ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Thursday, October 16, 2008

"หามเริน" กับสิ่งที่หายไป



ผมไม่แน่ใจว่าวัฒนธรรมการ “หามเริน” (หรือ หามเรือน) จะเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภาคใต้ หรือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป แต่เนื่องจากผู้เขียนป็นคนใต้ ก็ขอเขียนถึงวัฒนธรมการ “หามเริน” ในทัศนะของชาวปักษ์ใต้ หากว่ามีที่ใดที่วัฒนธรรมเหมือนหรือใกล้เคียงกัน ก็ขอความกรุณาช่วยกันบอกด้วยนะครับ อย่างน้อยจะได้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน

เมื่อพูดถึง “การหามเริน” อาจจะไม่คุ้นนักสำรับภูมิภาคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาคใต้ การหามเรินเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา อย่างยาวนาน เพิ่งมาแปรเปลี่ยนเมื่อตอนที่มีการสร้างบ้านด้วยการใช้ปูน คอนกรีตที่เป็นแบบวัฒนธรรมสมัยใหม่นี่เอง แต่ก็ยังอาจพอมีหลงเหลือให้เห็นบ้างในบางพื้นที่

การหามเริน หรือ การหามเรือน เป็นวิธีการเคลื่อนย้ายบ้านเรือนด้วยการช่วยกันหามจากที่เก่าไปวางไว้ในที่ใหม่โดยไม่ต้องรื้อบ้านออกเป็นส่วน ๆ

การหามเริน จะทำเฉพาะบ้านเรือนที่สร้างด้วยไม้เท่านั้น เนื่องจากการสร้างบ้านเรือนของชาวภาคใต้ในยุคก่อน มักจะนิยมสร้างบ้านที่มีใต้ถุนสูง ด้วยภูมิปัญญาของรุ่นบรรพบุรุษที่เห็นว่าพื้นที่การปลูกสร้างบ้านเรือนนั้นจะต้องสร้างให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ อันเนื่องมาจากภาคใต้มักจะมีปรากฏการณ์น้ำท่วมขังอยู่เสมอ เพราะภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมเป็นไปในลักษณะ “ฝนแปด แดดสี่” ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งหมายถึงสภาพภูมิอากาศในภาคใต้มีเพียง 2 ฤดู คือฤดูฝน กับฤดูร้อน เท่านั้น และช่วงฤดูฝนจะมีระยะยาวนานกว่าคือประมาณ 8 เดือน ในขณะที่ฤดูร้อนเพียง 4 เดือนเท่านั้น

ด้วยภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมานานก่อให้เกิดภูมิปัญญาในการสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านในภาคใต้ที่นิยมสร้างบ้านยกใต้ถุนสูง เพราะสภาพแวดล้อมที่มีน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีฝนตกหนักก็จะเกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลันที่เรียกว่า “น้ำพะ” ซึ่งการยกพื้นสูงจะทำให้น้ำไหลผ่านได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดความเสียหายจากความแรงของน้ำหรือการท่วมบนพื้นบ้าน นอกจากนั้นยังเป็นการป้องกันกำจัดสัตว์แมลงต่าง ๆ ที่มีชุกชุมในหน้าฝน เช่น มด ตะขาบ แมงป่อง งูต่าง ๆ ที่หนีน้ำมา

นอกจากภูมิปัญญาในการสร้างบ้านยกพื้นใต้ถุนสูงแล้วการทำหลังคาที่ค่อนข้างเตี้ยและลาดชันก็เพื่อป้องกันไม่ให้หลังคาต้านลมจนเกินไป และช่วยให้น้ำฝนที่ตกลงบนหลังคาไหลและสะเด็ดน้ำได้เร็ว ช่วยให้หลังคาไม่รั่วซึมและมีอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น ดังนั้นการสร้างบ้านเรือนของชาวภาคใต้จึงเป็นวิถีชีวิตที่มีการพัฒนาและปรับตัวในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสอดคล้องกลมกลืน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกพื้นที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่เสมอ

การยกบ้านเรือนใต้ถุนสูงส่วนใหญ่จะเป็นการหล่อเสาที่เรียกกันว่า “ตีนเสา” หรือ “บาทเสา” ที่ทำด้วยคอนกรีตเป็นฐานของเสาบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้เสาผุพังง่ายเพราะความชื้น รวมทั้งป้องกันปลวกไม่ให้ขึ้นบ้านโดยสะดวก และจะนิยมสร้างบ้านด้วยไม้จริง คือไม้ที่แข็งและอยู่ได้นาน ส่วนใหญ่เป็นไม้ตะเคียน หรือไม้ตะลุมพอ หรือไม้มะค่า การสร้างบ้านเรือนจะสร้างด้วยไม้โดยมีบาทเสาทำด้วยปูนคอนกรีตเป็นส่วนใหญ่ หลังคามักจะสร้างด้วยหลังคากระเบื้องดินเผาจากสทิ้งพระจ.สงขลา หรือหลังคากระเบื้องปูนที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมขนมแยกปูน ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานนับร้อยปีเลยทีเดียว

การสร้างบ้านเรือนจะสร้างบ้านไม้และตั้งอยู่บนตีนเสา ซึ่งในยุคก่อนไม่มีการยึดด้วยอุปกรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะตัวบ้านมีน้ำหนักมากพอที่จะไม่ทำให้บ้านโค่นหรือปลิวเมื่อลมแรง

อย่างไรก็ตามในช่วงอายุหนึ่ง ๆ ของผู้คนแต่ละรุ่นมักมีการเคลื่อนย้ายที่ตั้งบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเพื่อให้เกิดความสะดวกในการคมนาคมสัญจรขึ้น ซึ่งมากหลังปี 2518 ยุค มรว.คึกฤทธิ์ ที่มีการสร้างถนนเงินผัน ทำให้ผู้คนย้ายบ้านเรือนมาสร้างใหม่ที่ใกล้ถนนมากยิ่งขึ้น แต่ทว่า การย้ายบ้านก็ไม่ได้เป็นแบบปัจจุบันที่ไปสร้างบ้านใหม่ หรือรื้อบ้านเดิมไปสร้างใหม่ แต่ชาวบ้านในยุคนั้นนิยมที่จะย้ายบ้านทั้งหลังโดยการ “หามเริน” ไปในที่จะตั้งบ้านใหม่

การหามเริน คือการย้ายบ้านเดิมไปอยู่ในที่ใหม่ โดยไม่ได้ทำลายโครงสร้างบ้านเดิม การย้ายบ้านในลักษณะนี้จะมีการรื้อฝากั้นบ้าน และพื้นบ้านออก เหลือเพียงหลังคาถ้าเป็นหลังคามุงจากหรือสังกะสี แต่ถ้าเป็นหลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องก็จะมีการรื้อกระเบื้องออกด้วยเพื่อลดน้ำหนักและกันการตกแตกเสียหาย

ขั้นตอนการรื้อและย้ายบ้านส่วนใหญ่จะใช้เวลา 2 – 3 วัน คือมีการวางแผนว่าจะรื้อส่วนไหน และส่วนไหนจะคงไว้อย่างเดิม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรื้อฝาผนังบ้านมากว่าส่วนอื่น ๆ และมีการ”ออกปาก” หรือวานให้เพื่อนฝูงมาช่วยกัน ส่วนใหญ่การย้ายบ้านจะมีผู้เข้าร่วมย้ายบ้านประมาณ 30 คนแล้วแต่ขนาดของตัวบ้านที่เคลื่อนย้าย ส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 ผลัด คือ ผลัดแรกจะยกและหามก่อน แต่ผลัดหลังจะเดินตามไปเพื่อ “ผลัดบ่า” การที่จะบอกว่าการย้ายบ้านจะมี 1 หรือ2 ชุด ขึ้นอยู่กับขนาดของบ้านและระยะทางเป็นสำคัญ ถ้าทางไกลเกินกว่า 1 กิโลเมตร ก็มักจะใช้คน 2 ชุด เปลี่ยนกัน เพื่อไม่ให้เกินกำลังผู้ย้าย บางครั้งถ้าบ้านหลังใหญ่มาก็จะใช้ไม้มี่มีความแข็งแรงสอดเข้าใต้ถุนบ้านและผูกไว้อย่างแน่นหนาให้ปลายทั้งสองด้านยื่นออกมาเพื่อให้ผ่อนน้ำหนักและเพิ่มจำนวนผู้แบกหามได้มากขึ้น

วิธีการย้าย บ้านสูงกว่า 1.00 เมตร เอาบ่ารอง และส่งเสียงพร้อมกันเพื่อย้ายบ้านออกจากฐานเดิมคือตีนเสา และเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ เมื่อเดินกำลังก็จะส่งสัญญาณให้ผลัดใหม่เข้าไปเปลี่ยนบ่า หรือผลัดบ่า แล้วเคลื่อนย้ายต่อไปจนถึงที่ตั้ง ที่มีการเตรียม ตีนเสาเอาไว้แล้ว (โดยการวัดไว้ให้มีขนาดเท่ากันกับของเก่า)

เมื่อเคลื่อนย้ายบ้านไปจนถึงที่ตั้งแล้วก็จะยกบ้านขึ้นไว้เหนือตีนเสาที่เตรียมไว้เป็นอันเสร็จสิ้นการหามเริน ส่วนการมุงหลังคา กั้นฝา ปูพื้นนั้น จะเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป หลังจากนั้นก็จะมีการเลี้ยงดูปูเสื่อกันอย่างเต็มที่มีทั้งข้าวปลาอาหาร เหล้ายาปลาปิ้ง ที่เจ้าของบ้านเตรียมไว้บริการ โดยไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างใด เป็นการช่วยเหลือพึ่งพากันในชุมชนที่นับวันจะมีให้เห็นน้อยลงทุกที พวกเราที่เป็นเด็ก ๆ ก็พลอยอิ่มหนำสำราญไปกับข้าวปลาอาหารและขนมหวาน ส่วนใหญ่จะเป็นลอดช่องเขียว หรือลอดช่องสิงคโปร์ ช่างหวานฉ่ำชื่นใจดีแท้



วัฒนธรรมการหามเรินเริ่มหดหายไปเมื่อมีการสร้างบ้านเรือนแบบแบบสมัยใหม่ที่สร้างด้วยปูนและมักสร้างติดพื้นดินไม่มีการยกใต้ถุนสูง เราจึงมักเห็นในช่วงหน้าฝนที่มีน้ำท่วมเข้าบ้านให้ได้รับความเดือดร้อนทุกปี และยังเป็นการกีดขวางทางน้ำทำให้น้ำไหลผ่านไม่สะดวกส่งผลถึงการท่วมขังนานกว่าปกติอีกด้วย

การสร้างบ้านรูปแบบสมัยใหม่จึงไม่ได้คำถึงถึงความสอดคล้องของสภาพแวดล้อมมากไปกว่าความสะดวกสบายและทันสมัยเท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจในภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าก่อนมากพอว่ามีความสำคัญอย่างไร

แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะเป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอเพื่อรับใช้วิธีคิด วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมแต่ละยุคสมัย แต่การหวนคำถึงถึงวิถีเก่า ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับยุคสมัยก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งแทนการรื้อทิ้งสิ่งเก่า ๆ แล้วรับเอาสิ่งที่เป็นสมัยใหม่เข้ามาโดยสิ้นเชิง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงมิใช่หรือ?...


(เขียนจากข้อมูลที่ยังพอจดจำเมื่อครั้งเยาว์วัย และอ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ และภูมิปัญญาทักษิณ ของ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง เพื่อให้งานเขียนมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น)

ครูตรินห์

10 – 11 – 49

คนขายโลง : ธุรกิจหลังความตาย

"คนทำ(ซื้อ)ไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ(ซื้อ)"

ปริศนาคำทายข้างต้นเป็นปริศนาคำทายที่ชอบนำมาทายกันเล่นๆ ตั้งแต่ครั้งสมัยผู้เขียนเป็นเด็ก ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องก็คือ "โลงศพ" นั่นเอง เพราะคนที่ทำหรือซื้อนั้นเป็นคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ไม่ได้ทำขึ้นหรือซื้อเพื่อใช้เอง แต่เป็นการทำหรือซื้อให้ผู้ตายได้ใช้ใส่ร่างกายที่ไร้ชีวิต ก่อนจะนำไปเผาหรือฝังตามประเพณีความเชื่อของแต่วัฒนธรรมต่อไป โลงศพในอดีตนั้นจะมีลักษณะเรียบง่าย โดยเฉพาะในชนบทแถบลุ่มน้ำปากพนังที่ผู้เขียนเคยใช้ชีวิตอยู่ เมื่อมีใครในหมู่บ้านเสียชีวิตลง ก็จะมีการช่วยเหลือกันในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เรื่องพิธีศพ ทำโลงศพ ช่วยงานศพ จนถึงเผาและเก็บข้าวของที่ใช้ในงานส่งคืนจนหมด จึงถือว่าเสร็จสิ้นภาระหน้าที่ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปจนผู้เขียนเติบใหญ่ขึ้น สิ่งที่เคยเห็นอย่างชินตาในเรื่องการช่วยเหลืองานศพก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องการทำโลงศพ ที่ในปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีเลยในชุมชนที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ หากเมื่อมีใครในชุมชนเสียชีวิต ก็จะเห็นคนมาเสนอขายโลงให้เป็นที่แปลกใจอยู่เสมอ เพราะไม่น่าเชื่อว่าจะมีผู้มาประกอบอาชีพนี้ เพราะความเชื่อ ค่านิยมต่างๆ ที่เคยรับรู้มาว่าโลงเป็นสิ่งอัปมงคล ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรเข้าไปข้องแวะ หรือเอาเข้าไว้ในบ้านโดยเด็ดขาด ดังนั้นเมื่อมีคนขายโลงเป็นธุรกิจ ก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษา เพราะอาชีพคนขายโลงจะว่าไปแล้วก็เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยน่าจะพิสมัยเท่าไหร่นักในสายตาของคนทั่วไป แต่ทำไมมีคนกลุ่มหนึ่งถึงมาประกอบอาชีพขายโลงกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ผู้เขียนจึงอยากจะรู้ว่าธุรกิจการค้าโลงเกิดขึ้นได้อย่างไร และการเกิดขึ้นของธุรกิจร้านขายโลงเหล่านี้ส่งผลต่อสังคมอย่างไร ทั้งนี้เพราะธุรกิจเหล่านี้น่าจะมีความสัมพันธ์อยู่กับพฤติกรรม และความเชื่อของคนในสังคมโดยทั่วไปด้วย

ด้วยความสงสัยใคร่รู้ดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้เข้าไปศึกษาคนขายโลงเพื่อตอบข้อสงสัยที่ผู้เขียนสนใจ โดยเลือกศึกษาร้านขายโลงใหญ่ๆ และตั้งมานานแล้วในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน ๕ ร้าน คือ ร้านอมตะ ร้านอโศก ร้านประสบสุข ร้านสุขคติ และร้านสุขาวดี ร้านทั้งหมดนี้มีสาขาใหญ่ตั้งอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และบางร้านมีสาขาย่อยตามอำเภอต่างๆ อีกหลายสาขา เพื่อศึกษาถึงการเข้าสู่อาชีพคนขายโลงของผู้ประกอบการเหล่านี้ และการดำรงอยู่ของร้านขายโลงที่สัมพันธ์กับพฤติกรรม ความเชื่อของสังคม ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของร้านขายโลง อันจะนำไปสู่ความเข้าใจในธุรกิจประเภทนี้ ทั้งในทางธุรกิจและควมสัมพันธ์กับสังคม

โลงศพ พิธีกรรมและความเชื่อหลังความตาย
โลงศพ (Coffin) มาจากคำภาษากรีก "Kophinos" ซึ่งแปลว่า "ตะกร้า" เนื่องจากชาวซูเมอเรียนโบราณเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ฝังศพคนตายในตะกร้าสานจากกิ่งไม้เล็กๆ ที่ถักร้อยเป็นเปีย ตะกร้าสานซึ่งเป็นต้นแบบของโลงศพนี้ เกิดจากความหวาดกลัวคนตายของคนที่ยังอยู่เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคนในยุโรปตอนเหนือก็มีความกลัวคนตายหรือกลัวผีเช่นเดียวกับคนไทย จึงได้มีมาตรการที่เข้มงวดต่างๆ เพื่อกันคนตายกลับมาหลอกหลอน อาทิ มัดร่างกายและศีรษะติดกับเท้าของคนตาย และเพื่อให้คนตายหาทางกลับบ้านไม่ถูก เส้นทางไปสุสานจะวกไปเวียนมาน่าสับสน ในหลายวัฒนธรรม ญาติพี่น้องจะแบกศพผู้ตายออกจากบ้านทางช่องที่เจาะเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ช่องจะถูกปิดให้เหมือนสภาพเดิมทันทีที่นำศพออกไป แม้ว่าการฝังศพลงในดินลึก ๖ ฟุต น่าจะเป็นการป้องกันที่พอเพียง แต่การบรรจุศพลงในโลงไม้ก่อนฝัง เป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัย (แก่ผู้อยู่) ยิ่งถ้าตอกตะปูฝาโลงด้วยก็จะยิ่งเป็นการดี

โลงศพยุคแรกเริ่มมีตะปูจำนวนมากที่ตอกไว้ นักโบราณคดีลงความเห็นว่า มากเกินกว่าจุดประสงค์ที่จะกันฝาโลงเลื่อนหล่นระหว่างแห่ศพไปยังสุสาน เมื่อหย่อนโลงศพลงในหลุมแล้ว มาตรการขึ้นสุดท้ายคือ การวางก้อนหินใหญ่ลงบนฝาโลงก่อนขุดดินกลบปากหลุม หินก้อนใหญ่นี้เองเป็นต้นกำเนิดของแผ่นหินเหนือหลุมฝังศพ (Tombstone)

ในสมัยต่อมาบรรดาญาติพี่น้องนิยมจารึกข้อความที่แสดงความอาลัยรักต่อผู้ตายลงบนแผ่นหิน และมาเยี่ยมคารวะผู้ตายที่สุสานในโอกาสต่างๆ แต่ก่อนหน้าที่ธรรมเนียมในลักษณะนี้จะมีขึ้น ครอบครัวและบรรดามิตรสหายจะไม่กล้าย่างกรายเข้าไปใกล้หลุมศพผู้ตายเลยแม้แต่น้อย (๑๐๘ ซองคำถาม เล่ม ๓ สำนักพิมพ์ สารคดี, ๒๕๓๗ : ๑๕๘ - ๑๕๙)

