกระแสหลัก (grand theories and meta-narratives) ด้วยเหตุผลที่ว่าทฤษฎีเหล่านี้พยายามทำให้สิ่งที่แตกต่างกันเป็นสิ่งที่เหมือนกัน ในทางมานุษยวิทยามีผลเกิดขึ้น 2 ลักษณะคือ อย่างแรก ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการศึกษา อย่างที่สอง คือทำให้การนิยามใหม่ต่อ สิ่งที่เรียกว่าทฤษฎี สองสิ่งนี้เกี่ยวข้องกัน เพราะต่างทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับสถานะของนักมานุายวิทยาที่เป็นผู้เขียนงานวิจัย และยืนยันว่างานภาคสนามเป็นเรื่องของการตีความ นอกจากนั้นยังตั้งคำถามต่อข้อสมมติฐาน และวิธีการศึกษา ที่จะพัฒนาไปสู่การสื่อความ และการตีความทางวัฒนธรรม

สิ่งนี้คือวิกฤตของการสื่อความหมาย(representation) ซึ่งเกิดขึ้นกับศาสตร์ต่างๆหลายขนาด แต่ผลที่มีต่อวิชาทางมานุษยวิทยาก็คือ ข้อถกเถียงต่ออำนาจทางภูมิศาสตร์ ระหว่างความเป็นตะวันตก กับความเป็นอื่น และข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในหมู่นักมานุษยวิทยาด้วยกันเอง แต่เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้นข้อถกเถียงในแบบแรก การศึกษาทางมานุษยวิทยาตกอยู่ภายใต้การนิยามพื้นที่ระหว่างความเป็นตะวันตกกับความเป็นอื่น ซึ่งเราไม่เคยตั้งคำถามกับความเป็นอื่น ที่สามารถเปลี่ยนแปลงนิยามดังกล่าวได้ วิชามานุษยวิทยาไม่เคยละทิ้งการนิยามพื้นที่เช่นนั้น เพราะถ้าไม่นิยามเช่นนี้แล้ว ก็จะก่อให้เกิดอำนาจ และศีลธรรมที่ถูกโต้แย้งซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความเข้าใจ เรื่องวิถีทางของโลก และวิถีชีวิตของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มเกิดข้อถกเถียง ต่อเรื่องวิกฤตของการสื่อความหมายในทศวรรษที่ 80 ประเด็นดังกล่าวนี้ยังไม่ถูกกล่าวถึงในทางมานุษยวิทยา แต่สิ่งที่มองเห็นได้ก็คือ ยังไม่มีการตั้งคำถาม หรือการตรวจสอบใดๆต่อเรื่องความลำเอียงในทางเชื้อชาติ (ethnocentric) สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับนักมานุษยวิทยาจำนวนมาก ผู้ซึ่งพยายามหาทางแก้ ต่อสิ่งที่เป็นเรื่องหล่อแหลมทางอำนาจด้วยการเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ภาษา การเขียน และการทำงานภาคสนาม ถึงแม้ว่ามันจะเป็นบ่อเกิดของระบบศีลธรรม และมีผลต่อตัวบุคคลอย่างรุนแรงก็ตาม ถึงกระนั้น ความพยายามดังกล่าวดูเหมือนจะล้มเหลว เพราะการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในเรื่องภาษา และปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพต่อการพัฒนาในวงกว้าง ของระบบอำนาจที่เป็นระเบียบที่ชัดเจน
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ ถึงแม้ว่าจะมีข้อถกเถียงจากพวก post-modernist และ deconstructionist ซึ่งมีผลต่อวิธีการศึกษา และการเขียนเพื่อสื่อความหมาย แม้แต่งานของนักมานุายวิทยาที่มองข้ามแนววิพากษ์ทั้งหลายก็ไม่พ้นผลกระทบนี้ ผู้เริ่มต้นการวิพากษ์วิจารณ์ได้จุดประกายต่อเรื่องศีลธรรมที่มีอยู่ในทฤษฎีและวิธีการศึกษาต่างๆ (Moore 1997:126) การวิพากษ์การสื่อความหมาย และการปฏิเสธทฤษฎีกระแสหลัก ทำให้นักมานุษยวิทยาที่เป็นนักปฏิบัติบางคน หันหลังให้กับกรอบความคิดทฤษฎี และหันไปสู่การทำงานภาคสนามเพียงอย่างเดียว โดยใช้วิธีสังเกตและประสบการณ์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการสื่อความหมาย และการใช้ทฤษฎี

การทำงานภาคสนาม จึงเป็นหนทางหลีกหนีของนักมานุษยวิทยาหลายคน เนื่องจากมันเป็นการทำงานที่ยังทำให้นักมานุษยวิทยาสร้างคำพูด และคำบอกเล่าได้จากการตั้งคำถาม และยังทำให้นักมานุษยวิทยามีโอกาสฝึกศีลธรรมของตนเองซึ่งมันจะถูกแยกออกไปจากอดีตที่เสื่อมเสียของนักมานุษยวิทยา ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการทำงานภาคสนามที่กีดกัน และความโง่เขลาทางทฤษฎีแบบตะวันตก การหันไปสนใจงานภาคสนามดูเหมือนจะเป็นภาพของการต่อสู้ทางวิชาการ แต่ผลของมันเป็นภาพลวงตา เนื่องจากงานสนามเป็นเพียงการทดแทน มิใช่การแก้ไขปัญหาที่มีอยู่

ข้อถกเถียงที่โจมตีกันระหว่าง นักคิดที่เชื่ออิทธิพลทางสังคม(social constructionist) ซึ่งเชื่อว่างานเขียนทางมานุษยวิทยา ไม่ต่างกับการเขียนนิยาย กับนักคิดกลุ่มที่เชื่อวิธีการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งคิดว่าวิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ ข้อถกเถียงดังกล่าวนี้เป็นภาพล้อในหมู่นักมานุษยวิทยา ผู้ซึ่งพยายามสร้างทฤษฎีที่ไม่ใช่มีเพียงแต่เรื่องประวัติศาสตร์ และการตั้งสมมติฐานของมานุษยวิทยา หากแต่ยังเป็นเรื่องของบทบาทของนักมานุษยวิทยาในฐานะเป็นผู้สร้างองค์ความรู้นั้นด้วย ความตึงเครียดที่ถือกำเนิดขึ้นภายในวิชามานุษยวิทยาก็คือ ความเชื่อมั่นที่มีต่อการสื่อความหมายที่ผ่านการตีความ และการเขียนงานภาคสนาม

ความตึงเครียดดังกล่าวนี้ได้ทำให้เกิดระเบียบบางอย่าง และแก้ไขอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการหันไปสู่การทำงานภาคสนามเพียงอย่างเดียว หรือการหันไปสู่การตีความ วิชามานุษยวิทยานั้นวางอยู่บนพื้นฐานของความตึงเครียดที่แก้ไม่ได้สองประเภท คือ ความต้องการที่จะแยกตัวตนออกจากโลก และทำให้มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่จับต้องได้ กับความปรารถนาที่จะละทิ้งตัวตนจากโลกทางวัตถุ เพื่อที่จะเข้าใจมันโดยตรง(Mitchell 1988 :29) ความตึงเครียดนี้ถูกบรรจุอยู่ในวิธีการศึกษาที่เน้นการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม(participant-observation) และถูกแสดงอย่างชัดแจ้งในทฤษฎีทางมานุษยวิทยาตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้เพิ่มการเน้นย้ำต่อเรื่องการสร้างสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม ขณะเดียวกัน ก็เน้นความสำคัญเรื่องปรากฏการณ์วิทยา และ ความเหลื่อมซ้อนกันของสิ่งต่างๆ

ปัญหาต่อมาของมานุษยวิทยาก็คือ การถอยห่างจากกรอบความคิดแบบ ethnographic particularism ซึ่งเชื่อในความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัฒนธรรม การถอยห่างจากสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการปะทะต่อต้านทฤษฎีกระแสหลักของนักคิด Modernist ซึ่งอธิบายทุกอย่างด้วยการแบ่งแยก แบ่งลำดับขั้น และทำให้ดูเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การให้คุณค่าวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้นต้องการกรอบความคิดในการอธิบาย และการประเมินความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบวัฒนธรรมที่หลากหลาย และความสัมพันธ์ของอำนาจที่มีช่วงชั้นก็ต้องอาศัยทฤษฎีในการมองเช่นกัน เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตัวเข้ากับกระบวนการโลกาภิวัฒน์ และความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ต้องอาศัยทฤษฎีในการอธิบาย