ในวัฒนธรรมไทย การใช้โลงเพื่อใส่ศพผู้ตายจะเกิดขึ้นในยุคสมัยใดยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดนัก แต่จากการพูดคุยกับผู้รู้พบว่า ในสมัยก่อนไม่มีการใส่โลงศพแต่ประการใด แต่จะมีการนำศพห่อด้วยเสื่อแล้วนำไปค้างหรือพาดไว้ตามต้นไทร หรือต้นไม้ชนิดอื่นในป่าเปรว (ป่าช้า) เรียกว่า "ทำศพค้าง" เพื่อให้ศพย่อยสลายไปเอง (จากการพูดคุยกับ อ.บุญธรรม เทอดเกียรติชาติ นักวิชาการท้องถิ่นและศิลปินพื้นบ้านนครศรีธรรมราช และ อักขณิช ศรีดารัตน์ มูลนิธิชุมชนไท กรุงเทพฯ ๕ มกราคม ๒๕๔๗, อักขณิช ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในวัฒนธรรมของศาสนาพุทธเดิมก็ไม่มีการใส่โลงศพ แม้แต่ในอินเดีย หรือในทิเบต เขาจะใช้วิธีการหามศพผู้ตายไปไว้บนยอดเขา หรือที่สูงเพื่อให้แร้งกาได้กินซากศพ ดังนั้นวัฒนธรรมการเอาศพใส่โลงจึงน่าจะรับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของศาสนาคริสต์ (ในวัฒนธรรมของฝรั่ง คำว่า "โลงศพ" จะใช้ "หีบศพ" เพราะลักษณะของโลงฝรั่งมีลักษณะฝาเปิดปิดเหมือน "หีบ" ในขณะที่โลงศพของไทยพุทธจะมีลักษณะไม่เหมือนหีบ ทั้งนี้เพราะลักษณะการใช้ที่แตกต่างกัน กล่าวคือในวัฒนธรรมไทยพุทธจะใช้วิธีการเผา ส่วนวัฒนธรรมคริสต์นั้นจะใช้วิธีการฝัง-ผู้เขียน) หรือบางคนก็บอกว่า วัตถุประสงค์ที่ทำศพค้างก็เนื่องจากญาติผู้ตายต้องการเก็บรักษาศพไว้ทำศพแห้งเนื่องจากในช่วงนั้นญาติๆ อาจขาดทุนทรัพย์ หรืออาจตรงกับฤดูทำนาเก็บเกี่ยวข้าวหรืออื่นๆ ไม่มีเวลาจัดการงานศพได้ทันที จึงเก็บศพค้างไว้ทำในฤดูอื่น ที่ว่างจากงานหรือเมื่อมีเงิน (ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ วิถีชีวิตชาวใต้, ๒๕๔๔ หน้า ๒๒๐ - ๒๒๑) ต่อมาเมื่อสังคมมีความเจริญขึ้น การกระทำดังที่กล่าวอาจไม่เหมาะสมกับยุคสมัย ซึ่งจะทำให้ดูอุจาดตาไม่มีอารยธรรม และยังอาจทำให้เกิดการแพร่ของโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย จึงได้มีการนำเอาศพใส่ในสิ่งที่เรียกกันว่าโลงศพ ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบและพิธีกรรมต่างๆ ตามมามากมาย ดังเห็นได้จากพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับโลงศพที่ยังมีอยู่ และได้สืบทอดความเชื่อในการปฏิบัตินั้นมาจนถึงปัจจุบัน

พัฒนาการของโลงศพ
โลงศพที่ใช้อยู่ในหมู่ภาคใต้ที่เป็นชาวไทยพุทธ จะเป็นโลงไม้ที่ต่อขึ้นชั่วคราวเพื่อใช้บรรจุศพ นิยมประดับตกแต่งด้วยกระดาษทอง-เงิน หรือกระดาษสี โดยแกะฉลุเป็นลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม และจะเผาไฟไปพร้อมกับศพ โลงศพที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะมีอยู่ ๓ ชนิด คือ โลงนอน โลงนั่ง และโลงสามส่วน



โลงนอนจะเป็นโลงที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เวลาบรรจุศพจะวางนอนตามความยาวของโลง โลงนั่งฐานเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ทรงสูง ปากผายเล็กน้อย เวลาบรรจุศพจะจัดให้ศพนั่งทรงเข่าพนมมือขึ้น ส่วนโลงสามส่วนจะมีแบบผสมระหว่างโลงนอนกับโลงนั่ง คือฐานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนความยาวน้อยกว่าโลงนอน ทรงเตี้ยกว่าโลงนั่ง ปากผาย เวลาบรรจุศพจะวางครึ่งนั่งครึ่งนอน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พิงเอก" (เอกเขนก) โลงทั้ง ๓ ชนิดนี้ โลงนอนนิยมใช้แพร่หลายมากที่สุด ส่วนโลงนั่งและโลงสามส่วนจะมีใช้เฉพาะบางท้องที่ เช่น อำเภอนาบอน อำเภอทุ่งสง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และในจังหวัดกระบี่ เป็นต้น นิยมใช้กับผู้สูงอายุและผู้มีฐานะดีเท่านั้น โลงศพทั้ง ๓ ชนิดนี้ จะมีองค์ประกอบหลัก ๓ ส่วนเหมือนกันคือ ตัวโลง (บางพื้นที่เรียกว่า "หน่วยไม้") ฐาน และยอด (อุดม หนูทอง "โลงศพ" สารานุกรมวัฒนธรรมไทย : ภาคใต้ เล่ม ๑๔ หน้า ๗๐๓๖) อย่างไรก็ตามในบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะโลงศพแบบนอน ที่เป็นที่แพร่หลายมากที่สุดและมีจำหน่าย/ให้เช่าอยู่ทั่วไป ส่วนโลงนั่งและโลงสามส่วนไม่พบในร้านจำหน่ายโลงศพ และไม่เคยมีการสั่งมาจำหน่ายด้วย

ตัวโลงหรือหน่วยไม้ของโลงนอนจะมีขนาดประมาณ ๑๗๕ x ๙๐ x ๕๐ เซนติเมตร ในอดีตจะทำด้วยไม้กระดานแผ่น ไม้ที่ดีที่สุดคือไม้สะท้อน เพราะไหม้ไฟช้า ส่วนไม้ที่ห้ามนำมาทำโลงศพคือไม้ตะเคียน ในการต่อโลงที่เรียกกันว่า "เข้าหน่วยไม้" นั้นจะต้องประกอบกันให้แน่นสนิท โดยใช้โครงไม้ภายในและตอกไม้กระดานประกบนอก (เพิ่งอ้าง หน้า ๗๐๓๗) ข้างในโลงศพจะใช้ผ้ายางบุโดยรอบ เพื่อป้องกันกลิ่นและน้ำจากน้ำแข็งหรือจากศพไหลออกมา เพราะในสมัยก่อนโดยเฉพาะในชนบทนั้น การรักษาศพโดยใช้วิธีการฉีดยาศพยังไม่แพร่หลายมากนัก ส่วนใหญ่จะใช้น้ำแข็งก้อนใหญ่ใส่ลงไปในโลงศพ เพื่อช่วยรักษาสภาพศพไม่ให้เน่าเปื่อย หรือบางพื้นที่อาจทำด้วยไม้กระดานแผ่นแล้วใช้ชันยารอยต่อต่างๆ ไม่ให้อากาศเข้าไปได้ (ชันชนิดเดียวกับที่ใช้ยาเรือ) และอาจมีการใส่น้ำผึ้งลงไปทางปากโดยใช้ยอดของกล้วยเป็นกรวยกรอกลงไป เพื่อรักษามิให้ศพเน่าเร็วอีกด้วย (สืบพงศ์ ธรรมชาติ วัฒนธรรมในวรรณกรรมมุขปาฐะพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ๒๕๔๓. หน้า ๑๖) เพื่อไม่ให้ศพที่ใส่ในโลงเน่าง่าย ซึ่งการทำโลงแบบนี้ศพจะไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องใช้น้ำแข็งใดๆ ทั้งสิ้น ศพก็จะอยู่ได้โดยไม่เน่าเปื่อย

ในส่วนของฐานโลงนั้นนิยมทำใน ๒ รูปแบบ คือ แบบหนึ่งเรียกว่า "ตีนอยอง" ลักษณะคล้ายพาน คือฐานคว่ำผายลง ปากผายขึ้น แล้วมีกระดานแผ่นกว้างราว ๑๕ เซนติเมตร ตีตรงขึ้นไปทั้งสี่ด้าน เรียกว่า "พนัก" ปูกระดานด้านบนเรียบเสมอ มีวาง ๔ มุม มุมละขาสำหรับวางหน่วยไม้ สำหรับส่วนกลางฐานที่คอดเข้าจะตีด้วยแผ่นกระดานเรียบในแนวตรงเรียกว่า "เอว" รอบเอวทั้งสี่ด้านตีทาบด้วยไม้รูป ๓ เหลี่ยม เรียกว่า "อกไก่" ส่วนฐานทั้งหมดนี้สูงประมาณ ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร ส่วนกว้างยาวขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยไม้ ส่วนฐานอีกแบบหนึ่งเรียกว่า "เครื่องชั้น" ทำเป็นชั้นลดขึ้นไปตามลำดับ มีตั้งแต่ ๓ - ๕ ชั้น ทุกชั้นตีไม้กระดานติดกันทั้งหมด ชั้นล่างสุดใช้ไม้กว้างประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ชั้นถัดๆ ขึ้นมาลดความกว้างลงเรื่อยๆ พองาม



ส่วนของยอดโลงนั้นนิยมทำเป็น ๓ ยอด โดยให้ยอดกลางสูงกว่ายอดข้างราว ๒๐ เซนติเมตร แต่ละยอดทำฐานยอดเป็นซุ้มสี่เหลี่ยม ยอดแหลมวางบนฝาโลงเรียกว่า "ยอดเหม" ส่วนนี้อาจทำลดชั้นก็ได้ ซุ้มนี้บางแห่งทำด้วยไม้กระดาน แต่บางแห่งทำด้วยทางระกำ ความสูงของซุ้มประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ทำด้วยไม้ที่มีน้ำหนักเบา เช่น ไม้นุ่น ไม้ทองหลาง เป็นต้น และทำไว้เป็นการถาวรไม่เผา (อ้างแล้ว หน้า ๗๐๓๗) ในปัจจุบันการทำยอดโลงจะทำกันเฉพาะผู้ที่มีฐานะหรือคนในระดับสูงเท่านั้น ส่วนคนทั่วไปจะไม่ค่อยนิยมทำยอดโลง แต่จะประดับด้วยดอกไม้มากกว่า

พัฒนาการของโลงนั้นจะเริ่มจากการทำโลงด้วยไม้กระดานแผ่นที่ประกอบขึ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งการทำโลงแบบนี้ต้องใช้ช่างที่มีฝีมือชำนาญ และใช้เวลาค่อนข้างมากและยุ่งยากพอสมควร แต่ก็มีข้อดีเพราะว่าในสมัยก่อนยังมีการเผาศพโดยใช้เชิงตะกอน เพราะฉะนั้นการใช้ไม้แผ่นจึงมีข้อดีที่ไหม้ไฟช้า ทำให้ศพที่เผาไม่อุจาดตาเนื่องจากเผาไหม้ไปพร้อมๆ กับโลงศพนั่นเอง ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาที่เผาศพจากเชิงตะกอนมาเป็นเตาเผาศพมากขึ้น ก็มีการพัฒนามาใช้โลงศพที่ทำด้วยไม้อัด ซึ่งทำได้ง่ายและราคาไม่แพง และติดไฟได้ง่าย ประกอบกับไม้กระดานแผ่นค่อนข้างหายาก มีราคาแพง และขั้นตอนการทำยุ่งยาก ทำให้โลงศพจากไม้อัดเป็นที่นิยมมากขึ้น เป็นผลให้โลงไม้กระดานแผ่นค่อยๆ หมดไป

ในส่วนของการตกแต่งโลงศพนั้น ในระยะแรกจะนิยมใช้การประดับตกแต่งด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง โดยการนำมาแกะฉลุเป็นกนกลายต่างๆ เรียกว่า "ดาษขุด" หรือ "กระดาษขุด" โดยช่างฝีมือ โดยทั่วไปการประดับตกแต่งมักอยู่ในแนวเดียวกันคือส่วนฐาน ส่วนตัวโลงจะติดผนังพื้นโลงทั้งสี่ด้านด้วยกระดาษขาวหม่นธรรมดาก่อน แล้วจึงปิดกระดาษขุดทับ (เพิ่งอ้าง หน้า ๗๐๓๘.) ให้สวยงาม

โลงศพดังกล่าวจะมีปรากฏอยู่ทั่วไปในภาคใต้ จะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างก็เพียงชนิดของไม้หรือวัสดุที่ใช้ทำ และลักษณะของการประดับประดาต่างๆ กล่าวคือ ถ้าเป็นคนยากจนหรือคนทั่วไปก็มักจะทำแต่หน่วยไม้หรือตัวโลง แล้วปิดกระดาษทองที่มีลายในตัว หรืออาจจะใช้แผ่นโฟมมาวาดและแกะเป็นรูปลายไทย เขียนชื่อ - สกุล อายุ วัน เดือน ปี ที่เกิดและตาย ไม่มีฐานและยอดประกอบ แต่ถ้าหากผู้ตายเป็นผู้อาวุโส หรือมีฐานะ โลงศพที่ทำขึ้นก็จะมีความวิจิตรพิสดารและงดงามมาก ชาวบ้านมักเรียกโลงประเภทนี้ว่า "โลงทอง" ซึ่งแสดงถึงความพิเศษของโลงที่ใช้ว่าโลงชนิดนี้มักจะใช้กับคนพิเศษเท่านั้น

ต่อมามีการพัฒนามาวัสดุที่ใช้ จากไม้อัดธรรมดามาใช้ไม้ประเภทไม้คีรีบอร์ด หรือไม้อัดโฟเมก้า มาใช้แทนไม้อัดธรรมดามากขึ้น เพราะมีความสวยงามและสามารถตกแต่งได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาตกแต่งลวดลายต่างๆ ที่ประดับประดาโลงให้มีความสวยงามมากขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น การตกแต่งโดยการติดด้วยรูปเทพพนม นางฟ้า กนกลายไทย ที่ปั้นเป็นลายนูนต่ำสำเร็จรูป และต่อมาก็มีการนำแผ่นสติกเกอร์ลวดลายต่างๆ หลากหลายสีมาใช้โดยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสีขาว - สีดำ - สีเงิน - สีทอง อย่างในอดีตเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโดยการนำเอาพรมลายต่างๆ นำมาปิดรอบตัวโลงอีกเป็นการตกแต่งอีกด้วย ( ผู้เขียนเห็นโลงที่ทำลายด้วยพรมเป็นรูปคล้ายๆ มัสยิด จึงถามเจ้าของร้านว่าเป็นโลงของมุสลิมหรือเปล่า แต่เจ้าของร้านบอกว่าไม่ใช่ แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมเป็นรูปอย่างนั้นเพราะเป็นพรมที่ผู้นำมาขายบอกว่าเป็นพรมที่มาจากเกาหลี) ซึ่งพรมที่นำมาปิดโลงนี้จะถูกตัดเป็นส่วนๆ มีขนาดเท่ากับอาสนะของพระ เมื่อเสร็จพิธืศพแล้ว ก่อนจะเผาญาติๆ ผู้ตายก็จะดึงเอาอาสนะออกจากตัวโลงศพ เพื่อนำเอาไปถวายพระต่อไป แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของโลงที่มีการพัฒนาต่อ กันมา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของการบริโภคของสังคม

อย่างไรก็ตามการพัฒนารูปแบบของโลงที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดในนครศรีธรรมราช คือมีการนำเอาโลงปรับอากาศหรือโลงแอร์เข้ามาใช้ โดยการสั่งตรงมาจากกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมานี่เอง (นับจากที่มีโลงศพประเภทนี้เข้ามาใช้อย่างแพร่หลายในนครศรีธรรมราช) โลงแอร์เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว เพราะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ทั้งในรูปแบบของความรู้สึกทันสมัย ความสะดวกในการใช้ ราคาไม่แพง และไม่จำเป็นที่จะต้องฉีดยาศพ ฯ ทำให้ร้านขายโลงแต่ละร้านมีการนำโลงแอร์มาให้บริการกันมากขึ้น ในส่วนของการประดับตกแต่งนั้น นอกจากจะมีการประดับตกแต่งลวดลายภายนอกให้สวยงามแล้ว ภายในโลงศพทั้งแบบธรรมดาและแบบโลงแอร์นั้น ก็ยังมีการตกแต่งให้สวยงามอีกด้วย โดยการใช้ผ้าสีต่างๆ บุและระบายภายในโลงให้มีความสวยงาม นอกจากนั้นยังมีหมอน/เสื่อ ที่จัดไว้อย่างกลมกลืน ดังที่ผู้ประกอบการบอกว่าในเมื่อโลงเป็นเหมือนบ้านหลังสุดท้ายของผู้ตาย ก็ควรจะต้องทำให้สวยที่สุดด้วย เพื่อให้ญาติพี่น้องของผู้ตายพอใจที่จะทำให้ผู้ตายได้มีความสุขสบายเป็นครั้งสุดท้าย

โลงศพ : พิธีกรรมกับความเชื่อ
เนื่องจากพิธีกรรมแห่งการตายของมนุษย์นั้นถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องบุญ กรรม วิญญาณ ตลอดจนชีวิตหลังความตายในโลกนี้และโลกหน้า ดังนั้นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการตายจึงอุดมไปด้วยพิธีกรรมความเชื่อมากมาย การสร้างโลงศพก็เช่นเดียวกัน ในอดีตเราจะพบว่าการสร้างโลงศพ และการนำมาใช้นั้นจะต้องมีวิธีการสร้างตลอดจนพิธีกรรม ความเชื่อ ต่างๆ ดำรงอยู่มากมาย กล่าวคือ โลงศพในยุคก่อนเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก่อนจะนำมาใช้จะต้องมีการทำพิธีเบิกโลงก่อน ซึ่งจะมีพิธีกรรมค่อนข้างมาก โดยในโลงจะต้องทำไม้รอดขวาง ๔ อัน เฝือก (ฟาก) ไม้ไผ่ ๗ ซี่ วางก้นโลง เวลากรองถักเป็น ๓ เปลาะ ห้ามกรองเชือกสลับไปมา ไม้ปากกา ๘ อันเสียบปากโลง เทียน ๘ เล่มติดปากโลงที่ระหว่างไม้ปากกาทั้ง ๘ ช่อง ขันน้ำมนต์ ๑ ขัน แล้วหมอก็จะทำพิธีกรรม ซึ่งในความเชื่อเหล่านี้มันมีปริศนาธรรมแฝงอยู่ว่า ไม้รอด ๔ อัน หมายถึงการข้ามห้วงทั้ง ๔ คือ กาม ภพ ทิฐิ อวิชชา นัยหนึ่งเรียกว่า "ไม้ข้ามเล" หมายถึง โอฆะทั้ง ๔ ที่ขวางกั้นเส้นทางพระนิพพาน ส่วนเฝือกหรือฟาก ๗ ซี่ วางบนไม้รอดถัก ๓ เปลาะนั้น มีปริศนาธรรมว่า ฟาก ๗ ซี่ หมายถึงพระธรรม ๗ คัมภีร์ และเชือก ๓ เปลาะ หมายถึง พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นเครื่องช่วยข้ามพ้นห้วงทั้ง ๔ ไปได้ ที่มีการห้ามกรองเชือกกลับไปกลับมา เพราะไม่ต้องการให้ผู้ตายมาเกี่ยวพันกับโลกอีกนั่นเอง (กลิ่น คงเหมือนเพชร "ปริศนาความเชื่อเบื้องหลังความตาย" ใน วารสารแลใต้ พ.ย.๒๕๔๒ หน้า ๒๐.)