สิ่งนี้คือเหตุผลว่าทำไม ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาจึงไม่สามารถเป็นสิ่งเดียวกันกับชีวิตมนุษย์ ทั้งๆที่หลายทฤษฎีเกิดขึ้นบนรูปแบบชีวิตเฉพาะบางอย่าง ถ้าข้อถกเถียงของนักคิด post-modernist กับ deconstructionist มีผลให้การศึกษาทางมานุษยวิทยา เป็นการคิดใหม่ต่อวิธีการทำงานภาคสนาม แต่ทำให้นักมานุษยวิทยาหันหลังให้กับกรอบทฤษฎีทั้งหลาย แล้วจะทำให้ข้อถกเถียงเหล่านี้นำมาซึ่งการสร้างนิยามใหม่ต่อทฤษฎีนั้นๆ ด้วยทัศนคติอย่างไร สิ่งแรกก็คือ การหนีห่างจากตัวทฤษฎีเป็นเพียงบางส่วนของการถกเถียง และเป็นภาพลวงตา เช่นเดียวกับการหันไปสู่การทำงานภาคสนามเพียงอย่างเดียว ตลอดเวลาที่นักมานุายวิทยาไม่ยอมรับทฤษฎีใดๆ ก็เท่ากับว่ากำลังสร้างทฤษฎีขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง

นักคิดแนว post-modernist หรือ deconstructionist นั้นต่างสร้างทฤษฎีเช่นเดียวกัน เนื่องจากนักคิดเหล่านี้ได้เสนอความคิดชุดนี้ให้แก่มานุษยวิทยา นักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งก็รับเอาแนวคิดประเภทนี้ไว้ แต่พยายามที่จะดัดแปลงไปใช้ในแบบเฉพาะเพื่อที่จะเก็บข้อมูลสนามได้ดีขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดมุมมองใหม่ๆต่อการตั้งคำถาม และการตรวจสอบแนวคิด และสมมติฐาน สิ่งนี้เกิดขึ้นแพร่หลายในการศึกษาทางมานุษยวิทยาในอดีตซึ่งต่างมีสมมติฐาน และแนวคิดที่หลากหลายเพื่อที่จะตรวจสอบวิธีการศึกษาที่มีอยู่ นักมานุษยวิทยาต่างตระหนักดีว่าจุดหมายอย่างหนึ่งของการสร้างทฤษฎี ก็คือการตรวจสอบสิ่งที่เราได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของผู้อื่น สิ่งนี้ไม่ใช่การเยาะเย้ยความคิดของผู้อื่น แต่เป็นเครื่องมือที่จะนำวัฒนธรรมต่างๆมาสัมพันธ์กัน ภายใต้ระบบการวิเคราะห์บางอย่าง
การศึกษาในแนวนี้ถูกทำให้เข้มงวดโดยนักคิดแนว postmodernist และ deconstructionist ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในแวดวงมานุษยวิทยา เนื่องจากมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องบทบาทของนักมานุษยวิทยาในฐานะผู้สร้างองค์ความรู้ ผู้สร้างตำแหน่งแห่งที่ และการตีความ อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมามิใช่การบอกถึงทฤษฎีสำเร็จรูปที่สามารถตรวจสอบวัฒนธรรมต่างๆได้หมด หากแต่เป็นสภาพการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับนักมานุษยวิทยาที่จะเป็นผู้ตรวจสอบวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาเรียกว่า ข้อสมมติฐานและการวัดคุณค่าเบื้องต้นซึ่งจะช่วยให้วิธีการศึกษาและการทำงานภาคสนามเป็นไปได้มากขึ้น ดังเช่นความคิดที่ว่า วัฒนธรรมต่างๆไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละวัฒนธรรมมีอยู่เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง

การตรวจสอบสมมติฐานและการชี้วัดทางทฤษฎีเบื้องต้น มิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ ในที่นี้จะกล่าวถึงแนวคิดสองประเภทที่พัฒนาขึ้นมา แนวคิดแรกเกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหรือเป็นช่วงที่นักมานุษยวิทยา “เดินทางกลับบ้าน” ช่วงนี้เริ่มมีการศึกษาชุมชนในประเทศตะวันตกมากขึ้น และมีการประกาศว่านักวิชาการต้องทำงานใกล้ชิดชุมชนของตัวเองมากขึ้น แต่ กระบวนการโลกาภิวัฒน์ และการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้เกิดความหมายที่ว่า ชุมชนที่เป็น “บ้านเกิด” มีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น และความเป็นวัฒนธรรมอื่น ก็มิได้หมายถึงการเป็นสิ่งที่แยกตัวอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป
สิ่งนี้ทำให้ เป้าหมายของการศึกษาทางมานุษยวิทยาเปลี่ยนไป พร้อมๆกับการพัฒนาแนวคิดประเภทที่สอง ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาอย่างชัดเจน ถ้าปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมและชุมชนที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาเป็นชุมชนที่ผสมกันของคนหลายชาติ และหลายท้องถิ่น แล้วนักมานุษยวิทยาก็อาจต้องเป็นเช่นนั้นด้วย นักมานุษยวิทยาจะต้องเป็นผู้ที่ไม่ยึดครองพื้นที่แบบตายตัว สิ่งนี้มีส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงต่อเรื่องบทบาทของนักมานุายวิทยาในฐานะผู้สร้างองค์ความรู้ และผู้พัฒนาระเบียบของอำนาจที่พร้อมจะถูกโต้แย้ง ประเด็นเกี่ยวกับการผสมปนเปทางวัฒนธรรม กับการระบุตำแหน่งแห่งที่ เป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับนักมานุษยวิทยา ผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีคนหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และการแสวงหาตัวตนเป็นเรื่องที่หล่อแหลม ในโลกซึ่งมีทั้งการเชื่อมโยงถึงกัน และการแสวงหาความเป็นท้องถิ่น วิธีการศึกษาของนักมานุษยวิทยาก็ควรมีทั้งสองด้านนี้เช่นเดียวกัน

ขอถกเถียงของ post-modernist และ deconstructionist ในทางมานุษยวิทยาอาจจะเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อระเบียบวิธีวิจัย แต่ข้อถกเถียงนี้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดสินไว้แล้ว และในสภาพของการเป็นพื้นที่ใหม่ที่ถูกขยายความมากเกินไป พื้นที่ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นทั้งนอก และในพรมแดนวิชามานุษยวิทยา นักวิจารณ์หลายคน (เช่น Knauff 1996 ,1997 และ Scott 1992) ได้ชี้ให้เห็นว่า วิชามานุษยวิทยาตอบรับแนวคิดแบบ post-modernist ด้วยการรับวิธีการศึกษาในด้านภาษาและมนุษยศาสตร์ และเริ่มที่จะรื้อทำลายงานเขียนในทางมานุษยวิทยา จากแนวคิดของมนุษยศาสตร์ และภาษา ซึ่งนำตัวเองไปสู่การศึกษาด้านวัฒนธรรม

และจากสิ่งนี้ ทำให้เกิดการศึกษา และการวิจารณ์ทางวัฒนธรรม การศึกษาหลังยุคอาณานิคม การศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมของคนผิวดำ ทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องเพศที่แปลกแยก(Queer Theory) และการผสมผสานด้านวัฒนธรรมที่นำไปสู่การเป็น วัฒนธรรมนิยม และวัฒนธรรมเชิงวัตถุ การศึกษาเหล่านี้มีความแตกต่างกันเช่นเดียวกับ การมีส่วนที่คล้ายกัน แต่ทั้งหมดนี้ก็ล้วนอาศัยทฤษฎีของตัวเอง ซึ่งเต็มไปด้วยการสร้างอำนาจแห่งอัตลักษณ์ เช่นเดียวกับการเข้าไปมีส่วนรวมในกระบวนการโลกาภิวัฒน์ การผสมผสาน และการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรม

ความสัมพันธ์ทางมานุษยวิทยาที่มีต่อการพัฒนาภูมิปัญญาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผสมปนเปกัน ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้อยู่ยังคงเป็นทั้งสิ่งที่คอยรบกวนใจ และเป็นสิ่งที่คอยเตือนว่า กรอบความคิดใหม่ๆ กำลังมาเยือนพรมแดนของวัฒนธรรมที่น่าตั้งคำถาม(Rosaldo 1994, Turner 1993 ,Harvey 1996) ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ไม่ได้ยืนยันแต่เพียง เรื่องธรรมชาติที่ถูกตรวจสอบ แต่ยังเป็นเรื่องวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดจบ ไม่มีการผูกมัด และคละเคล้าปะปนกัน ถ้าเป็นเช่นนั้น การศึกษาวิชามานุษยวิทยาก็ไม่จำเป็นต้องนิยามในฐานะเป็นวิชาที่มีระเบียบวิธีวิจัยเพื่อที่จะอธิบายวัฒนธรรมของผู้อื่น หรือแบบแผนวัฒนธรรมที่ตายตัว เพราะวัฒนธรรมอื่นก็ไม่มีธรรมเนียมของการนิยามใดๆ นอกจากนั้น วัฒนธรรมที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษา ยังเป็นสิ่งที่ลื่นไหลและเปลี่ยนโฉมหน้า ไปอย่างที่คาดไม่ถึง