การแห่ศพไปเผาที่อำเภอร่อนพิบูลย์ นครศรีธรรมราช

ในปัจจุบันแม้ว่าพิธีกรรมการเบิกโลงจะแทบสูญหายไปหมดสิ้นแล้ว แต่ความเชื่อในเรื่องการปูฟาก ๗ ซี่ที่ใต้โลงศพก็ยังมีอยู่ ร้านขายโลงบางร้านบอกว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่สั่งโลงมาจากกรุงเทพและไม่ได้ใส่ไม้ ๗ ซี่ไว้ ผู้มาซื้อโลงก็ไม่ซื้อ เลยต้องสั่งให้ใส่ไม้ ๗ ซี่ไว้ด้วย ซึ่งบางแห่งแหล่งผลิตโลงศพไม่มีไม้ไผ่ ก็อาจใช้ไม้ระแนงแทนก็ได้ แต่ไม้ที่ใช้จะต้องเป็นไม้ยาวท่อนเดียวไม่มีการต่อ เพราะเชื่อว่าการต่อไม้ก็หมายถึงจะมีการตายต่อๆ กัน ท่านผู้รู้บางท่านกล่าวว่า ที่เป็นไม้ไผ่ ๗ ซี่ ก็เพราะคนเมื่อตายนั้นได้นอนแค่ไม้ไผ่ ๗ ซี่ ไม่ได้มากไปกว่านั้น หรือดังที่คนโบราณสอนให้เปรียบเทียบ ให้รู้จักปลงอนิจจังว่า ตายไปแล้วเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้นอกจากไม้ฟาก ๗ ซี่ ดังที่เพลงบอกปานบอดก็เคยขับเพลงบอกไว้ว่า "...มีแต่ฟาก ๗ ซี่ สาดผืนหมอนหน่วย ติดไปด้วยกามัย (กาย) น่าใจหาย..." (ปานบอด คือศิลปินพื้นบ้านเพลงบอก ชาวลุ่มน้ำปากพนังผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต อ้างใน ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์,อ้างแล้ว หน้า ๒๕๓.) ซึ่งเป็นการเตือนว่าคนเราเมื่ออยู่ก็อย่าละโมบโลภมาก เมื่อตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ แต่บางท่านบอกว่าเป็นกุศโลบายที่ทำเป็นช่องระบายน้ำหนอง น้ำเหลือง หรือระบายอากาศจากศพนั่นเอง

นอกจากนั้นในสมัยก่อนยังมีการวางบันไดจำลองเล็กๆ บนโลงศพอีกด้วย โดยมีการใช้ไม้ไผ่ซีกเล็กๆ กว้างยาวเท่ากับปากหีบศพวางไว้บนหลังหีบศพ บางแห่งทำเป็น ๓ ขั้น บางแห่งทำ ๔ ขั้น บันได ๓ ขั้นหมายถึงภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ส่วนบันได ๔ ขั้น หมายถึง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือบันไดที่ทุกคนจะต้องเดินไปตามลำดับ บ้างก็ว่าหมายถึง กามภพ รูปภพ อรูปภพ และนิพพาน (กลิ่น คงเหมือนเพชร, อ้างแล้ว หน้า ๒๑ - ๒๒.)

จะเห็นได้ว่าความเชื่อเกี่ยวกับโลงศพนั้นมีความเชื่ออยู่หลายอย่าง โดยไม่นับรวมความเชื่อเรื่องพิธีกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตาย อย่างไรก็ตามความเชื่อเหล่านี้ก็ค่อยๆ ลบเลือนไปตามกาลเวลา แม้จะยังมีอยู่บ้างแต่ก็เป็นไปตามประเพณี หรือสิ่งที่ปฏิบัติตามต่อๆ กันมาโดยไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งถึงความหมายที่ต้องการสื่อแต่อย่างใด แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดการปรับเปลี่ยนความเชื่อใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับโลงศพเข้ามาสู่สังคมปัจจุบันมากขึ้นเช่นกัน ดังเช่นการปรับเปลี่ยนจากความเชื่อในเรื่องของการสั่งสอนธรรมะตามปริศนาธรรม ที่คนรุ่นก่อนได้วางเป็นอุบายไว้ในพิธีกรรมต่างๆ มาเป็นความเชื่อเกี่ยวกับตัวคนมากยิ่งขึ้น ทั้งคนเป็นที่ยังอยู่ และคนที่ตายไปแล้ว เช่น ความเชื่อเรื่องการทำบุญ โดยการบริจาคโลงศพให้กับวัดหรือมูลนิธิต่างๆ นั้นเป็นการสะเดาะเคราะห์และทำบุญต่ออายุให้กับผู้บริจาค ซึ่งเป็นผลให้มีคนบริจาคโลงศพมากขึ้น บางคนจะบริจาคโลงศพเป็นประจำทุกปี โดยการบริจาคเป็นเงิน ใบละ ๓๐๐ - ๕๐๐ บาท (เป็นโลงใบใน) มีบ้างที่มีการบริจาคเป็นโลงแอร์ให้กับวัดนำไปใช้บริการงานศพต่างๆ

นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการใช้โลงในกลุ่มญาติผู้ตายบางส่วนว่า โลงศพเปรียบเสมือนบ้านหลังสุดท้ายของผู้ตาย การใช้โลงไม้ที่เผาไปพร้อมกับศพผู้ตายเลย จะทำให้เขามีที่อยู่ของเขาเองในสัมปรายภพ แต่ถ้าใช้โลงแอร์ซึ่งเช่าเขามา ผู้ตายจะต้องถูกเช่าที่อยู่ในสัมปรายภพด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่า โลงแอร์จะนิยมใช้ในกลุ่มที่มีฐานะปานกลางถึงต่ำ เพราะมีราคาไม่แพงนักคือราคาประมาณ ๕,๐๐๐ บาท ส่วนผู้ที่มีฐานะทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมจะนิยมใช้โลงไม้ ที่มีการตกแต่งสวยงาม มีราคาถึงใบละประมาณกว่าหมื่นบาทเลยทีเดียว ซึ่งในการซื้อโลงส่วนใหญ่จะไม่มีการต่อรองราคา โดยเฉพาะในกลุ่มคนจีน เพราะเขาถือว่าการต่อรองราคาจะเป็นการทำให้มีญาติพี่น้องตายต่อๆ กันไป และบางคนยังให้เงินเพิ่มจากราคาเดิมอีก ๙ บาท หรือ ๑๙ บาท ด้วยความเชื่อว่าให้ผู้ตายสามารถนำไปใช้ได้ และเป็นการต่ออายุของผู้ที่ยังอยู่อีกด้วย (ในโลงศพที่ลูกค้ามาใช้บริการนั้น ทางร้านจะมีหมอน ๑ ใบ เสื่อ ๑ ผืน และกรวยมือสำหรับผู้ตายอันประกอบด้วยดอกไม้ ธูปเทียนและหมากพลู ๑ ชุด ให้ไปพร้อมกับโลงศพด้วย นัยว่าให้ผู้ตายนำไปบูชากราบไหว้พระจุฬามณี อันเป็นพระธาตุเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "เจดีย์สวรรค์") ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า จากเดิมที่เคยเป็นพิธีกรรมความเชื่อ ตอบสนองต่อการสร้างปทัสฐานของสังคมโดยรวม กลับแปรเปลี่ยนมาเป็นพิธีกรรมความเชื่อ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของปัจเจกบุคคลมากขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการร้านขายโลง และผู้จัดทำโลงในปัจจุบันที่ศึกษานั้น ไม่พบว่ามีพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ทั้งนี้เพราะการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบการไม่ได้เข้ามาโดยมีฐานคิดของความเชื่อแต่อย่างใด แต่เข้ามาสู่ธุรกิจโดยการมองเห็นช่องทางการค้า และเห็นว่าการประกอบอาชีพการขายโลงก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ โดยทั่วไป และเขาถือว่าโลงที่ทำมาใช้เป็นโลงที่ทำใหม่และใช้ไม้ใหม่ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรรมแต่อย่างใด ไม่เหมือนในอดีตที่ใช้ไม้โลงเดิมที่เคยใช้แล้ว และไม่ได้เผาไปพร้อมกับผู้ตาย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นฝาโลงเก็บไว้ที่วัดมาทำโลงใหม่ ซึ่งไม้โลงที่เหลือจากการเผาเหล่านี้จะเป็นทรัพย์สมบัติของส่วนรวม ที่ชุมชนจะได้นำมาใช้ประโยชน์ต่อไป แต่ในปัจจุบันการเกิดขึ้นของธุรกิจการขายโลงที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อ ทั้งในเรื่องตัวโลงศพเองและอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ความเชื่อที่เกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับโลงศพจึงค่อยๆ ลดหายลงไป โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ค้าขายกลุ่มนี้ ที่ไม่พบพิธีกรรมความเชื่อใดๆ เกี่ยวกับโลงศพที่จำหน่าย แม้จะมีการคงรูปแบบบางประการของโลงศพแบบดั้งเดิมไว้บ้าง ก็เป็นเพียงแค่การตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคในรูปแบบของการตลาดเท่านั้น จะเห็นได้ว่าในระบบธุรกิจการค้าประเภทนี้ จะแยกขาดออกจากรูปแบบความเชื่อของสังคมซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าไม่ได้ แม้จะไม่ได้มีความเชื่ออยู่ในผู้ประกอบการธุรกิจกีตาม

...................................(หายไปบางส่วน)
...............................
โลงศพ - คนขายโลง : บทบาทฐานะและความสัมพันธ์ในสังคม
การทำโลงในอดีตนั้น เราจะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ของชุมชนที่เกิดขึ้น นั่นคือ เมื่อมีคนในชุมชนเสียชีวิตลง ก็จะมีการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านในชุมชนตามความสามารถที่มี เช่น ใครที่เป็นช่างไม้ก็จะมาช่วยกันทำโลงศพ ใครที่มีฝีมือเรื่องการวาด การขีด การเขียน ก็จะมาช่วยแกะสลักลาย เขียนชื่อสกุล และวันเดือนปีผู้ตาย เป็นต้น ดังนั้นการทำโลงศพในอดีตจึงทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นการทำโลงให้สมบูรณ์บางแห่ง ต้องมีพิธีเปิดปากโลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้รู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัปเหร่อประจำชุมชนนั้นๆ มาช่วยทำพิธีให้ และจะช่วยดูและจัดการงานศพ ตั้งแต่เริ่มต้นจนเผาเสร็จเรียบร้อย แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้คนต้องเร่งรีบกับการทำมาหากิน และการดำเนินชีวิต ดังนั้นเวลาในการมาร่วมพบปะสังสันท์ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเริ่มมีน้อยลง ประกอบกับเริ่มมีกิจการการค้าขายโลงมาอำนวยความสะดวกให้ด้วย จึงทำให้การออกปาก (ไหว้วาน) มาช่วยทำโลงศพน้อยลง ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับโลง เช่น การเบิกโลง การทำบันไดโลง เหล่านี้ จึงลดน้อยลงด้วย การเกิดขึ้นของร้านขายโลงจึงเป็นผลให้สัปเหร่อมืออาชีพเริ่มลดน้อยถอยลง ตามบทบาทหน้าที่ที่มีน้อยลงเช่นกัน (ข้อสังเกตของ อักขณิช ศรีดารัตน์, อดีตพระมหาที่เห็นความเป็นไปของการทำศพในเพศบรรพชิตถึง ๑๘ ปี) สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งในธุรกิจการขายโลงก็คือ ธุรกิจขายโลง เป็นธุรกิจที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายมีความแตกต่างกับธุรกิจชนิดอื่น เพราะธุรกิจการขายโลงนั้นส่วนใหญ่ลูกค้าจะมาตามเส้นสายของญาติ หรือคนที่เคยคุ้นเคย ผู้ที่เคยใช้บริการร้านนั้นๆ เป็นต้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อไม่ได้เป็นไปในรูปของผู้ขายกับลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่มีมิติของความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติหรือเพื่อนบ้านอีกด้วย ทำให้ธุรกิจประเภทนี้มีความแตกต่างในการบริการการขายแตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่น ที่น่าสนใจก็คือการที่ผู้ขาย โดยเฉพาะผู้ขายที่เป็นนายหน้า จะมีการสร้างสัมพันธ์กับว่าที่ลูกค้าได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ เมื่อรู้ว่ามีผู้ป่วยไข้หนัก เขาก็จะเข้าไปสืบเสาะหาญาติแล้วพยายามตีสนิท แสดงความเป็นห่วงเป็นใย และให้ความช่วยเหลือ บริการต่างๆ เสมือนญาติคนหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ขายต้องวิเคราะห์คนไปด้วยว่าในกลุ่มญาติๆ ผู้ป่วยหนักเหล่านั้นใครเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุด ก็จะพยายามเข้าไปตีสนิทกับคนๆ นั้น มากกว่าญาติคนอื่นๆ ดังนั้น การเข้าไปเสนอขายโลงกับญาติผู้ป่วยหนักจึงไม่ใช่การเข้าไปทื่อๆ แต่ต้องใช้ศิลปะการพูดและจิตวิทยาอย่างสูง มีการเข้าไปตีสนิทกันหลายวัน เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต เขาก็จะเข้าไปให้คำแนะนำช่วยเหลือที่ไม่เกินเลยเส้นแห่งศีลธรรม ในการรุกเร้าเอาประโยชน์ในท่ามกลางความเศร้าโศกของญาติๆ แต่เขาจะเข้าไปในภาวะที่ญาติกำลังสับสน วุ่นวาย และโศกเศร้าจากการเสียชีวิต เขาก็จะเข้าไปปลอบประโลมด้วยความห่วงใย หลังจากตีสนิทจนรู้สึกคุ้นเคยมาหลายวัน เช่น "จะกลับกันยังไง... มีรถบรรทุกศพกลับหรือยัง.... ถ้าไม่มีจะช่วยติดต่อรถของคนรู้จักให้ราคาไม่แพง..." หรือ "ไม่ทราบว่าจะเอาโลงศพไปด้วยเลยหรือเปล่า ถ้าจะเอา จะช่วยติดต่อให้ได้ ส่วนเรื่องเงินไม่ต้องห่วง เอาไปก่อนค่อยมาจ่ายทีหลังก็ได้ คนขายรู้จักกันดี..." หรือ "มีโลงใส่แล้วหรือยัง... เดี๋ยวจะช่วยติดต่อคนรู้จักให้ราคาไม่แพง... เอาไปก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินหลังเงินหลังเสร็จงาน..." "....ฯลฯ...."

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นและเห็นอย่างชินตา กับผู้ที่อยู่บริเวณที่พักญาติผู้ป่วย I.C.U และตึกอายุรกรรม เมื่อผู้เสนอขายเหล่านี้คุ้นเคยกับญาติผู้ป่วยอื่นๆ หรือแม้แต่ผู้ป่วยเองที่ป่วยไม่หนักมากนัก ก็จะรู้ว่าเขาเป็นผู้เสนอขายโลง ดังนั้น เมื่อมีผู้ป่วยหนักและกำลังจะเสียชีวิต หรือเสียชีวิตแล้ว ญาติผู้ป่วย หรือผู้ป่วยที่สนิทสนมคุ้นเคยกันก็จะบอกให้ผู้เสนอขายโลงไปติดต่อ ซึ่งนับเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความเอื้ออาทรมากกว่าผลประโยชน์ล้วนๆ จึงทำให้ผู้เสนอขายโลง หรือนายหน้าเหล่านี้ประสบผลสำเร็จในการเสนอขายโลงในที่สุด ถึงแม้ว่าร้านใหญ่ๆ จะไม่อยากให้มีนายหน้าผู้เสนอขายเหล่านี้ เข้าไป "ค้นหาความตาย" ในโรงพยาบาล แต่อยากให้ลูกค้ามีอิสระในการเลือกตามความพอใจของลูกค้า ในขณะที่ทางโรงพยาบาลเอง จะพยายามหาวิธีการที่จะกีดกันนายหน้าเหล่านี้ก็ตาม แต่เขาเหล่านี้ก็ยังสามารถเล็ดลอดเข้าไปเสนอขายสินค้าหลังความตายเขาได้อยู่เสมอ

ความสัมพันธ์อีกประการที่น่าสนใจของผู้ประกอบการร้านขายโลงกับลูกค้าก็คือ การซื้อขายโดยให้เอาไปใช้ก่อน แล้วค่อยจ่ายทีหลังเมื่อเสร็จงาน หรือบางครั้งได้ราคาไม่ครบตามที่เคยตกลงกันไว้ ก็จะถือว่าเป็นการทำบุญ ไม่ได้มีการคาดคั้นมากมายหรือตามเก็บ/ฟ้องร้องแต่ประการใด เพราะผู้ประกอบธุรกิจชนิดนี้ถือว่า การได้มาประกอบอาชีพนี้เป็นการประกอบอาชีพที่ได้บุญ ที่ได้ช่วยคนอื่นอีกด้วย อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบการจะไปร่วมงานศพที่เช่าหรือซื้อโลงศพของร้านตัวเองเท่าที่โอกาสจะอำนวย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางการค้าโดยธรรมชาติอีกด้วย กล่าวคือลูกค้าที่ซื้อหรือเช่าไปจะเห็นความมีน้ำใจของเจ้าของกิจการ และจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ในที่สุดการจัดตกแต่งโลงศพด้วยดอกไม้สด

นอกจากนั้นจะเห็นการสร้างเครือข่ายทางการค้า (connection) กับผู้ประกอบการอื่นๆ ในการบริการลูกค้า เช่น การซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการผลิต การประสานกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลังความตายอื่นๆ เช่น ดอกไม้จันทน์ เต้นท์ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องครัว เครื่องเสียง ของที่ระลึก เป็นต้น วัสอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องเหล่านี้แม้ว่าทางร้านจะไม่มีบริการไว้อย่างครบวงจร แต่ร้านขายโลงก็จะมีเครือข่ายในการที่จะประสานให้บริการแก่ลูกค้าได้ ดังนั้นร้านขายโลงจึงไม่ได้มีความหมายเพียงร้านค้าที่ทำหน้าที่ขายเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำหน้าที่ในการให้บริการ การประสาน แทนลูกค้าอีกด้วย ขณะที่ในอดีตลูกค้าต้องจัดการเองทั้งหมดทุกอย่าง