มีสิ่งที่เชื่อว่าจริงในทางมานุษยวิทยาประการหนึ่งคือ ความคิดที่ว่ามนุษย์คือผู้ที่สร้างความหมายให้กับชีวิต ความคิดนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาสร้างขึ้นสำหรับอธิบายความเป็นมนุษย์ ความสามารถในการสร้างความหมายของมนุษย์ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น บุคลิกลักษณะที่บ่งชี้ว่าเป็นลักษณะทางสังคม สิ่งนี้คือที่มาของการสร้างทฤษฎีต่างๆ อย่างไรก็ตาม การสร้างทฤษฎีก็มิใช่การวิเคราะห์จากข้อมูลสนามเพื่อหาข้อสรุปมาตรฐานตายตัว เนื่องจากนักมานุษยวิทยา เป็นผู้เก็บข้อมูลมนุษย์ในพื้นที่ต่างๆเพื่อที่จะเข้าใจชีวิตของพวกเขา และสิ่งนี้ก็คือเป้าหมายอย่างหนึ่ง ในการที่จะรู้ว่ามนุษย์มีวิธีการเข้าใจโลกอย่างไร
ทฤษฎีที่อธิบายเรื่อง ตัวตนของมนุษย์ การกระทำของมนุษย์ และความปรารถนาของมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การสร้างทฤษฎีเพื่อที่จะบอกว่ามนุษย์ทุกแห่งในโลกมีความสามารถที่จะสร้างความหมาย และสิ่งนี้คือลักษณะสำคัญของตัวตนมนุษย์ ล้วนวางอยู่บนพื้นฐานของการคาดเดาไว้ก่อน การคาดเดาดังกล่าวนี้เป็นเรื่องเฉพาะที่มีลักษณะเป็นการแสวงหาความจริง (ontology) มากกว่าที่จะเป็นการถกเถียงว่าอะไรคือความจริงและความรู้ (epistemology) กล่าวคือ การหาความจริงในแบบนี้ มีนัยยะของการแสวงหาธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งถูกเชื่อว่าเป็นความจริงสากล ดังนั้น ปัญหาสำหรับนักมานุษยวิทยาก็คือ ผลกระทบที่เกิดจากแนวคิดของpost-modern ซึ่งได้รื้อถอนวิธีวิจัยและอำนาจทั้งหลายด้วยการ ปฏิเสธทฤษฎีกระแสหลัก ซึ่งมักจะอธิบายมนุษย์อย่างแบ่งแยก และเหมารวม ในขณะที่ วิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยายังต้องอาศัยทฤษฎี เพื่อที่จะอธิบายว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่เหมือนกัน

แรงกระตุ้นจากสิ่งนี้ มิใช่การถกเถียงในพรมแดนความรู้สาขาต่างๆ ไม่เฉพาะวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรม มานุษยวิทยากายภาพ มานุษยวิทยาจิตวิทยา มานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ และแขนงอื่นๆที่มีความพยายามในการอธิบายว่า ความจริงเกี่ยวกับมนุษย์คือความสามารถทางชีววิทยา และประวัติศาสตร์ที่วิวัฒนาการมาหลายรุ่น แต่ยังรวมถึง ความคิดในทางการเมือง และมนุษยศาสตร์สาขาอื่นๆที่เชื่อ และทำให้สิ่งนี้เป็นความจริงถาวรต่อเรื่องที่ว่ามนุษย์ ทุกๆแห่ง คือ “มนุษย์” เหมือนกัน ถึงแม้ว่าการอธิบายเช่นนี้ จะมิได้เผยให้เห็น ความจริงเกี่ยวกับมนุษย์นั้นถูกเข้าใจด้วยกรอบความคิดเดียวกันก็ตาม

วิชามานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรมในปัจจุบันมีความสัมพันธ์ กับเรื่องราวทางชีววิทยาในแบบขัดแย้งกันรุนแรง โดยเฉพาะกับสาขาจิตวิทยา และชีววิทยาสังคม ความไม่เชื่อในทฤษฎีสากล ก่อให้เกิดทางตันในทางอำนาจและทางทฤษฎี เช่นเดียวกับ การไม่คิดในแนวทางปรัชญาที่แสวงหาความจริงแท้ จากข้อเขียนในงานทางมานุษยวิทยาในช่วงปัจจุบัน พบว่า เมื่อเราพูด หรือพยายามอธิบายถึงกรอบความคิดทฤษฎีในการแสวงหาความจริงเพื่อที่จะอธิบายว่ามนุษย์สร้างตัวตนได้อย่างไร ระบบสัญลักษณ์ทำงานได้อย่างไร หรือเพื่อที่จะยืนยันว่าตัววัดความคิดที่ซ่อนอยู่ในการกระทำต่างๆของมนุาย์นั้น คือพื้นฐานของความเป็นบุคคล หรือยืนยันว่า ภาษาทำให้มนุษย์พบกับความสัมพันธ์ที่มีต่อ “เวลา”

เราต่างอธิบายกระบวนการต่างๆ และเชื่อว่า สิ่งที่เราคิดเป็นความจริงสากล และสามารถนำไปอธิบายมนุษย์ทุกหนทุกแห่งได้ ในการศึกษาของ Pascal Boyer 1999 ได้ถกเถียงเกี่ยวกับทฤษฎีของการคิด ซึ่งเกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยาโดยตรง Boyer กล่าวว่าการสื่อความเพื่ออธิบายวัฒนธรรม ถูกพูดอย่างกว้างๆ หรือแสวงหาความจริงซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับมนุษย์ทุกหนทุกแห่ง ความสามารถในการคิดนี้ถูกเชื่อว่าเป็นมรดกตกทอดมาสำหรับเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่ มนุษย์มิได้แสดงความคิดนี้โดยตรงเพื่ออธิบายวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีที่ว่าด้วย เรื่องตัวตน นั้นมีอยู่หลายทฤษฎี และกลายเป็นความจริงที่ปรากฏอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ สิ่งที่ Boyer ถกเถียงทำให้เรารู้ว่าทฤษฎีต่างๆ คือสิ่งที่ถูกสร้าง เพื่อรองรับความจริงทั้งหลาย แต่ทฤษฎีเหล่านี้มิใด้เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับความหลากหลายในการอธิบายวัฒนธรรมต่างๆ และมิใช่ทฤษฎีที่มีทั้งส่วนที่หาความจริง และส่วนที่หา มูลเหตุของความจริงนั้น

ตัวอย่างคำถามที่ว่า มนุษย์บนโลกคิดด้วยวิธีเดียวกันหรือไม่ ยังคงต้องการทฤษฎี ที่มีทั้งส่วนที่เป็นสากล และส่วนที่เป็นเรื่องเฉพาะ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องหลอกลวงที่จะพูดว่า มานุษยวิทยาคือการศึกษาที่เชื่อตามทฤษฎีกระแสหลัก (Moore 1997) แต่สิ่งที่นักมานุษยวิทยาศึกษาก็คือ พยายามที่จะเข้าใจส่วนประกอบต่างๆของการสร้างทฤษฎีประเภทนั้นๆ ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสังคม หรือความเป็นตัวตน กับการสร้างความหมายต่างๆ Boyer กล่าวว่าการแสวงหาความจริง คือระบบความคิดที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำหรับสิ่งที่ถูกคาดหวังไว้ว่ามีอยู่จริง ดังนั้น จึงมีการสร้างทฤษฎี ความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นในทางมนุษยวิทยา Boyer ยังชี้ให้เห็นว่า มนุษย์แต่ละคน จะมีความคิดหลายแบบเพื่อการแสดงความหมายต่างๆ แต่มีความคิดไม่กี่แบบเท่านั้นที่จะถูกนำออกมาใช้ร่วมกับความคิดของคนอื่นๆเพื่อสร้างกลุ่มทางสังคม

กล่าวคือ จะมีความคิดบางชุดเท่านั้นที่จะถูกอธิบายว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรม คำถามที่ว่าเราเกี่ยวข้องกับประสบการณ์และการสื่อความหมายกับผู้อื่นได้อย่างไร เป็นคำถามที่รองรับการศึกษาทางมานุษยวิทยา และจิตวิเคราะห์ การศึกษาของ Weiner 1999 ชี้ให้เห็นว่า นักมานุษยวิทยาไม่สามารถเพิกเฉยต่อประเด็นเรื่อง การรับรู้และวิธีคิดเกี่ยวกับตัวตนของมนุษย์ที่มีต่อโลกไปได้ หรือเพิกเฉยต่อเรื่องการพัฒนาความคิดเรื่องตัวตนผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งมาพร้อมกับประสบการณ์และการให้ความหมายของมนุษย์ นักมานุษยวิทยาแนวจิตวิเคราะห์ย้ำว่ามีความคล้ายคลึงกันในความสามารถของมนุษย์ที่จะสร้างระบบสัญลักษณ์ต่างๆ และตัวบุคคลก็มิใช่เป็นผู้อาสาสมัครเพื่อที่จะใช้ความสามารถนี้ กล่าวคือ ทฤษฎีเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์จะต้องให้ความสนใจเรื่องการลื่นไหลไม่หยุดนิ่งของอารมณ์และความคิด