การจัดตกแต่งโลงศพด้วยดอกไม้สด

ดังนั้นจะพบว่า การเกิดขึ้นของร้านขายโลง เป็นการเกิดขึ้นเพื่อทดแทนการลดถอยของการทำหน้าที่ของชุมชน/สังคม ในเรื่องพิธีกรรมหลังความตาย ร้านขายโลง คนขายโลง ผู้ใช้บริการ และเครือข่ายอื่นๆ เป็นกลไกย่อยๆ ของสังคม ที่มีมิติความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอย่างไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ในโครงสร้างที่ไม่ได้ซับซ้อนมากนักนี้ กลไกต่างๆ ของโครงสร้างเหล่านี้ก็ขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงไป ตามสภาพสังคมที่ดำรงอยู่และขับเคลื่อนไป เป็นการทำหน้าที่ที่รักษาดุลยภาพของโครงสร้างสังคมเล็กๆ นี้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสังคมใหญ่ให้ดำรงอยู่ได้ แม้จะเกิดการขัดแย้งอยู่บ้างในกลไกเล็กๆ นี้ แต่มันก็มีการปรับตัวให้เกิดดุลยภาพสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมเช่นเดียวกัน

ร้านขายโลงจึงสามารถอยู่ได้และยังทำหน้าที่ (function) อยู่ในสังคมตราบเท่าที่สังคมต้องการ การเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวของร้านขายโลงก็เป็นการพยายามที่จะให้ร้านขายโลงยังทำหน้าที่บริการแก่ลูกค้าอยู่ได้ และเมื่อมีวัด มีองค์กรต่างๆ เริ่มเข้ามาทำหน้าที่แทน หรือทำหน้าที่ร่วมกับร้านขายโลงด้วย ก็ทำให้ร้านขายโลงต้องสูญเสียผลประโยชน์ไปเป็นจำนวนมหาศาลเช่นกัน การเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้กลไกการตลาดของร้านขายโลงต้องสะดุด และต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการค้าใหม่โดยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ร้านสามารถดำรงอยู่ได้ ในภาวะที่มีการแข่งขันกันอย่างสูง และบางร้านโดยเฉพาะร้านในตำบล หมู่บ้านต่างๆ เมื่อวัดเข้ามาทำหน้าที่แทน ร้านเหล่านั้นก็ถูกแย่งหน้าที่ไปโดยวัด ทำให้หมดหน้าที่ (dis-function) จนต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

นอกจากจะเห็นการทำหน้าที่ของร้านขายโลงศพแล้ว ยังเห็นการทำหน้าที่ของโลงศพอย่างน่าสนใจ ซึ่งบทบาทหน้าที่ของโลง นอกจากจะเป็นที่ใส่ศพตามประเพณีแล้ว โลงศพยังเป็นตัวแสดงถึงสถานะของผู้ตายและญาติๆ ทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม เป็นต้น ผู้ประกอบการค้าโลงได้ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่มีฐานะดี มีหน้ามีตาทางสังคม มักจะใช้โลงไม้ที่มีราคาสูง ตกแต่งอย่างสวยงาม มีการจัดดอกไม้สดจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นฐานะทางเศรษฐกิจ และสถานะทางสังคมทั้งของผู้ตายและของผู้อยู่ โดยเชื่อว่าของที่คนอื่นใช้แล้วเขาจะไม่ใช้ จึงไม่เอาโลงศพที่คนอื่นเคยใช้แล้ว เช่น โลงแอร์ ทำให้ผู้มีฐานะจะไม่นิยมใช้โลงแอร์ เพราะเชื่อว่าบ้านหลังสุดท้ายของผู้ตายควรจะเป็นบ้านที่ดี ที่สวยที่สุด และทำให้ผู้ตายมีที่อยู่ในโลกหน้าด้วย ในขณะที่ผู้ที่มีฐานะปานกลางถึงต่ำ จะนิยมใช้โลงแอร์ ซึ่งดูดีทันสมัย และราคาไม่แพงนักคือประมาณ ๕,๐๐๐ - ๗,๕๐๐ บาท แล้วแต่รูปแบบของโลง และการจัดดอกไม้ประดับ และบางคนอาจจะใช้โลงไม้ที่มีราคาประมาณ ๓,๕๐๐ - ๕,๐๐๐ บาท จะเห็นได้ว่า การเลือกซื้อโลงก็เป็นการบ่งบอกนัยยะได้หลายประการ ดังนั้นโลงศพจึงทำหน้าที่หลายประการในสังคม ทั้งการใช้ใส่ศพ เพื่อประกอบพิธีกรรมตามประเพณีแล้ว ยังบ่งบอกฐานะ ความเชื่อของผู้ใช้บริการอีกทางหนึ่งด้วย ดังมีผู้ประกอบการท่านหนึ่งบอกว่า "การเลือกโลงนั้นคิดถึงหน้าตาผู้อยู่มากกว่าผู้ตาย" ซึ่งสื่อให้เห็นบทบาทหน้าที่ของโลงได้เป็นอย่างดี

ธุรกิจค้าโลงศพ : การเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมความเชื่อและวัฒนธรรมการบริโภค
การเกิดขึ้นของร้านขายโลง สืบเนื่องมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จากสังคมที่มีความผูกพันช่วยเหลือเกื้อกูลกันสูงในอดีต มาสู่สังคมที่ต้องการความรีบเร่ง ความสะดวกสบาย การแข่งขัน ประกอบกับความสัมพันธ์ในสังคมแบบดั้งเดิม ที่มีการพึ่งพิงช่วยเหลือกันเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจการค้าโลงที่เกิดขึ้น จึงเป็นการปรับเปลี่ยนที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังที่ ศ.สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ ให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมที่จะสามารถดำรงอยู่ได้ จะต้องเป็นวัฒนธรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม วัฒนธรรมบางอย่างเมื่อไม่ได้มีบทบาททำหน้าที่หรือไม่ตอบสนองต่อความต้องการ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมนั้น ก็ต้องตายหรือสูญหายไปในที่สุด แต่วัฒนธรรมบางอย่างก็สามารถที่จะพัฒนาเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมต่อไปได้ เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้วัฒนธรรมนั้นๆ สามารถให้ดำรงอยู่ได้ (สัมภาษณ์ ศ.สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ ณ บ้านพัก ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา ๑๑ มกราคม ๒๕๔๗)

ดังนั้นการเกิดขึ้น การดำรงอยู่ หรือการล่มสลายไปของร้านขายโลงนั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมนั้นๆ เพียงใด ในปัจจุบันวิธีคิดของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมความเชื่อ ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม ที่ผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ระบบพาณิชย์นิยมจึงเกิดขึ้นมารองรับความต้องการการบริโภคนั้นๆ อย่างไรก็ตามการบริโภคบางอย่างก็ยังมีระบบความเชื่อที่แฝงอยู่ ดังนั้นระบบพาณิชย์นิยมจึงต้องหลอมความเชื่อ และความต้องการของผู้บริโภคให้สอดคล้องกัน

ถ้าเรามองว่าการปรับเปลี่ยนของพิธีกรรมความเชื่อเรื่องโลงศพ และพิธีกรรมหลังความตายจากอดีตถึงปัจจุบันในแง่ของวัฒนธรรมแล้วเราจะพบว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา จากการใช้ภูมิปัญญา และความคิดที่เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสม วัฒนธรรมบางอย่าง ที่คนรุ่นก่อนได้สร้างไว้อาจจะยังคงของเดิมอยู่มาก บางอย่างอาจจะปรับเปลี่ยนไป จนเหลือร่องรอยเดิมอยู่บ้าง วัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ก็เพื่อให้วัฒนธรรมนั้นๆ ได้เป็นสิ่งที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ต่อไปนั่นเอง

ดังนั้นวัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้ และต้องมีการถ่ายทอดวัฒนธรรม การถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นนั้น ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมเดิมที่หยุดนิ่งตายตัว แต่วัฒนธรรมที่ถ่ายทอดย่อมมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง ตามสภาพสังคม อย่างไรก็ตามในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ย่อมจะมีค่านิยมแกนกลางร่วมกัน ที่ให้สมาชิกของสังคมนั้นๆ ปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ขัดกับการยอมรับ หรือจารีตของสังคม เมื่อวัฒนธรรมมีค่านิยมของสังคมที่เป็นแกนกลางให้สมาชิกของสังคมยึดถือเป็นหลัก พฤติกรรม แนวคิด วิธีการทำงาน ตลอดจนการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ย่อมจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมนั้นโดยอัตโนมัติ และเมื่อทุกอย่างสอดคล้องกัน ก็หมายความว่าการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมก็ดำเนินไปได้อย่างไม่มีปัญหา ถึงแม้ว่าการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมอาจจะหมายถึงว่า ลักษณะบางอย่างของวัฒนธรรมได้เปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ค่านิยม และหลักใหญ่ที่ใช้เป็นกฎเกณฑ์ของสังคมก็ยังจะไม่เปลี่ยนแปลงไป (อมรา พงศาพิชญ์ วัฒธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ : วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา, ๒๕๔๑ หน้า ๒๐ - ๒๑)

อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันทีทันใด แต่การปรับเปลี่ยนจะค่อยๆ ปรับหรือกลืนกลายจนเป็นวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งจะมีส่วนผสมของวัฒนธรรมเก่าและวัฒนธรรมใหม่หลอมรวมกันอยู่ เช่นเดียวกับพัฒนาการของโลงศพ ที่เป็นสิ่งที่ลงตัวในการเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ ระหว่างธุรกิจกับความเชื่อ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้จึงยังเป็นสิ่งที่ยึดโยงซึ่งกันและกัน ตราบเท่าที่สังคมยังคงมีวัฒนธรรมความเชื่อที่เป็นสิ่งธำรงสังคมที่ผ่านมา และต่อไปอย่างยาวนาน

การเกิดขึ้นของร้านขายโลง แม้จะเป็นปรากฎการณ์ของหน่วยเล็กๆ ในสังคม แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงระบบใหญ่ของสังคม และวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ที่การดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านั้นย่อมต้องตอบสนองต่อความต้องการของสังคม และมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ ถ้าหากหยุดนิ่งตายตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในไม่ช้าวัฒนธรรมเหล่านั้นก็จะถูกลบเลือนหายไป หรือกลายเป็น "วัฒนธรรมที่ตายแล้ว" ไปในที่สุด

อ้างอิง
กลิ่น คงเหมือนเพชร "ปริศนาความเชื่อเบื้องหลังความตาย" วารสารแลใต้ ฉบับที่ ๖๘ ปีที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒.
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ วิถีชีวิตชาวใต้ : ประเพณีและวัฒนธรรม ชมรมเด็ก ๒๕๔๔.
พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ วัฒนาพานิช ๒๕๓๔.
สารคดี ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์ สารคดี ๒๕๓๒.
สืบพงศ์ ธรรมชาติ วัฒนธรรมในวรรณกรรมมุขปาฐะพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ๒๕๔๓.
อมรา พงศาพิชญ์ วัฒธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ : วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา พิมพ์ครั้งที่ ๕ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๑.
อุดม หนูทอง "โลงศพ" สารานุกรมวัฒนธรรมไทย : ภาคใต้ เล่ม ๑๔ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ๒๕๔๒.
สัมภาษณ์/พูดคุย
ผู้ประกอบการค้าโลงศพหน้าโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช
ศ.สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์
บุญธรรม เทอดเกียรติชาติ
อักขณิช ศรีดารัตน์ (นักศึกษาปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

พระพิฆเนศวร : บนความเชื่อและพื้นที่ทางสังคม

พระพิฆเนศวร เป็นเทพองค์หนึ่งที่คนไทยเรามีความเคารพบูชากันมาแต่โบราณภายหลังการเข้ามาของอารยธรรมอินเดีย ซึ่งแผ่ขยายเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ โดยปรากฏตามตำนานและคัมภีร์ต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับลัทธิพราหมณ์หรือศาสนาพราหมณ์ซึ่งคนไทยตลอดจนเชื้อชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับเอาความเชื่อและพิธีกรรมเข้ามาใช้ในวิถีชีวิตของประชาชน และพระราชพิธีต่างๆ ในราชสำนักของเจ้าผู้ครองนคร ตลอดจนขุนนาง และในภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนคลี่คลายไปตามยุคสมัย โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่าพระพิฆเนศวรทรงเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการตามคติพราหมณ์-ฮินดู ยกย่องเป็นปราชญ์เทวะที่จะช่วยขจัดอุปสรรคและความขัดข้องทั้งปวงให้แก่ผู้ที่เคารพบูชาอธิษฐานขอพร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงมีความเชื่อและศรัทธาพระพิฆเนศวร ถึงกับทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลพระพิฆเนศวรไว้ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม เพราะพระองค์ทรงมีความเคารพต่อองค์เทพนี้ในฐานะ “องค์บรมครูแห่งศิลปิน”

สังคมไทยปัจจุบันนี้แม้ว่าความเจริญทางด้านศิลปะวิทยาและเทคโนโลยีในด้านต่างๆ มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับสังคมโลก แต่มิติทางด้านความเชื่อ และการเคารพบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงองค์เทพต่างๆ ก็ใช่ว่าจะหมดไป แต่กลับมีความผูกพันกับวิถีชีวิตอย่างล้ำลึก และนานวันไปดูเหมือนว่ายิ่งเพิ่มความสำคัญเข้าไปอยู่ในทุกภาคส่วนของสถาบันต่างๆ ในสังคมอย่างเหนียวแน่น

ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ในการเขียนบทความนี้เพื่อที่จะอธิบายและวิเคราะห์สภาพความเป็นจริงในสังคมนครศรีธรรมราช ที่มีต่อองค์พระพิฆเนศวรในด้านความเชื่อ-พิธีกรรม และพื้นที่ทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะลบหลู่หรือทำลายความเป็นจริงทางด้านวัฒนธรรมแต่อย่างใด โดยที่ให้น้ำหนักไปทางด้านวิถีชีวิตของคนนครศรีธรรมราชในสาขาอาชีพต่างๆ ที่เข้าถึงหรือศรัทธาต่อองค์เทพพระองค์นี้

จากการลงพื้นที่ศึกษาบริเวณร้านค้าของเก่า เครื่องเงิน เครื่องโลหะ และ ร้านจำหน่ายพระพุทธรูป รูปปั้น บริเวณหน้าวัดและในวัดพระมหาธาตุวรวิหาร ตลอดจนชมรมพระเครื่องในบริเวณวัดวังตะวันตก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พบว่ารูปปั้นหรือรูปหล่อองค์พระพิฆเนศวร มีวางจำหน่ายหรือให้เช่าตั้งแต่ ๖๐๐-๑๕๐๐ บาท ตามลักษณะวัสดุที่ใช้ ขนาดองค์ ความเก่าแก่ของรูปลักษณะ และอายุการสร้างยิ่งสร้างมานานจะมีราคาสูงขึ้นตามลำดับ เช่นเดียวกับพระเครื่องบูชาอื่นๆ

ลักษณะทางด้านความเชื่อ ศาสนาและความสัมพันธ์ทางสังคมปรากฏเด่นชัดในยุคแรก ว่าชนชาติไทยนับถือผีสางเทวดาหรือที่เรียกรวมๆ ว่าลัทธิวิญญาณ (Animism) เช่นเดียวกับชนชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในสังคมดั้งเดิมของทวีปเอเชียและแอฟริกา ต่อมา เมื่อพระพุทธศาสนาถือกำเนิดขึ้นมาในประเทศอินเดีย และพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงทำนุบำรุงและเผยแพร่พุทธศาสนาไปยังดินแดนต่างๆ ตลอดจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชนชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว มอญ เขมร จีน จาม หรือชาวพื้นเมืองอื่นๆ ต่างยอมรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม และต่อมา เมื่อลัทธิพราหมณ์ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของศาสนาฮินดู ได้แผ่กระจายเข้ามาอีกiะลอกหนึ่ง เกิดการปะทะสังสรรค์กับพุทธศาสนาและความเชื่อในเรื่องผีสางเทวดาซึ่งมีอยู่เดิม โดยมีพวกพราหมณ์ที่เข้ามากับการเผยแพร่ลัทธิพราหมณ์เข้ามาเป็นเจ้าพิธีการ เริ่มจากชุมชนต่างๆ สู่ราชสำนัก

สนิท สมัครการ ได้ให้ความเห็นว่า โดยที่บทบัญญัติของศาสนาฮินดู-พราหมณ์ สนับสนุนชนชั้นปกครองหรือชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมอย่างชัดแจ้ง พวกเจ้าและชนชั้นสูงจึงนิยมเลื่อมใสในลัทธิศาสนานี้มากกว่าคนสามัญ กษัตริย์ขอมซึ่งมีอำนาจอยู่ขณะนั้น จึงหันไปนับถือศาสนาฮินดูและนับถือพระเจ้าต่างๆ รวมทั้งปฏิบัติการตามแนวคิดเรื่องสมมติราชอย่างเต็มที่ มีการสร้างปราสาทสูงๆ เป็นเทวสถานเพื่อการติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์ตามลัทธิปฏิบัติ โดยการเกณฑ์แรงงานราษฎรมาทำการก่อสร้างปราสาทหลายหลัง อย่างเช่น ปราสาทนครวัด นครธม พิมาย และเขาพนมรุ้ง เป็นต้น

การแพร่กระจายของศาสนาฮินดูเข้ามาสู่สังคมไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยราชสำนักอยุธยา ได้นำเอาแบบพิธีกรรมของพวกพราหมณ์เข้ามาใช้ รวมทั้งแนวคิดเรื่องสมมติราชด้วย แต่ก็ไม่ทำให้กษัตริย์ไทยและชนชาวไทยทั้งมวลเปลี่ยนจากการนับถือพุทธศาสนาไปนับถือศาสนาฮินดูแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าความเชื่อในเรื่องของการเคารพบูชาต่อพระเจ้าบางองค์ของศาสนาฮินดูยังคงดำรงอยู่ ทั้งในระดับราชสำนักและในระดับชุมชน ซึ่งแสดงออกมาในลักษณะของพฤติกรรมความเชื่อผ่านพิธีการทางศาสนา รัฐพิธีราชพิธี และพิธีกรรมของชาวบ้านในระดับชุมชน ในขณะที่นับถือพุทธศาสนาและเป็นศาสนาประจำชาติไทยด้วย