เนื่องจากการวิเคราะห์ทางจิตเป็นทฤษฎีที่เกี่ยวกับการอธิบายว่าอะไรคือมนุษย์ และความเป็นมนุษย์จะเป็นเหตุผลพื้นฐานสำหรับการคาดเดาเพื่อพิสูจน์ความจริงทั้งหลาย ซึ่งการคาดเดาที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดก็คือ ความเชื่อที่ว่า มีความคิดที่ซ่อนอยู่ในใจมนุษย์ทุกคน ในการมองหาความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิเคราะห์และวิชามานุษยวิทยา จะพบคำถามเกี่ยวกับความเป็นสากลเสมอ เช่น ถามว่าปม Oedipus มีอยู่ในมนุษย์ทุกแห่งหรือไม่ อย่างไรก็ตาม Weiner ทำให้นักมานุษยวิทยาตระหนักว่า การศึกษาจิตใจมนุษย์ล้วนวางอยู่บนทฤษฎีบางอย่าง ทฤษฎีซึ่งต้องอาศัยและสัมพันธ์กับเวลาและสถานที่บางอย่าง และเป็นทฤษฎีที่พยายามแสวงหาความจริงตายตัว

ความสัมพันธ์ระหว่าง ส่วนประกอบที่แตกต่างกันของทฤษฎีใดๆ คือสิ่งที่ถูกตัดสินไว้แล้วตั้งแต่อดีตและเป็นเรื่องที่ซับซ้อน สิ่งที่นักมานุษยวิทยาและนักจิตวิเคราะห์มีร่วมกันในปัจจุบันก็คือความคิดที่ว่า ตัวตนของมนุษย์มิใช่สิ่งที่อยู่แยกส่วนจากสิ่งที่มันเกิดขึ้น แต่มุมมองในทางมานุษยวิทยาพบว่า ตัวตนดังกล่าว มิใช่ความจริงสำหรับมนุษย์ในแต่ละแห่ง หากแต่ตัวตนเป็นสิ่งที่แตกต่างหลากหลาย รวมทั้งตัวตนของนักมานุษยวิทยาด้วย นักมานุษยวิทยาในฐานะเป็นตัวตนประเภทหนึ่ง เป็นผู้ถูกขีดพรมแดนให้อยู่ในกรอบ ชุดเดียวกับตัวตนของผู้ที่ถูกศึกษาโดยนักมานุษยวิทยาเอง ซึ่งต่างถูกจับคู่ และถูกประกบให้อยู่ด้วยกันเสมอ
คำถามในทางมานุษยวิทยาเหล่านี้ ล้วนวางอยู่บนการเข้าใจความหมายของพื้นที่ ของตำแหน่ง และความเป็นตัวตน มากกว่าที่จะวางอยู่บน ความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยากับผู้ที่ถูกศึกษา ในฐานะที่แต่ละฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนตัวตนซึ่งกันและกันอย่างเป็นไปเอง ซึ่งความเป็นตัวเรา กับความเป็นอื่น นั้นถูกกีดกันออกด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แปลและเรียบเรียงจาก Henrietta L. Moore (ed) 1999 “Anthropological Theory at the Turn of the Century” in Anthropological Theory Today. Polity Press, Cambridge. Pp.1-23.
ของ http://www.sac.or.th/projects/title/Henrrietta.htm

Wednesday, December 6, 2006

ข้อคิดเห็นจากการเข้าร่วมสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาวัฒนธรรมศึกษา ม.วลัยลักษณ์ ครั้งที่1-2

ข้อคิดเห็นจากการเข้าร่วมสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาวัฒนธรรมศึกษา ม.วลัยลักษณ์ ครั้งที่1-2
******************************

จากการเข้าร่วมในครั้งแรก
ได้มีโอกาสที่ได้รู้จักรุ่นพี่ และรุ่นน้อง ที่เรียนสาขาเดียวกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโอกาสที่ได้พบกันในมหาวิทยาลัยได้พบกันเพียงแค่ผิวเผิน ไม่มีโอกาสพูดคุยกันมากนัก
ข้อสังเกต
1. ยังไม่ทราบเป้าหมายที่ชัดเจนของการรวมกลุ่ม .... หรือจะสร้างเครือข่ายเหมือนกับ หลายๆ กลุ่มหลายๆ องค์กรพยายามที่จะสร้างกัน..... ( หรือจะตั้งชมรมเหล้ายาปลาปิ้ง เพื่อพบปะสังสรรค์เฮฮากัน.........)
2. รูปแบบการพูดคุยเรื่องวิชาการ ( หรือเรื่องที่เป็น..สาระ) ไม่ควรจะนำเสนอในวงเหล้า ควรจะจัดบรรยากาศให้เหมาะสมในการพูดคุยมากกว่า
จากการเข้าร่วมในครั้งที่ 2
ข้อสังเกต
1. สถานที่ให้บรรยากาศดีในการพบปะพูดคุย
2. สมาชิกมาน้อยกว่าครั้งแรก ส่วนหนึ่งอาจจะสาเหตุจากบางคนติดธุระ หรือ ไม่อยากมา เพราะไม่เห็นประโยชน์ ไม่เห็นความสำคัญต่อการรวมกลุ่ม
3.รูปแบบการพูดคุยมีการนำงานวิชาการมาแลกเปลี่ยน...ถกเถียง...วิพากษ์วิจารณ์ซึ่งคิดว่าเป็นรูปแบบที่ดี และได้รับประโยชน์อย่างมาก....ได้สะท้อนมุมมอง ที่ผู้เขียนผลงานบางครั้งไม่ได้มองถึงบางจุดที่สำคัญ ...ข้อบกพร่องของงาน.....จุดเสริมเพิ่มเติมที่จะทำให้งานมีคุณภาพดีขึ้น.....
4. การพูดคุยงานวิชาการยังกระทำในวงเหล้าอยู่ ....( ผู้วิจารณ์ก็กินด้วย ) จึงอยากเสนอให้แบ่งช่วงให้ชัดเจน... เพื่อจะได้มีสติสัมปชัญญะ...ในการพูดคุย..แสดงความคิดเห็นได้ดีขึ้น
5. มีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่มีภาษาเดียวกัน ......ถ้าพูดคุยกับเพื่อน..ญาติ..ที่ไม่ได้เรียนสาขานี้รู้สึกว่ามันไม่มันปาก..
ข้อเสนอแนะ
จากสภาพสังคมในปัจจุบัน พวกเราทุกคนอยู่ในสภาวะของการแข่งขันในทุกๆเรื่อง การเรียน การทำงาน การใช้ชีวิต ( ความรัก ) ทำให้ทุกคนอยู่ในสภาวะที่ต้องเอาตัวรอด ทำให้เกิดสภาวะของความเป็นปัจเจกบุคคลเพิ่มมากขึ้น คนในสังคมปัจจุบันหลุดออกมาจากพันธะผูกพันที่เคยมีกับสถาบันเก่าอื่นๆ เช่น ครอบครัว ชุมชน ศาสนา ฯลฯ แต่คนเราไม่ว่าในยุคสมัยใดก็จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อภารกิจบางอย่าง เป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม และอย่างน้อยก็เพื่อปลอบประโลมใจให้ปัจเจกหรือตัวตนของตนเองได้รับการยอมรับจากคนอื่น....( นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน “ยุคสมัยไม่เชื่ออย่าลบหลู่” )

ผู้เขียนเสนอความคิดที่ว่า “ การที่กลุ่มคนต่างๆจะมาพบปะติดต่อสัมพันธ์ย่อมอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ โดยไม่ได้จำกัดเพียงแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีผลประโยชน์ทางด้านสัญลักษณ์.......ดังเช่น ... การยอมรับการมีตัวตนภายในกลุ่ม .....อยากมีเพื่อคุย. กับคนที่มีคอเดียวกัน..... อยากได้รับความช่วยเหลือในด้านการเรียน....”
ข้อเสนอประการสุดท้ายเพื่อการขยายผลทำให้กลุ่ม ...... วัฒนธรรมวลัย....( ขอเสนอชื่กลุ่ม หรือเครือข่าย )ให้ดำรงอยู่......สร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในสังคม...ควรจะดำเนินการดังนี้
1. การตั้งชื่อกลุ่ม
2. การกำหนดหน้าที่รับผิดชอบงานต่างๆ ( พร้อมตัวแทนที่พร้อมจะปฏิบัติงานแทน)
3. กำหนดเป้าหมายของกลุ่มให้ชัดเจน ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว
4. สอบถามความคิดเห็นในการกำหนดรูปแบบกิจกรรมในแต่ละครั้ง
5. สรุปงานกิจกรรมเผยแพร่ ให้สมาชิกและคนนอกให้รับรู้ ( ประชาสัมพันธ์ )

เอก รุ่น 5ยรสฟ