ในขณะที่มุมมองของ อมรา พงศาพิชญ์ เชื่อว่าศาสนามีองค์ประกอบสามส่วนคือ พระธรรม หลักศีลธรรม และการกระทำตามคำสั่งสอน ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติตนทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและพิธีกรรม ศาสนาจึงต้องประกอบด้วยความเชื่อและพิธีกรรม จึงทำให้มองเห็นถึงความซับซ้อนของโครงสร้างทางด้านศาสนาและความเชื่อในสังคมไทยปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เหมือนกับว่าคนไทยได้หันมานับถือศาสนาใหม่ หรือลัทธิใหม่ ที่มีพัฒนาการของการผสมผสานและกลืนกลายเป็นอุดมการณ์ใหม่ของพุทธศาสนา ที่มีลักษณะของพิธีกรรมที่เป็นทั้งพุทธ ผี และพราหมณ์อยู่ในพิธีกรรมอันผสมกลมกลืน ยากที่จะจำแนกออกมาเป็นส่วนๆ ได้ ซึ่งในสภาพความเป็นจริงในข้อนี้ ท่านพุทธทาส อินทปัญโญ ได้มีความเห็นไว้ในหนังสือคู่มือมนุษย์ ว่าแม้แต่พิธีรีตองต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาอย่างน่าสมเพท เช่น การจัดสำรับคาวหวาน ผลหมากรากไม้ เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้า อย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระ เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนาและได้สอนกันอย่างเคร่งครัด

ในการเข้ามาของฮินดูพราหมณ์ ได้ก่อให้เกิดลัทธิบูชารูปเคารพอื่นนอกเหนือจากพระพุทธรูปโดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาของพวกพราหมณ์ ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในเทวสถาน หรือโบสถ์พราหมณ์ที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่ หลังจากการลดน้อยลงของตระกูลพราหมณ์ เนื่องจากพราหมณ์ถือว่าตนอยู่ในวรรณะสูงรองจากวรรณะกษัตริย์ จึงไม่นิยมสมรสกับวรรณะอื่น ปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุงของหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ว่าพนักงานพิธีของฝ่ายพราหมณ์ขึ้นกับหลวงทิพย์มณเฑียรหน้าวัง มีพราหมณ์ ๒๐ คน กับพนักงานรักษาเทียนไชยหัวหน้าพราหมณ์ ๔ คนคือขุนศรีสยมภู หัวหน้าพราหมณ์ ขุนศรีสพสมัย เป็นผู้ถือบัญชีพราหมณ์ ขุนไชยปาวี กับขุนสิทธิชัย เป็นผู้นำเจ้าเมืองเข้าเมือง นอกจากนี้ยังมีผู้ช่วยอีก ๔ คน คือขุนไชยธรรม ขุนเทพมณี ขุนยศ ขุนน้อย และนอกนั้นเป็นพราหมณ์บัณเฑาะว์ชาวสังข์อีก ๑๒ คน การดังกล่าวดำรงอยู่ในหัวเมืองต่างๆ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงปฏิรูปการปกครองใน พ.ศ.๒๔๓๗ ความสำคัญของพราหมณ์เกี่ยวกับพิธีการต่างๆ ตามหัวเมืองก็ลดความสำคัญลง ทำให้การนับถือพราหมณ์เสื่อมลง จนบางครั้งก็รวมเอาพิธีกรรมของพราหมณ์กับพุทธเข้าด้วยกัน ตามสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ในตำนานเมืองพัทลุง ได้กล่าวถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของพวกพราหมณ์จากอินเดีย ว่าเข้ามาพร้อมพร้อมๆ กับเมืองไชยา และเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานว่ามาจากเมืองพาราณสี หรือรามนคร โดยการเข้ามานอกจากสร้างเทวสถาน เทวาลัย เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้วยังสร้าง ศิวลึงค์ อุมาลิงค์และรูปเคารพขององค์เทพต่างๆ เช่นที่ปรากฏในเมืองพัทลุง นครศรีธรรมราช ไชยา ปัจจุบัน

รูปเคารพของพราหมณ์พัทลุงเท่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน คือรูปพระอิศวรหล่อสำริดปางนาฏราชศิลปะอินเดีย พระพิฆเนศวร พระอุมา และยังมีรูปพระโพธิสัตว์มัชชุศรีของพุทธศาสนาลัทธิมหายานร่วมอยู่ด้วย โดยเข้าใจว่าพวกรุ่นหลังพราหมณ์เข้าใจว่าเป็นรูปพระอิศวร เช่นเดียวกับที่ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานการสร้างพระธาตุได้กล่าวถึงการเข้ามาของพวกพราหมณ์ ว่าเป็นการเข้ามาอย่างผู้ทรงคุณความรู้ทางวิชาการด้านต่างๆ เป็นที่ยอมรับและศรัทธาของชนพื้นเมืองเดิม หลักฐานทางด้านโบราณคดีเช่นหอพระอิศวร หอพระนารายณ์ และเทวสถานอื่นๆ รวมถึงรูปเคารพขององค์เทพต่างๆ ยังคงมีน้ำหนักต่อการยืนยันปรากฏการณ์ในอดีตได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงกับพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่าที่ ตรี อมาตกุล ได้นำมาอ้างถึงในบทความเรื่องนครศรีธรรมราชสมัยอยุธยาว่า<ฝp>

“แต่ก่อนนครศรีธรรมราชเป็นเมืองใหญ่ข้างฝ่ายใต้ เรือลูกค้าไปมาค้าขายอยู่ทั้งสองฝั่งทะเล คือข้างฝั่งนี้ (ฝั่งตะวันออก) เข้ามาถึงเมืองนครศรีธรรมราช ข้างฝั่งตะวันตกเข้ามาทางเมืองตรัง พวกพราหมณ์เมื่อได้เข้ามาถึงเมืองนครสรีธรรมราชมากแล้ว จึงขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ เป็นการสะดวกดีกว่าที่จะเดินผ่านเขตแดนพม่ารามัญ ซึ่งเป็นปัจจามิตร ซึ่งตั้งสกัดอยู่ข้างทางเหนือ เพราะฉะนั้นเชื้อพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราชจึงไม่มีสิ้นสุดมาจนกระทั่งบัดนี้ มีเทวสถาน มีเสาชิงช้า ซึ่งพราหมณ์ยังคงทำพิธีอยู่แต่เป็นอย่างย่อๆ ตามมีตามเกิด และที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในชั้นหลังก็มี เช่น พระครูอัษฎาจารย์ (บิดาหลวงสุริยาเทเวศร์) เป็นต้น ลัทธิเวทย์มนต์อันใดก็ไม่ผิดแปลกกันเพียงแต่เลือนๆ ไปเหมือนพระสงฆ์ในกรุงเทพฯและหัวเมือง ชะรอยหัวเมืองข้างใต้ตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาจะเป็นเมืองที่พราหมณ์อยู่โดยมาก จนถึงเพชรบุรีก็ยังมีบ้านพราหมณ์ตั้งสืบตระกูลกันมาช้านานจนถึงเดี๋ยวนี้ สิ่งสำคัญ”

ตรี อมาตยกุล ยังยืนยันเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรม ราชที่ยังทำสืบกันเรื่อยมาแต่โบราณ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงได้เลิก แต่เสาชิงช้าที่ใช้ในพิธีตรียัมปวายของพราหมณ์เพิ่งรื้อเสียเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๘๓ ส่วนกระดานสำหรับโล้ชิงช้าเวลานี้ยังคงเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานวัดพระมหาธาตุ เชื้อสายพราหมณ์ที่เมืองนครศรีธรรมราช ในปัจจุบันก็ยังมีเหลืออยู่บ้าง แต่เป็นจำนวนน้อย เนื่องจากพวกพราหมณ์มีลัทธิประเพณีกีดกันไม่ให้สมพงศ์ร่วมกับพวกต่างตระกูล จึงมีพงศ์พันธุ์เหลืออยู่ไม่มากนัก ในเวลานี้พวกพราหมณ์ที่มีเชื้อสายสืบเนื่องมาจากพราหมณ์ดั้งเดิม ก็ยังมีตั้งบ้านเรือนอยู่ทั้งในเมืองและนอกเมือง เมื่อสมเด็จกรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช เสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลใน พ.ศ.๒๔๒๗ ได้เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ทรงเล่าว่ามีพราหมณ์อยู่เมืองนครศรีธรรมราชประมาณ ๕๐๐ คน การแต่งกายของพวกพราหมณ์ก็ผิดแปลกกับชาวพื้นเมืองทั่วไปคือ นิยมแต่งกายด้วยเครื่องขาว คือทั้งเครื่องนุ่งและเครื่องห่มตามประเพณีเดิมของตน มิได้หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม ส่วนผมก็ยังคงไว้ยาวเกล้ามวยไว้ข้างหลัง อย่างเดียวกับพวกพราหมณ์ที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนี้เหมือนกัน และยังยืนยันว่าเมืองเก่าอื่นๆ ก็เป็นแบบเดียวกันมักจำทำเทวสถานประจำเมืองไว้แทบทุกเมือง เช่นที่เมืองตะกั่วป่า เมืองไชยา และเมืองเวียงสระ ก็มีเทวสถานทั้งนั้น แม้เมืองที่ตั้งทางทิศเหนือ เช่น เมืองอู่ทอง (อยู่ในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี) เมืองลพบุรี เมืองปราจีนบุรี และเมืองศรีเทพ (อยู่ในเขตอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์) ก็มีเทวสถานประจำเมืองด้วยกันทุกเมือง แต่เนื่องจากเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองใหญ่ จึงไม่ปล่อยให้เทวสถานรกร้างหักพังไปเหมือนอย่างเช่นเทวสถานในเมืองอื่นๆ ที่เคยเป็นเมืองร้างในบางยุคบางสมัย คงทำการซ่อมแซมกันเรื่อยมาหลายุคหลายคราว และด้วยการซ่อมแซมกันอยู่เสมอนี่เอง เป็นเหตุให้เทวสถานต่างๆ ของเมืองนี้เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ ผิดจากรูปทรงที่สร้างไว้แต่เดิมหมด ในปัจจุบันจึงไม่ได้พบของเก่าที่นับว่าเป็นฝีมือช่างแต่ดั้งเดิมเหลืออยู่เลยสักแห่งเดียว

ในโบสถ์พราหมณ์มีกุฏิสำหรับเก็บรักษารูปสำหรับใช้ในพิธีพราหมณ์ คือ ศิวลึงค์ศิลา ๔ อัน ฐานสำหรับรองศิวลึงค์อันหนึ่ง ฐานรองเทวรูปฐานหนึ่ง และรูปพระคเณศวร์องค์หนึ่ง นอกกุฏิมีศิวลึงค์โคนทำเป็นแปดเหลี่ยมอันหนึ่ง เดิมในกุฏินี้มีกระดานอยู่แผ่นหนึ่ง สำหรับใช้ฝังในหลุมศพตามพิธียัมปวายของพราหมณ์ กระดานที่กล่าวนี้จำหลักเป็นรูปนางคงคาสองแผ่น เป็นของเก่าครั้งอยุธยา และกระดานจำหลักเป็นรูปพระอาทิตย์แผ่นหนึ่ง เป็นของสร้างขึ้นใหม่สำหรับใช้แทนรูปนางคงคา แต่เมื่อเลิกพิธีตรียัมปวายสำหรับเมืองนี้แล้ว จึงได้นำกระดาษจำหลักทั้งสามแผ่นนี้ไปในพิพิธภัณฑสถานวัดพระมหาธาตุวร มหาวิหาร และนอกจากนี้ยังมี “หอพระอิศวร” เป็นที่ไว้เทวรูปสำริดฝีมือช่างอินเดียอยู่หลายองค์มี พระอิศวรปางนาฏราช พระลักษมี พระคเณศวร์ และรูปหงส์ เป็นเทวรูปที่ประดิษฐานประจำหอนี้มาแต่โบราณ ส่วน “หอพระนารายณ์” อันเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพพระนารายณ์ แต่การซ่อมครั้งหลังสุดช่างกลับนำเทวรูปปูนปั้นองค์หนึ่งฝีมือช่างครั้งสมัยอยุธยามาประดิษฐานไว้ ชาวเมืองเรียกว่าพระนารายณ์ ที่จริงกลับเป็นรูปพระอิศวร ส่วนองค์ที่ขุดพบใหม่เป็นรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขกทำด้วยศิลา เป็นแบบช่างอินเดีย นอกจากนี้แล้วยังมี “ศาลพระเสื้อเมือง” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเทพารักษ์ประจำเมืองซึ่งมีกุฏิเล็กๆ สำหรับไว้รูปปั้นเทพารักษ์สององค์ เค้าหน้าคล้ายท้าวเวฬุราช ในวิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สำหรับ “ฐานพระสยม” ในเมืองนครศรีธรรมราชถึงสองแห่ง ทั้งนี้คงเนื่องจากพวกพราหมณ์ที่เข้ามาอยู่แต่ก่อนมีหลายพวกด้วยกันก็ได้ ที่หอนี้มีฐานเทวรูปศิลาขนาดกว้าง ๑ เมตรสี่เหลี่ยมฐานหนึ่งกับศิวลึงค์ศิลาอันหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้เป็นของเก่าที่เป็นฝีมือช่างสมัยก่อนขอมหรือสมัยเจนละ ซึ่งมีอายุประมาณว่าไม่ต่ำกว่า ๑๒๐๐ ปี

กำเนิดพระพิฆเนศวร
ในคัมภีร์ภารตอินเดีย มีการระบุถึงที่มาและกำเนิดของพระพิฆเนศวรไว้แตกต่างกัน แต่จะมีรูปลักษณ์ที่เหมือนกัน คือรูปร่างเป็นมนุษย์พระเศียรเป็นช้างซึ่งในที่นี้จะยกมากล่าวอ้าง ให้พอเห็นความหลากหลายตามที่ อรชุน กุรุนนท์ได้อธิบายไว้ว่าดังนี้

คัมภีร์สุประภีทาคม ได้กล่าวถึงกำเนิดของพระพิฆเนศวรว่าในครั้งที่พระศิวะ และพระแม่ปาราวตีเสด็จไปเที่ยวชมป่า ก็ได้บังเอิญพบเห็นช้างพลายและช้างพังคู่หนึ่งกำลังเสพสมกันอยู่ ด้วยความนึกสนุกทั้งสองพระองค์จึงต่างแปลงกายเป็นช้างทั้งคู่ แล้วเสพสมสู่กันในป่านั้น ซึ่งในเวลาต่อมาพระนางปาราวตีทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลเป็นพระโอรสองค์หนึ่งเป็นเทพที่มีร่างกายเหมือนมนุษย์แต่ทว่าพระเศียรเป็นรูปช้าง

คัมภีร์มัตสยปุราณะ กล่าวว่า ขณะที่นางปาราวดีผู้เป็นอัครมเหสีเอกของพระศิวะกำลังสรงน้ำอยู่ตามลำพังนั้น ได้ทรงนำเอาเหงื่อไคลของนางมาผสมกับน้ำมันหอม แล้วนำมาปั้นเป็นรูปเทพที่มีหัวเป็นช้างแต่ตัวเป็นคน แล้วประพรมด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นน้ำของพระแม่คงคาอีกด้วย พระพิฆเนศวรจึงจุติขึ้นมาในครั้งนั้น โดยพระนางปาราวตีมีพระประสงค์จะให้พระพิฆเนศวรไปช่วยขัดขวางชาวบ้านชาวเมือง ที่ประสงค์จะไปสักการบูชาพระศิวะลึงค์ที่เทวาลัยอีกด้วย

คัมภีร์ลิงศปุราณะ กล่าวว่าบรรดาพวกอสูรและรากษส ได้เกิดความฮึกเหิมกำเริบเสิบสาน สร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์และทวยเทพ เนื่องจากได้ไปทำการบวงสรวงสักการะพระศิวะอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานาน จึงได้พรวิเศษหลายประการตามที่พระศิวะประทานให้ พระศิวะจึงทรงเนรมิตองค์เทพด้วยการแบ่งภาคส่วนหนึ่งของพระองค์ แล้วประทานพรให้เป็นเทพแห่งความขัดข้องหรือขัดขวางพวกอสูรและรากษสเหล่านั้น จนหมดฤทธิ์เดชไป และยังช่วยอำนวยพรให้แก่ผู้กระทำความดีให้ปราศจากความขัดข้องนานาประการ เทพบุรุษหนุ่มผู้นี้ไม่ได้มีเศียรเป็นรูปช้างแต่อย่างใด

คัมภีร์สถานทปุราณะ กล่าวว่ามีพวกศูทร พวกคนบาปคนชั่วทั้งปวง ที่เคยประกอบพิธีพลีบูชาที่พระวิหารโสมีศวน เมื่อตายแล้วบรรดาคนเหล่านั้นได้พรจากการที่เคยทำบุญจึงไปจุติบนสรวงสวรรค์ และกลายเป็นเทพอสูรที่ชอบแสดงฤทธิ์เดช ทำความเดือดร้อนให้ทั้งโลกและสวรรค์สั่นสะเทือนมากขึ้นทุกที พระอินทร์และทวยเทพพากันไปปรึกษาหารือกับพระศิวะ พระศิวะแนะนำให้ไปปรึกษานางปาราวตี มเหสีของพระองค์ นางจึงได้อธิษฐาน แล้วใช้พระหัตถ์ลูบพระวรกายของนาง ก็บังเกิดเป็นเทพองค์หนึ่งซึ่งมีเสียงเป็นช้างและมี ๔ กร คือ พระพิฆเนศวร และให้ไปทำหน้าที่กำจัดอสูร รากษส และบรรดาคนบาปคนชั่วให้หมดไปจากสวรรค์ได้เป็นผลสำเร็จ

คัมภีร์พรหมไววรรตปุราณะ กล่าวว่า พระศิวะกับนางปวาราวตีได้ครองคู่อยู่ร่วมกันมานานแสนนาน แต่ทว่ายังไม่มีพระโอรสเป็นมิ่งขวัญเลย จึงให้นางปาราวตีประกอบพิธีบูชาพระวิษณุขึ้นในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ เรียกว่าพิธีปัญญากะพรต โดยมีการบริจาคทานแก่ชาวบ้านและพราหมณ์นับพันคนทุกๆวัน เรื่อยไปจนครบ ๑ ปี จนเวลาผ่านไป พระนางเข้าไปในตำหนักพบพระกุมารน้อยๆ องค์หนึ่งอยู่บนพระแท่น ซึ่งทำให้พระนางได้ทราบว่าพระกฤษณะ ได้อวตารมาจุติเป็นโอรสของพระนาง เมื่อบรรดาเทพทั้งปวงทราบข่าวก็ได้มาแสดงความยินดี มีการเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกครึกครื้น ในจำนวนนั้นพระเสาร์มีกิริยาแปลกกว่าเทพองค์อื่น คือ ไม่สามารถทอดพระเนตรพระโอรสตรงๆ ได้ เนื่องจากเกรงว่าจะต้องคำสาปของพระชายา แต่เมื่อถูกนางปาราวตีคะยั้นคะยอและอนุญาต จึงหันไปทอดพระเนตรมองพระเนตรพระกุมารน้อย ในวินาทีนั้นพระเศียรของพระกุมารน้อยก็ขาดกระเด็นลอยล่องไปถึงสรวงสวรรค์ อันเป็นชั้นของพระกฤษณะ สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับปวงเทพ พระวิษณุก็รีบประทับพญาครุฑเสด็จไปยังแม่น้ำบุษปภัทร พบช้างพลายตัวหนึ่งกำลังนอนหลับ จึงตัดศีรษะช้างนั้นกลับมาต่อที่พระศอของพระกุมารน้อย จึงได้ฟื้นคืนพระชนม์ชีพขึ้นมา

รูปลักษณ์และพระนามของพระพิฆเนศวร
พระพิฆเนศวรทรงเป็นเทพที่มีรูปโฉมแปลกแยกแตกต่างจากองค์อื่นๆ ทั้งปวง การมีเศียรเป็นช้างซึ่งมีงาเดียวนั้นเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว อันสามารถกล่าวได้ว่า เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้พระพิฆเนศวรทรงโดดเด่นและแตกต่างจากเทพองค์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง รูปลักษณ์ของเทพองค์อื่นๆ นั้นในแต่ละปางก็อาจมีรูปลักษณ์ที่แปลกแยกแตกต่างออกไป แต่สำหรับพระพิฆเนศวรนั้นไม่ว่าจะปรากฏในปางใด ก็จะปรากฏเสมอกันว่าทรงมีพระเศียรเป็นช้างและมักจะมีเพียง ๑ เศียร ๑ หน้าเท่านั้น แต่ในรูปเคารพรูปหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของอินเดียโบราณก็ปรากฏว่าพระพิฆเนศวรมี ๒ เศียร ๒ พักตร์ โดยที่เศียรหนึ่งนั้นเป็นช้าง อีกเศียรหนึ่งเป็นมนุษย์ และมี ๔ กร หรือ ๔ มือ ในแต่ละพระหัตถ์ก็ทรงถือสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ เช่น ขนมโมทกะ บ่วง ขอ และงา เป็นต้น รูปเคารพลักษณะนี้มักจะปรากฏอยู่ในบอมเบย์ และบางท้องถิ่นในอินเดีย โดยส่วนใหญ่แล้วพระพิฆเนศวร จะมีสองพระเนตร มีบางปากเป็นส่วนน้อยเท่านั้นมีดวงพระเนตรที่สามอยู่บนหน้าผาก เป็นรูปเปลวไฟ และนูนออกมา หรืออาจจะมีรูปจันทร์เสี้ยวอยู่ตรงกลางหน้าผากคล้ายๆ กับพระศิวะมหาเทพผู้เป็นบิดาของพระองค์ ในบางปางหน้าผากปรากฏเป็นเส้นสีขาวแนวนอน ๓ เส้น ขนานกันกลางหน้าผาก เหนือระหว่างคิ้ว ซึ่งรูปเคารพ ลักษณะนี้มักจะปรากฏในลัทธิไศวนิกาย ส่วนงวงมักจะห้อยลงมาเบื้องหน้าตรงๆ แต่ปลายงวงจะบิดไปทางซ้ายหรือขวาบ้าง มีเพียงบางปางเท่านั้นที่จะหันงวงไปทางซ้าย แล้วห้อยงวงตรงไปเบื้องล่าง และอาจมีบางปางซึ่งเป็นส่วนน้อยที่จะมีงวงยกขึ้นในระดับบ่า งามีงาเดียว ส่วนใหญ่จะมีงาทางด้านขวา แต่บางปางก็ปรากฏว่ามีงาข้างเดียวทางด้านซ้าย ส่วนพระกร บางปางมี ๒ พระกร แต่บางปางมี ๔ กร สิ่งของส่วนใหญ่ที่อยู่ในพระหัตถ์นั้นโดยมากจะเป็นสิ่งของอันเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ เช่น งาข้างที่หักไป ขนมโมทกะหรือขนมต้ม มะขวิด มะม่วง หัวผักกาด บ่วง ขอ ตรีศูล วัชระ ดาบ เป็นต้น โดยมีพระหัตถ์ข้างขวา ยกขึ้นในท่าห้ามมาร ทั้งนี้จะแตกต่างกันตามปางที่ปรากฏในคัมภีร์นั้นๆ สำหรับท่วงท่าในแต่ละปาง มีท่าประทับนั่งสองขาไขว้กัน ประทับห้อยพระบาทข้างใดช้างหนึ่งลงเบื้องล่าง ส่วนอีกข้างหนึ่งพับวางอยู่บนอาสนะ ประทับนั่งบนอาสนะโดยเข่าข้างหนึ่งพับงอ แต่เข่าอีกข้างหนึ่งยกตั้งขึ้น นั่งอยู่บนอาสนะโดยขาทั้งสองเข้าหากันแบบท่านั่งขัดสมาธิ แต่ฝ่าเท้าด้านหน้าชิดแบบติดกัน ประทับยืนตรง ประทับยืนด้วยปลายเท้า แต่ยกช่วงส้นเท้าทั้งคู่ขึ้นเสมือนอยู่ในท่าร่ายรำ ประทับยืนด้วยขาข้างหนึ่งส่วนอีกข้างหนึ่งยกขึ้นไขว้ไปบนช่วงเข่าของขาอีกข้างหนึ่งเป็นเสมือนกำลังร่ายรำ ส่วนเครื่องประดับในการอธิบายรูปลักษณ์สมัยแรกๆ ทรงเป็นมหาเทพที่มิได้ประดับด้วยเครื่องอัญมณีหรือสายสังวาลใดๆ เลย แต่จะปรากฏมีเครื่องประดับแตกต่างกันตามคัมภีร์ต่างๆ เช่นอาจจะประดับด้วยสายศักดิ์สิทธ์ที่เรียกว่า สายยัชโญปวีต บางคัมภีร์นั้นทรงคล้องงู หรือคล้องสายสังวาล และมีงูพันท้องไว้เสมือนเป็นเข็มขัด ส่วนในยุคต่อมาจะทรงสวมมงกุฎเป็นอัญมณี สวมสร้อยคอ สร้อยข้อมือที่เป็นเพชรนิลจินดาตลอดจนข้อเท้าก็มีอัญมณีเช่นกัน พาหนะของพระองค์ คือ หนู ในความหมายว่าเป็นสัตว์ที่เป็นตัวแทนของความมืด ซึ่งพระพิฆเนศวรในอีกทางหนึ่งก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง ผู้ทำลายความมืด หนูเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการทำลายอุปสรรคเครื่องกีดขวางทั้งปวง ในแต่ละคัมภีร์อาจกล่าวถึงพระนามของพระองค์แตกต่างกันไปจนมีพระนามถึง ๒๕ พระนาม เช่น ฆเณศวร คณปติ คณนาท คณกรีฑา คณนายก คชนน ธูมรกะ ทวิเทหก เอกทันตะ สิทธิธาดา มโหทร วักตุณฑ อาขุรถ เหรัมภะ วิกัฎ วินายกหรือวิฆนหารี สิทธิปติหรือสิทธิบดี ลัมโพทร คณปุงควะ รักตตุนท คชวัทน กรีมุข วินฆนราช หรือวิฆเนศวร วิฆนายก และพิฆเนศวร แต่พระนามที่รู้จักกันในภาคใต้กลับเรียกว่า “พระคเณศ” ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ได้อธิบายว่า เป็นเทพที่ถือกำเนิดค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับเทพองค์อื่นๆ ในศาสนาพราหมณ์ เพราะเพิ่งได้รับการยกย่องเป็นเทพในลัทธิไศวนิกายในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๐ นี้เอง แต่พระคเณศกลับกลายเป็นเทพที่ได้รับการนับถือบูชามากที่สุด เนื่องจากพระคเณศเป็นเทพที่สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวง และยังเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาและการประพันธ์ด้วย จึงได้พบรูปเคารพพระคเณศทั่วทุกภาคของอินเดีย และนอกอินเดีย เช่น ในเนปาล ทิเบต ปากีสถาน ชวาบาหลี บอร์เนียว พม่า ไทย เขมร จัมปา จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยปราชญ์อินเดียสันนิษฐานว่า พระคเณศเดิมเป็นเทพพื้นเมืองมาก่อน เพิ่งจะมาได้รับการยกย่องเป็นเทพในศาสนาฮินดู เดิมในคติพื้นเมือง พระคเณศสัมพันธ์กับเทพแห่งแสงอาทิตย์ เพราะพระคเณศมีหนูเป็นพาหนะ เนื่องจากหนูเป็นสัญลักษณ์ของความมืด พระคเณศทรงหนูจึงหมายถึงชัยชนะของแสงอาทิตย์ที่ขจัดความมืดให้สิ้นสุดลงได้ นอกจากนี้ตามคติพื้นเมือง พระคเณศยังได้รับการยกย่องให้เป็น “เทพแห่งการเก็บเกี่ยว” (Lord of the Harvest) และยังได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าของเทพที่มีเศียรเป็นสัตว์ จนกระทั่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าของพวกกึ่งมนุษย์กึ่งเทวดา และเป็นบริวารของพระศิวะ อาศัยอยู่ที่เขาไกรลาศตามคติของศาสนาฮินดู โดยได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งอุปสรรค (Lord of Obstacle) หรือในชื่อพระพิฆเนศวรซึ่งแปลตามรูปศัพท์ว่าอุปสรรค พิฆเนศวร หรือ พระพิฆเนศวร์ จึงเป็นเทพแห่งอุปสรรคและสิ่งกีดขวางทั้งปวง คือสามารถขัดขวางมนุษย์ สัตว์ เทวดา และมารร้ายต่างๆ และในขณะเดียวกันก็สามารถขจัดสิ่งกีดขวางทั้งปวงได้ด้วย

การแพร่กระจายของคติการนับถือบูชาพระคเณศในภาคใต้ของไทย
การรับนับถือพระคเณศในภาคใต้มีความสัมพันธ์ประสมประสานกับการรับนับถือศิวลึงค์ การแพร่กระจายของคตินี้จึงเป็นทำนองเดียวกัน และควบคู่กันมาอย่างแยกไม่ออก ส่วนการบูชานับถือเท่าที่ปรากฏหลักฐานพบว่า มีทั้งปฎิมากรรมพระคเณศขนาดเล็กที่ทำด้วยตะกั่ว ขนาดใหญ่ทำจากสำริด และสลักจากหิน โดยพบจากแหล่งชุมชนโบราณทั้งสองฝั่งทะเล บริเวณฝั่งตะวันออกพบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง ส่วนบริเวณชายฝั่งตะวันตกจะพบในเขตจังหวัดกระบี่และพังงา โดยได้กล่าวรายละเอียดไว้ดังนี้

ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการสำรวจของกรมศิลปากร (ยังไม่มีรายงาน) พบว่าปะติมากรรมศิลาทรายรูปพระคเณศชำรุด ๒ องค์ ในบริเวณเจดีย์วัดแก้ว ส่วนใน นครศรีธรรมราช ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ได้พบประติมากรรมรูปพระคเณศจำนวนหลายองค์ ส่วนใหญ่เป็นสำริด มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มีทั้งหมด ๕ องค์ ๓ องค์ เป็นพระคเณศที่ย้ายมาจากโบสถ์พราหมณ์ อีก ๒ องค์เป็นพระคเณศที่ได้จากเอกชน องค์ที่ ๑ เป็นทองสำริด สูง ๔๖.๕ เซนติเมตร เป็นพระคเณศ ๔ กร ประทับยืนตรง (สมภังค์) บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๒ ชั้นซ้อนกัน องค์พระคเณศสวมกรัณฑมงกุฏ และเครื่องประดับต่างๆ และมีสายยัชโญปวีตพาดพระอังสาซ้าย นุ่งผ้าสมพต (ถกเขมร) กรขวาบนทรงถือขอสับช้าง กรซ้ายบนทรงถือบ่วงบาศ กรล่างขวาทรงถืองา (งาขวาที่หัก) กรซ้ายล่างทรงถือขนมโมทากะ งวงห้อยตรงลงมาแล้ว ตวัดปลายไปทางซ้าย ที่น่าสังเกตคือพระคเณศองค์นี้มีจารึกอยู่บนฐานชั้นล่างทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จารึกด้านหน้าเป็นตัวอักษรทมิฬสมัยใหม่ อ่านได้ว่า มะ-ชหา-ปิ-จิ-เท-ศะ (Ma-Jha-pi-ci-de-sa) ซึ่งแปลได้ว่า “ประเทศอันรุ่งเรืองแห่งมัฌชหาปิ” (มัฌชปาหิต) และด้านหลังเป็นตัวอักษรไทยปัจจุบันอ่านได้ว่า “มหาวิคิเนกสุระ” ซึ่งหมายถึงพระคเณศนั่นเอง สำหรับตัวอักษรทมิฬนั้น อัญชนา จิตสุทธิญาณ (ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกแห่งภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ได้กำหนดอายุว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ แม้ว่าจารึกภาษาทมิฬจะกล่าวถึงราชวงศ์มัฌชปาหิต ซึ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งของชวา ที่รุ่งเรืองขึ้นในชวาภาคตะวันตกในช่วงระหว่างพุทธสตวรรษที่ ๑๙-๒๑ และเป็นราชวงศ์ที่อุปถัมภ์ศาสนาพราหมณ์ก็ตาม แต่รูปแบบของพระคเณศองค์นี้มิได้เหมือนรูปแบบพระคเณศในศิลปะชวาแต่อย่างใด หากแต่รับอิทธิพลรูปแบบจากศิลปะเขมรเป็นส่วนใหญ่ จึงสามารถกำหนดอายุพระคเณศองค์นี้ไว้ในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒) ส่วนการกล่าวถึงราชวงศ์มัฌชปาหิตในจารึกนั้น อาจตีความได้ว่าพราหมณ์ดินแดนภาคใต้ของไทยกลุ่มหนึ่ง คงจะอพยพมาจากชาวตะวันออกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ หรือก่อนหน้านั้น

องค์ที่ ๒ เป็นพระคเณศสำริดขนาดเล็กสูงเพียง ๘ เซนติเมตร ประทับนั่งขัดสมาธิพระบาทขวาทับซ้าย (ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระคเณศในศิลปะเขมร) บนฐานสี่เหลี่ยมที่มีร่องน้ำสรง ใต้ฐานมีรูปหนู (ซึ่งเป็นพาหนะของพระคเณศ) มองเห็นด้านข้างทั้งตัว พระคเณศองค์นี้มี ๔ กร งวงห้อยตรงลงมา ปลายงวงตวัดไปทางซ้าย กรขวาบนทรงถือขอสับช้าง กรซ้ายบนทรงถือบ่วงบาศ กรขวาล่างทรงถืองา (งาขวาที่หัก) กรซ้ายล่างทรงถือขนมโมทากะ จะทรงเครื่องครบทั้งกรัณฑมุกุฏ และเครื่องประดับแบบกษัตริย์ รวมทั้งสายยัชโญปวีต การทำรูปหนูประดับพระคเณศโดยทำเป็นหนูหันด้านข้าง เป็นคตินิยมของพระคเณศในอินเดียใต้ หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไปแล้ว พระคเณศองค์นี้จึงเป็นงานประติมากรรมชิ้นที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบศิลปะอินเดียใต้ผสมผสานกับรูปแบบศิลปะเขมร ซึ่งแผ่เข้ามาในบริเวณนี้ (ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙) อย่างไรก็ตามพระคเณศองค์นี้จะเป็นพระคเณศรุ่นเดียวกับองค์แรก เนื่องจากมีรายละเอียดต่างๆ คล้ายคลึงกัน ต่างกันแต่เพียงท่าประทับนั่งและยืนเท่านั้น ดังนั้นพระคเณศองค์นี้จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ เช่นเดียวกัน

องค์ที่ ๓ เป็นทองสำริดขนาดสูง ๑๙ เซนติเมตรเป็นพระคเณศประทับนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม พระบาทขวาทับซ้าย (ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระคเณศในศิลปะเขมร) มี ๒ กร กรขาวทรงถืองา (งาขวาที่หัก) กรซ้ายทรงถือบ่วงบาศสวมกรัณฑมงกุฏ และเครื่องประดับต่างๆ รวมทั้งสายยัชโญปวีต พระคเณศองค์นี้น่าจะเป็นของใหม่ ทำเลียนแบบพระคเณศรุ่นที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เนื่องจากมีรูปทรงแข็งกระด้าง และลวดลายการตกแต่งก็ทำแบบหยาบๆ

กลุ่มพระคเณศที่ได้มาจากเอกชน
กลุ่มนี้มี ๒ องค์ คือ องค์ที่ ๑ เป็นพระคเณศสำริดสูง ๒๐ เซนติเมตร เดิมเป็นของ นายบุษย์ มณีกฎ เป็นพระคเณศประทับนั่งพระบาทขวาทับซ้าย (ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระคเณศในศิลปะเขมร) บนฐานดอกบัวมี ๔ กร กรขวาล่างทรงถือขอสับช้าง กรล่างซ้ายทรงถือขนมโมทากะ สวมกะบังหน้าแบบศิลปะเขมรแบบมหายาน และสวมเครื่องประดับแบบกษัตริย์และสายยัชโญปวีต พระคเณศองค์นี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙

องค์ที่ ๒ เป็นสำริดเช่นกันแต่เป็นพระคเณศขนาดเล็ก ทรงพาหนะคือหนู สูง ๒ เซนติเมตร กรมศิลปากรซื้อมาจาก ม.จ.ปิยะ ภักดีนาถ เป็นพระคเณศ ๔ กร กรขวาบนทรงถือบ่วง กรล่างทรงถือขนม กรซ้ายบนทรงถือสังข์ กรซ้ายล่างทรงถืองาที่หัก (งาขวาที่หัก) อาจกล่าวได้ว่าพระคเณศทรงหนู เป็นคตินิยมของศิลปะอินเดียในภาคเหนือ แต่หลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไปแล้ว ศิลปะอินเดียใต้ก็นิยมนำเอาหนูซึ่งเป็นพาหนะของพระคเณศมาประดับบัลลังก์ที่ประทับของพระคเณศด้วย พระคเณศองค์นี้สวมเครื่องประดับแบบกษัตริย์และสวมกะบังหน้าซึ่งมีรูปคล้ายคลึงกะบังหน้าของเทพ ในศิลปะเขมรแบบบายน จึงอาจกล่าวกำหนดอายุพระคเณศองค์นี้ว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมศิลาทราย รูปพระคเณศประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย สวมเครื่องทรงแบบกษัตริย์ รวมทั้งสายยัชโญปวีต แต่ชำรุดมาก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้บริเวณระเบียงวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังมีพระคเณศหินทรายอีก ๒ องค์ คือ พระคเณศที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดสวนชัน อำเภอฉวาง และอีกองค์เป็นของเอกชนที่ได้มาจากอำเภอท่าศาลา

ในจังหวัดสงขลา พบประติมากรรมรูปพระคเณศ ๒ องค์ คือ องค์ที่ ๑ เป็นพระคเณศศิลาพบที่อำเภอพังหนุน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา) เป็นพระคเณศประทับนั่งท่ามหาราชลีลาชันพระชานุขวาขึ้น พระบาทซ้ายพาดขวางบนแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความสูง ๓๕ เซนติเมตร มี ๔ กร งาซ้ายหัก (ตามคัมภีร์ว่างาขวาหัก) กรขวาบนทรงถือสังข์ กรซ้ายบนทรงถือบ่วง กรขวาล่างทรงถือวัตถุชิ้นหนึ่งไม่อาจตีความได้ กรซ้ายล่างทรงถือถ้วยใส่ขนมโมทากะ มีงวงตวัดปลายมาทางซ้ายมาจับขนมในกรซ้าย มีสายยัชโญปวีตรูปนาคพระอังสาซ้าย ลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติไม่ตกแต่งเครื่องประดับของกษัตริย์ สวมแต่สร้อยไข่มุกเส้นเดียวรอบพระศอ และรอบพระกร จัดเป็นพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในภาคใต้ของไทย และจากลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติคือไม่มีเครื่องประดับตกแต่ง สวมสายยัชโญปวีตและมีปั้นเหน่งเป็นรูปนาคหรืองู ประทับนั่งท่ามหาราชลีลา ซึ่งจัดเป็นรูปแบบนิยมของพระคเณศอินเดียช่วงสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) แต่เนื่องจากกรขวาบนของพระคเณศองค์นี้ทรงถือสังข์ซึ่งไม่ปรากฏในพระคเณศอินเดียแต่ปรากฏในเขมรสมัยก่อน เมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔) พระคเณศองค์นี้จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ไปแล้ว แต่คงไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทยได้กำหนดอายุของพระคเณศองค์นี้ อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒

องค์ที่ ๒ เป็นพระคเณศสำริดขนาดเล็กสูงประมาณ ๖ เซนติเมตร พบจากบ้าน พังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา) เป็นพระคเณศ ๒ กร ประทับนั่งในท่าที่แปลก คือ คุกพระชานุซ้ายลงกับพื้น และยกพระชานุขวาขึ้น สัญลักษณ์ที่ถือในพระหัตถ์มองไม่ชัดว่าเป็นอะไรกันแน่ เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก พระคเณศองค์นี้จะสามารถสวมกะบังหน้าและพระเครื่องประดับตกแต่งแบบกษัตริย์ สำหรับพระคเณศองค์นี้ นักประวัติศาสตร์ศิลป์กำหนดอายุว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยเปรียบเทียบกะบังหน้าของพระคเณศ ว่าเป็นแบบเดียวกับกะบังหน้าของเทพในศิลปะเขมรแบบบายน

ส่วนในจังหวัดพังงา เป็นพระคเณศที่สลักจากศิลาทราย พบที่บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดอินทราวาส จังหวัดสุราษฏร์ธานี) มีขนาดความสูง ๗๒ เซนติเมตร เป็นพระคเณศ ๔ กร ประทับนั่ง พระบาททั้งสองแยกห่างจากกัน สวมกรัณฑมุกุฏ เครื่องประดับกษัตริย์และสายยัชโญปวีต งาขวาหักไปเหลือแต่งาซ้าย งวงห้อยลงมาแล้วตวัดปลายไปทางขวามือ กรขวาบนทรงถือลูกประคำ กรซ้ายบนทรงถือสัญลักษณ์บางอย่างซึ่งตีความไม่ได้ ส่วนกรขวาล่างทรงถืองาและกรซ้ายล่างทรงถือขนม (๒ กรล่างยกขึ้นในระดับพระอุระ) จากลักษณะทั่วไปคือทรงมงกุฎ (กรัณฑมุกุฏ) และการทำงวงตวัดไปทางขวา จึงอาจนำไปเปรียบได้กับพระคเณศในศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์โจฬะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖) ดังนั้นพระคเณศศิลาองค์นี้จึงเป็นประติมากรรมหินสลักที่รับรูปแบบศิลปะอินเดียใต้มา และเนื่องจากหินทรายที่ใช้สลักพระคเณศองค์นี้เป็นหินที่หาได้ในท้องถิ่น จึงอาจจะเป็นพระคเณศฝีมือพื้นเมืองที่เลียนแบบศิลปะอินเดียใต้ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ดังนั้นพระคเณศองค์นี้จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และพระคเณศองค์นี้น่าจะมีบทบาทเป็นเทพผู้ปกป้องคุ้มครองเด็กๆ ไม่ให้เจ็บป่วยเนื่องจากพบประติมากรรมศิลารูปเทพมารดา (ผู้หญิงอุ้มเด็ก) ในบริเวณเดียวกัน

ในจังหวัดกระบี่ เป็นพระคเณศสำริดขนาดเล็กสูงประมาณ ๖ เซนติเมตร พบที่เกาะเขาหลัก บ้านแหลมกรวด อำเภอเมืองกระบี่ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นพระคเณศ ๔ กร มีลักษณะรูป “โอม” ประดับด้านหน้าและหลัง น่าจะเป็นเครื่องรางที่ไว้ติดตัวผู้เดินทางเพื่อขจัดอุปสรรคต่างๆ

การเปรียบเทียบรูปแบบพระคเณศในภาคใต้ของไทยกับพระคเณศในอินเดียและในเอเชียอาคเนย์
อาจกล่าวได้ว่าคติการบูชาพระคเณศได้แผ่เข้ามายังดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ของไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย สาเหตุที่คติการบูชาพระคเณศแผ่อิทธิพลมายังบริเวณนี้ เนื่องจากดินแดนแถบนี้เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างอินเดียและจีน และพระคเณศเป็นเทพที่พ่อค้าต้องทำการสักการบูชา ด้วยสาเหตุที่เป็นเทพผู้สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวงได้ ทำให้การค้าขายคล่องตัวและประสบความสำเร็จ จึงไม่น่าแปลกที่พระคเณศจะมีบทบาทสำคัญในดินแดนแถบนี้ และนอกจากจะเป็นผู้ขจัดอุปสรรคทั้งปวงแล้ว พระคเณศยังปรากฏเป็นเทพบริวารของพระศิวะ และยังคงมีบทบาทเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองเด็กๆ ไม่ให้เจ็บป่วยอีกด้วย

จากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน ปรากฏประติมากรรมรูปพระคเณศทั้งแบบที่สลักจากหินซึ่งมีขนาดใหญ่ และแบบที่หล่อจากสำริดซึ่งมีขนาดเล็กๆ ในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทย องค์ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นพระคเณศศิลาประทับนั่งมี ๔ กร สูง ๓๕ เซนติเมตร พบที่พังหนุน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทยได้กำหนดอายุไว้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เนื่องจากมีรูปแบบใกล้เคียงพระคเณศในศิลปะอินเดียภาคเหนือสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) พระคเณศองค์นี้นอกจากจะเป็นพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในภาคใต้ของไทยแล้ว ยังจัดได้ว่าเป็นรูปแบบพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนเอเชียอาคเนย์ คือเก่ากว่าพระคเณศในศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครซึ่งพบที่ออกแล้ว (เวียดนามตอนใต้) และพบที่ตวลผักกิน (ประเทศเขมร) และเก่ากว่าพระคเณศรุ่นเก่า ของจัมปาอีกด้วย

นอกจากอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะแล้ว อิทธิพลรูปแบบพระคเณศจากอินเดียใต้ สมัยราชวงศ์โจฬะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖) ก็ปรากฏในดินแดนภาคใต้ของไทยด้วย ดังได้พบประติมากรรมศิลาทรายรูปพระคเณศประทับยื่นมือมี ๔ กร สูง ๗๒ เซนติเมตร ที่บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

จึงกล่าวได้ว่าคาบสมุทรภาคใต้ของไทยได้รับอิทธิพลคติการบูชาพระคเณศ และรูปแบบทางศิลปกรรมรูปพระคเณศโดยตรง จากอินเดียภาคเหนือตั้งแต่สมัยคุปตะ และจากอินเดียภาคใต้ในสมัยโจฬะด้วย และตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อิทธิพลศิลปะเขมรได้แผ่เข้ามายังดินแดนแถบนี้ ดังนั้นประติมากรรม พระคเณศที่พบในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทยในช่วงนี้ส่วนใหญ่จึงรับอิทธิพลรูปแบบพระคเณศในศิลปะเขมร ซึ่งมีลักษณะของตนเองนั่นคือ การทำพระคเณศในท่าประทับนั่งขัดสมาธิราบ โดยให้พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย และจะสวมกะบังหน้าแบบกะบังหน้าของเทพเขมรสมัยบายน จึงสรุปได้ว่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นไป พระคเณศในดินแดนภาคใต้ได้รับรูปแบบศิลปะเขมรสมัยบายน ดังปรากฏประติมากรรมรูปพระคเณศสำริด ขนาดเล็กมี ๒ กร ประทับนั่งและมีความสูงเพียง ๖ เซนติเมตร ที่พังยาง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา) กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และอีกองค์หนึ่ง คือพระคเณศสำริด ๔ กร สูง ๒๐ เซนติเมตร ประทับนั่งขัดสมาธิพระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของพระคเณศในศิลปะเขม

หลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ไปแล้วก็ยังปรากฏประติมากรรมรูปพระคเณศในดินแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมสำริด ๔ กร มีทั้งแบบประทับนั่งและยืน และยังคงสืบต่อรูปแบบพระคเณศแบบเขมรสมัยบายน โดยเฉพาะรูปแบบกะบังหน้าและท่าประทับนั่งขัดสมาธิแบบเฉพาะของเขมร เป็นต้นว่าประติมากรรมสำริด ๒ องค์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช องค์หนึ่งเป็นรูปพระคเณศ ๔ กร ประทับยืนบนแท่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๒ ชั้น ซึ่งด้านหน้าและด้านหลังของแท่นมีจารึกภาษาทมิฬ กำหนดอายุไว้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ อีกองค์หนึ่งเป็นพระคเณศ ๔ กร ประทับนั่งพระบาทขวาทับพระบาทซ้าย (แบบเฉพาะของระคเณศในศิลปะเขมร) ใต้ฐานซึ่งเซาะเป็นร่องรับน้ำสรงเป็นรูปหนู เห็นด้านข้างซึ่งเป็นรูปแบบนิยมของศิลปะอินเดียใต้ หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไปแล้ว และประติมากรรมชิ้นนี้ก็อาจจัดได้ว่ามีรูปแบบคล้ายคลึงกับองค์แรก จึงน่าจะมีอายุใกล้เคียงกันคือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ซึ่งเป็นช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น จากจารึกภาษาทมิฬที่ฐานพระคเณศองค์แรก และจากการนำรูปหนูซึ่งเป็นพาหนะของพระคเณศมาประดับฐาน พระคเณศองค์ที่ ๒ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลอินเดียใต้จากดินแดนทมิฬที่เข้ามาในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒)

การเปรียบเทียบรูปแบบพระคเณศในภาคใต้ของไทยกับพระคเณศในภาคต่างๆ ของไทย
นอกจากในคาบสมุทรภาคใต้ของไทยแล้ว ยังได้พบประติมากรรมรูปพระคเณศในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยอีกด้วย

ภาคตะวันออก ประติมากรรมรูปพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในปรากฏในเขตจังหวัดปราจีนบุรีที่เมืองพระรถ อำเภอศรีมหาโพธิ์ เป็นประติมากรรมศิลาขนาดใหญ่ เป็นรูปพระคเณศประทับยืน ๒ กร แต่ชำรุดมาก แตกออกเป็น ๑๘ ชิ้น กรทั้งสองก็หักออกหมดจนไม่ทราบว่าถืออะไรกันแน่ แต่เนื่องจากมีรูปทรงใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สวมเครื่องประดับตกแต่ง อยู่ในกลุ่มพระคเณศรุ่นเก่าที่รับอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะและน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงศตวรรษที่ ๑๖

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะพบประติมากรรมรูปพระคเณศเป็นจำนวนมากในแถบนี้ เป็นรูปแบบที่รับอิทธิพลศิลปะเขมร มีทั้งที่เป็นประติมากรรมหินสลักลอยตัว และที่เป็นภาพสลักนูน และทับหลังปราสาทหินต่างๆ ที่เป็นประติมากรรมหินสลักลอยตัวที่น่าสนใจมี ๒ องค์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา องค์ที่ ๑ เป็นประติมากรรมศิลาทรายขาวสีเทา สูง ๒๔ เซนติเมตร พบที่ปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพระคเณศประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทซ้ายทับพระบาทขวา มี ๒ กร ไม่มีเครื่องประดับตกแต่งใดๆ หัตถ์ขวาหักไป หัตถ์ซ้ายทรงถือขนม มีงวงตวัดไปจัดขนมที่หัตถ์ซ้าย ได้รับการกำหนดอายุอยู่ในช่วงระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ โดยเปรียบเทียบกับศิลปะเขมรแบบไพรกเมง (พ.ศ.๑๑๗๘-๑๒๔๓) อีกองค์หนึ่งเป็นประติมากรรมศิลาทรายเช่นกัน สูง ๔๗ เซนติเมตร พบที่ปรางค์แถวหน้าองค์กลางของปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพระคเณศประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย (เป็นแบบเฉพาะของศิลปะเขมร) มี ๒ กร สวมกะบังหน้า กรขวาหัก กรซ้ายทรงถือขนมโมทากะ เป็นรูปของพระคเณศในศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ นอกจากประติมากรรมลอยตัวแล้วยังปรากฏเป็นภาพสลักนูนบนหน้าบันและทับหลังปราสาทหินต่างๆ

ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งรับอิทธิพลศิลปะเขมร ส่วนใหญ่จะปรากฏเป็นภาพบริเวณของเทพศิวะในภาพสลักเหล่านั้น

ภาคกลาง มักพบประติมากรรมสำริดรูปพระคเณศขนาดเล็กจำนวนหลายองค์ ส่วนใหญ่เป็นสมบัติของเอกชน มีความสูงประมาณ ๔.๕-๕.๐ เซนติเมตร เป็นต้นว่า พระคเณศที่พบที่วัดกลาง (วัดร้าง) ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมืองนครปฐม ที่จังหวัดนครปฐม และพระคเณศที่พบจากจังหวัดลพบุรี ซึ่งมักทำเป็นพระคเณศ ๔ กร กรซ้ายบนทรงถือตรี กรขวาล่างทรงถืองา และกรซ้ายล่างทรงถือขนมโมทากะ ทรงเครื่องประดับแบบกษัตริย์ครบเครื่อง ประติมากรรมสำริดขนาดเล็กที่พบบริเวณภาคกลางนี้เป็นอิทธิพลศิลปะเขมรที่แผ่เข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ ทั้งสิ้น หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ไปแล้ว คติการบูชาพระคเณศได้รุ่งเรืองขึ้นอีกในบริเวณภาคกลางของไทยในสมัยอยุธยา ดังปรากฏประติมากรรมศิลา จังหวัดอยุธยา ส่วนใหญ่จะปรากฏในรูปของเทพแห่งศิลปวิทยาการ คือถือคัมภีร์และงา นอกจากเป็นประติมากรรมลอยตัวแล้ว ยังปรากฏเป็นภาพเขียนในสมุดไทย ชุดสมุดภาพพระพุทธรูป ๔๘ ปาง ซึ่งมีภาพพระคเณศ ๔ เศียร ๔ กร , เศียรเดียว ๘ กร และเศียรเดียว ๔ กร ในรูป ๔ กร มักทรงถือขอสับช้างในกรขวาบนกรซ้ายบนถือบ่วง กรขวาล่างทรงถืองาและกรซ้ายล่างทรงถือขนมโมทากะ บางภาพแสดงภาพพระคเณศจับช้างไว้ในพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง เป็นช้างตัวเดียวหลายเศียรก็มีหรือช้างหลายตัวก็มี

ในภาคเหนือก็ปรากฏคติการบูชาพระคเณศเช่นกัน แต่ช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ไปแล้ว โดยนับถือเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการเช่นเดียวกับในภาคกลางและสืบต่อคติและรูปแบบมาจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบพระคเณศที่พบในภาคใต้ของไทยกับภาคอื่นๆ แล้ว ปรากฏว่าคติการนับถือพระคเณศและรูปแบบพระคเณศที่ปรากฏในภาคใต้นั้นเก่าแก่กว่าภาคอื่นๆ จึงสรุปได้ว่าคติการบูชาพระคเณศได้แผ่จากอินเดียโดยตรงและมารุ่งเรืองอยู่ในดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ของไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ดังได้พบพระคเณศศิลาที่อำเภอพังหนุน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา (แม้ว่าจะพบพระคเณศรุ่นเก่า ๑ องค์ ที่เมืองพระรถ อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี แต่ก็ไม่มีพัฒนาการคติการบูชาพระคเณศที่ต่อเนื่อง) แล้วในดินแดนภาคใต้ของไทยยังได้รับอิทธิพลรูปแบบพระคเณศจากอินเดียใต้ สมัยราชวงศ์โจฬะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖) อีกด้วย ดังได้พบพระคเณศศิลาทรายที่บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และเมื่ออิทธิพลศิลปะเขมรได้แผ่เข้ามายังดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และเข้าไปในภาคกลางบางส่วนนั้น อิทธิพลศิลปะเขมรดังกล่าวได้แผ่เข้ามายังดินแดนภาคใต้ของไทยด้วย ดังได้พบประติมากรรมรูปพระคเณศแบบศิลปะเขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ของไทย แต่ในภาคใต้ของไทยนั้น ดูเหมือนจะรับอิทธิพลศิลปะเขมรช้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง คือหลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไปแล้ว พระคเณศในภาคใต้ของไทยได้เลียนแบบเทพเขมรสมัยบายนโดยเฉพาะลักษณะกะบังหน้า ส่วนท่านั่งขัดสมาธิแบบเขมร (พระบาทขวาทับพระบาทซ้ายนั้นก็จัดเป็นแบบที่นิยมมากของพระคเณศภาคใต้ช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไปแล้ว และดูเหมือนว่ากะบังหน้าแบบบายนและท่านั่งขัดสมาธิแบบพิเศษของเขมรจะให้อิทธิพลต่อรูปแบบพระคเณศในภาคใต้ของไทยจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ซึ่งเป็นช่วงสมัยอยุธยาทีเดียว)

ถึงแม้ว่าคติการบูชาพระคเณศจะแผ่เข้ามาในดินแดนภาคใต้ของไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ และรุ่งเรืองสืบต่อมาโดยไม่ขาดช่วงจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ก็ตาม ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีลัทธิการบูชาพระคเณศที่เรียกว่าลัทธิคาณปัตยะ ซึ่งรุ่งเรืองในอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๕ นั้น มาปรากฏในดินแดนภาคใต้ของไทย เนื่องจากลัทธิคาณปัตยะเป็นลัทธิที่บูชาพระคเณศเป็นเทพสูงสุดเหนือเทพอื่นใด และยังบูชาศิวลึงค์ของพระคเณศด้วย แต่คติการบูชาพระคเณศในภาคใต้ของไทยนั้น จัดเป็นคติบูชาพระคเณศในฐานะที่เป็นเทพแห่งอุปสรรค ผู้สามารถขจัดอุปสรรคให้แก่พวกพ่อค้าชาวฮินดูที่เดินทางเข้ามาค้าขายยังบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทย และในช่วงต่อมาเมื่อมีชุมชนพราหมณ์มาตั้งถิ่นฐานถาวรในดินแดนภาคใต้ ชุมชนพราหมณ์เหล่านี้ก็บูชาพระคเณศทั้งในฐานะเทพบริวาร (พระโอรสของพระศิวะ) และในฐานะเทพผู้ขจัดอุปสรรคและประสิทธิ์ประสาทความสำเร็จแก่ผู้บูชาทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดๆ ก็ตาม และเนื่องจากในดินแดนภาคใต้มีชุมชนพราหมณ์มาอาศัยอยู่ต่อเนื่องกันตลอด จึงปรากฏประติมากรรมรูปพระคเณศในศาสนาพราหมณ์ติดต่อกันมาจนถึงสมัยอยุธยา นอกจากนี้คติการบูชาพระคเณศในฐานะผู้ปกป้องคุ้มครองเด็กไม่ให้เจ็บป่วยก็คงปรากฏในดินแดนภาคใต้นี้ด้วย เนื่องจากได้พบประติมากรรมศิลารูปเทพมารดา (ผู้หญิงอุ้มเด็ก) ในบริเวณบ้านทุ่งตึก จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับที่ได้พบประติมากรรมศิลารูปพระคเณศ ๔ กรด้วย

ในปัจจุบันแม้ว่าไม่มีพราหมณ์เหลืออยู่แต่คติความเชื่อของพราหมณ์ยังคงได้รับการถ่ายทอดและสืบสานต่อมาในหลายสาขาอาชีพและกลุ่มชน พิธีกรรมอย่างพราหมณ์แม้จะยากและซับซ้อนสำหรับคนปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นอุปสรรคในการนับถือบูชาต่อองค์เทพพระองค์นี้ จากการศึกษาข้อมูลในพื้นที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พบว่าผู้ที่บูชาจะใช้คาถาบูชาพระคเณศ เป็นภาษาบาลี ซึ่งมีแตกต่างกันไป สั้นบ้างยาวบ้างตามแต่จะจดจำบอกเล่ากันมา โดยมีพระภิกษุและผู้สูงอายุหลายท่านที่มีความสามารถในเรื่องการให้คำแนะนำในการบูชา และทำให้เป็นที่มาของการดำรงอยู่ของคติความเชื่อดังกล่าวนี้ โดยในส่วนของผู้นับถือ ต่างมุ่งหวังให้เป็นมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ในเรื่องของการประกอบอาชีพ การทำมาหากิน และการลงทุนในด้านต่างๆ

พระพิฆเนศวรกับพื้นที่ทางสังคมในนครศรีธรรมราช
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการดำรงอยู่ของคติความเชื่อ และการนับถือพระคเณศที่ฝังรากลึกอยู่ในนครศรีธรรมราช ได้มีปรากฏการณ์ผ่านปัจเจกบุคคลประเภทต่างๆ อันนำไปสู่การแสดงตัวตนทางสังคมในฐานะต่างๆกันทั้งที่เป็นไปโดยเปิดเผย และที่เป็นไปโดยไม่เปิดเผยโดยผู้ศึกษาได้ทำการสำรวจ สังเกต และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องพบว่ามีดังนี้

๑. พระสงฆ์ ในฐานะผู้เป็นเจ้าพิธีกรรม และผู้บูชาส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์รุ่นอายุ ๘๐ ขึ้นไป ส่วนพระสงฆ์รุ่นใหม่บางรูปรู้จัก แต่บางรูปไม่รู้จักเลย โดยบางรูปบอกว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตำนานความเชื่อ ที่ไม่ควรไปหลงงมงายโดยเชื่อว่าการเคารพบูชาดังกล่าว เป็นเรื่องของอวิชาที่ควรได้รับการขจัดออกไปจากสังคม ในยุคของความเจริญก้าวหน้าทางด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี

๒. คนแก่และผู้อาวุโสโดยทั่วไปทราบและเข้าใจในคติความเชื่อดังกล่าว แต่ไม่เคยทำการบูชาเลย โดยส่วนใหญ่บอกว่าต้องไปถามพระ หรือไปถามหมอยาหรือหมอพื้นบ้านที่เคยรู้จัก แต่เมื่อไปสอบถามคนเหล่านั้นกลับได้รับคำตอบว่าเป็นเรื่องของพวกพราหมณ์ ปัจจุบันไม่มีแล้ว และแนะนำว่าอย่าไปเคารพบูชาโดยที่ไม่เข้าใจจะเป็นเสนียดจังไรแก่ตน การเคารพบูชาต้องกระทำโดยหลักของเวทย์มนต์คาถาที่ยากแก่การจดจำ และมีขั้นตอนการนำไปใช้ที่ซับซ้อน

๓. ศิลปินพื้นบ้าน พบว่าศิลปินพื้นบ้านโดยทั่วไปจะรู้จักดี เพียงแต่ไม่เคยเข้าถึงโดยการนับถือบูชาอย่างจริงจัง โดยบอกว่าเพียงแต่ได้เอ่ยพระนามถึงในฐานะที่เป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการ และการแสดง ส่วนนายหนังตะลุงเชื่อว่า เป็นองค์เทพที่สำคัญและแม้ไม่ได้ออกพระนามบูชาเป็นบทกลอน แต่ก็ได้เอ่ยพระนาม เพื่อขอพรให้มีความสำเร็จเจริญรุ่งเรืองในการแสดงในแต่ละคืน และบางคนมีรูปบูชาไว้ที่หิ้งบูชาที่บ้านด้วย และมีบางคณะที่วาดรูปพระพิฆเนศวรไว้ที่ตรงกลางของฉากบน (ฉากที่อยู่เหนือจอหนังเพื่อเขียนชื่อของคณะ ส่วนฉากล่างใช้เป็นพื้นที่โฆษณาของผู้สนับสนุน) สำหรับนายโรงโนราห์ส่วนใหญ่รู้จักดีแต่บอกว่าไม่ได้ทำพิธีการบูชาแต่อย่างใด สำหรับเพลงบอกก็เช่นเดียวกัน ส่วนบรรดาลูกคู่ทั้งของหนังตะลุง มโนราห์ และเพลงบอกส่วนใหญ่บอกว่าไม่เคยได้ทำพิธีบูชาเลย คือเป็นเรื่องยากและเป็นหน้าที่ของหัวหน้าคณะเท่านั้น

๔. ร้านค้าในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ร้านค้าโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จักเทพองค์นี้ และไม่เคยทราบตำนานหรือประวัติเลย โดยทราบและบูชานางกวักเป็นเทพประจำร้าน และเท่าที่สังเกตเห็นก็เป็นจริงดังคำตอบ แต่จะมีปรากฏในร้านจำหน่ายพระพุทธรูป ร้านขายของเก่าบางร้านที่นำออกมาวางโชว์เพื่อจำหน่าย เมื่อถามถึงการนับถือบูชาเจ้าของร้านบอกให้ไปถามคนแก่ๆ รุ่นคุณตาคุณยายเพราะเคยได้ยินการกล่าวถึงในความศักดิ์สิทธิ์ และบางคนแนะนำให้ไปสอบถามจากชมรมพระเครื่องในวัดวังตะวันตก และเมื่อไปสอบถามที่ชมรมพระเครื่อง พบว่าเจ้าของแผงพระเครื่องรู้จักดีแต่สำหรับการนำไปเคารพบูชาให้ไปถามพระสงฆ์ เพราะพวกเขาบอกว่าเขามีความชำนาญทางด้านการดูเนื้อพระ หรือรูปปั้นเพื่อหาค่าของความเก่าแก่ ว่าเป็นของแท้ของจริงเพื่อการคำควณราคามากว่าการทำพิธีกรรม

และเมื่อตระเวนไปยังอำเภออื่นๆ โดยรอบมีอำเภอพระพรหม ลานสกา ท่าศาลา ปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร และเฉลิมพระเกียรติ ก็พบสภาพการณ์เช่นเดียวกันซึ่งพอประมาณได้ว่า ความเชื่อและพิธีกรรมการบูชาต่อองค์พระพิฆเนศวร น่าจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่ได้เป็นจารีตแบบแผนโดยทั่วไป

๕. สถานที่ราชการ บริษัทเอกชน และธนาคาร ไม่ปรากฏร่องรอยของการมีรูปปั้นของพระพิฆเนศวรไว้บูชา เห็นเพียงหิ้งพระหรือโต๊ะหมู่บูชาในห้องสำนักงานของหัวหน้าหรือผู้จัดการ ซึ่งมีพระพุทธรูปและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่เท่านั้น มีบางแห่งจะมีการบูชาพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย โดยจัดสถานที่ไว้ในลักษณะของหิ้งบูชาและทรงอยู่ในที่สูงกว่าโต๊ะหมู่บูชา

๖. วัด วัดบางวัดเห็นมีรูปปั้นวางอยู่ในลักษณะที่รวมอยู่กับพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ที่บริเวณฐานของพระประธานในโบสถ์ หรือโรงธรรมศาลาหรือบริเวณหน้าระเบียงหรือในกุฎเจ้าอาวาสและไม่ได้เป็นที่สนใจของบรรดาพระสงฆ์หรือศิษย์วัด เมื่อสอบถามก็จะบอกให้ถามเจ้าอาวาสอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะได้รับคำตอบที่หลากหลายดังได้กล่าวแล้ว

๗. โรงเรียน/วิทยาลัย การเข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศในโรงเรียน และวิทยาลัยต่างๆ ภายในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พบว่า พระพิฆเนศวร ในความหมายของนักเรียน เข้าใจว่าคือพระอิศวร เมื่อสอบถามจากครูและผู้บริหารโรงเรียนโดยทั่วไป ก็ได้ทราบว่าเป็นเรื่องตำนานและโบราณไปแล้ว และไม่สามารถออกความเห็นอะไรได้เพราะไม่มีข้อมูล ฉะนั้นพระพิฆเนศวรในสายตาของคนเหล่านั้นจึงกลายเป็นความเป็นอื่นไปแล้ว

สำหรับในวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช เป็นสถานศึกษาแห่งเดียวที่คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์และคนงานภารโรงรู้จักพระพิฆเนศวร มีความคุ้นเคยกับชื่อนี้ และพอทราบรายละเอียดบางประการ เนื่องจากว่าภายในวิทยาลัยมีรูปปูนปั้นที่จำลองขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของสถาบัน และทุกๆ ปี ในวันไหว้ครูประจำปีจะมีการจัดพิธีกรรมเซ่นบวงสรวง โดยนำดอกไม้หรือมาลัยพร้อมเครื่องเซ่นไปถวาย ภาพเหล่านี้อาจเป็นความเคยชิน ที่ได้เห็นแต่ส่วนใหญ่มองเห็นในฐานะผู้ดู ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติพิธีกรรม โดยนักนักศึกษาทั่วไปเห็นว่าเป็นรูปเคารพที่น่ากลัวและน่าเกรงขาม แต่บางคนได้ให้ข้อมูลว่า มีความมั่นใจถ้าหากได้นำพวงมาลัยไปสวมก่อนที่จะสอบ หรือก่อนที่จะไปทำการแสดงนาฏศิลป์นอกสถานศึกษา

กล่าวโดยสรุปแล้ว พื้นที่ทางสังคมของพระพิฆเนศวรไม่ได้มีความกว้างขวางอย่างที่คาดการณ์ไว้แต่แรก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่ากาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนวิธีคิดของคนในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป จนไม่ได้เหลือรากเหง้าแห่งพราหมณ์นครศรีธรรมราชอีกเลย หรืออีกประการหนึ่งก็คือพื้นที่ของพระพิฆเนศวรที่จะดำรงความเป็นเทพอยู่ได้ก็เป็นเพียงในความคิดคำนึงของปัจเจกชนบางคน และอาชีพบางอาชีพเท่านั้น ซึ่งน่าจะพิจารณาต่อไป ว่าในบรรดาคนเหล่านั้นมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านความเชื่อต่อไปอย่างไร และดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างไร ถ้ามองในแง่ของทฤษฎีเกี่ยวกับแนวคิดการปะทะสังสรรค์ทางสังคม (Social Interaction) การที่สังคมของพราหมณ์-ฮินดูได้เข้ามาถ่ายทอดแนวความคิดของตนสู่สังคมชาวพุทธตั้งแต่ในครั้งอดีตนั้น ได้เกิดการสนองตอบ (Response) ซึ่งกันและกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม โดยผ่านพฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ ที่เกิดจากการปะทะสังสรรค์ของสมาชิกทั้งสองสังคม แต่เมื่อพฤติกรรมของสมาชิกได้รับการยอมรับซึ่งกันและกันแล้วก็จะกลายเป็นจารีตของสังคม โดยแยกไม่ออกว่าจารีตนั้นมาจากสังคมส่วนใด ซึ่งถ้ามองในอีกแง่หนึ่งจะสอดคล้องกับแนวคิดในเรื่องการปรับตัว (Adaptation) เช่นที่ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล กล่าวไว้ว่า มนุษย์ใช้กระบวนการปรับตัว เป็นกลไกของการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ที่ช่วยให้อยู่รอดได้ในแทบทุกสภาพภูมิศาสตร์ ดังนั้นวัฒนธรรมที่ต่างแบบกันอันเป็นผลมาจากการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของเทคโนโลยีทางการผลิตที่แตกต่างกัน

การกล่าวถึงการปรับตัวนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดผสมผสานกันของทฤษฎีวิวัฒนาการแนวใหม่ (Evolutionism) กับแนวคิดที่โต้กับทฤษฎีวิวัฒนาการแนวใหม่ ล่าวคือแม้ว่าการปรับตัวที่ดีหมายถึงการเพิ่มขีดความสามารถของโอกาสในการดำรงอยู่ ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวต้องนำมาสู่ความก้าวหน้าในความซับซ้อนทางสังคมและวัฒนธรรม โดยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง สังคมใดมีกลไกในการปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็นำไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้นไปสู่สังคมใหม่ แต่เส้นทางการวิวัฒนาการมีหลายเส้นทาง การวิวัฒนาการอาจมิได้มีความซับซ้อนเสมอไป และความซับซ้อนกับความก้าวหน้ามิใช่สิ่งเดียวกัน กรณีของการเกิดสงคราม การเกิดไหม้ การเกิดน้ำท่วมใหญ่ หรือการเกิดภูเขาไฟระเบิด การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเห็นได้ชัดเจนจากการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัฐกาลที่ ๕ และการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๗ ทำให้วัฒนธรรมพราหมณ์ในประเทศไทยอ่อนตัวลง และเกิดการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไปสู่ความซับซ้อนที่ก้าวหน้าขึ้น แต่ต้องเกิดการปะทะสังสรรค์ครั้งใหม่กับวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็วอีกครั้ง เป็นลักษณะอย่างนี้ต่อไปอีก จนมาถึงการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน ที่ทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศวร ลดระดับลงไปเป็นความเชื่อของคนจำนวนน้อย และมีฐานะเป็นแค่เพียงพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลเท่านั้นเอง

แต่ถ้าหากมองในแง่ของการบูรณาการทางวัฒนธรรม (Cultural Integration ) ซึ่งเป็นการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรม โดยไม่มีความพยายามที่จะครอบงำกัน โดยเน้นการยอมรับของรัฐ จะมองเห็นว่าวัฒนธรรมพราหมณ์ไม่ได้ถูกปฏิเสธโดยรัฐ แต่ในทางปฏิบัติ รัฐมีความจำเป็นในอันที่จะในการที่จะจำกัดพื้นที่ทางสังคมให้แคบลง โดยการประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในขณะเดียวกันก็ประกาศอุปถัมภ์ศาสนาอื่นๆ อย่างเสมอภาคแต่ในทางปฏิบัติย่อมเสมอภาคได้ยาก วัฒนธรรมพราหมณ์ถูกยกย่อง แต่ต้องถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในชุมชนที่ใกล้รัฐ เพื่อให้มีความสะดวกต่อการปกครองอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต โดยลดความสำคัญพิธีกรรมตามแบบวัฒนธรรมพราหมณ์ในหัวเมืองต่างๆ แต่ก็ไม่ได้จำกัดสิทธิของประชาชนในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ

เราสามารถมองเห็นความเป็นจริงเกี่ยวกับพื้นที่ทางสังคมของพระพิฆเนศวรได้ โดยผ่านทฤษฎีการบูรณาการทางวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อกระบวนการทางวัฒนธรรมพราหมณ์ถูกทำให้สั้นลงไป ก็เท่ากับว่าเป็นการโดดเดี๋ยวจำกัดไม่ให้เครือข่ายกว้างไกลออกไปอีก ก็เท่ากับว่าผลักดันไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างใหม่ ที่เรียกว่าการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (Cultural Assimilation) คือปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน คือ พุทธ ผี และพราหมณ์ มาพบกัน แล้วมีความสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง มีการหยิบยืมแลกเปลี่ยนกัน และในที่สุดต่างฝ่ายต่างก็รับเอาวัฒนธรรมของอีกฝ่ายมาเป็นของตนเองอย่างแยกไม่ออก จนเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้น ซึ่งไม่มีร่องรอยของวัฒนธรรมเดิมหลงเหลืออยู่เลย แต่ในความเป็นจริงแล้วในสังคมโลก ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้ทั้งหมดที่คนจากทั้งสองวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจะเกิดการกลืนกลายทางวัฒนธรรมได้อย่างแนบสนิท โดยไม่มีการแย่งพื้นที่กัน การที่พื้นที่ของพระพิฆเนศวรถูกจำกัดลง แต่ก็ถูกทดแทนโดยการให้ความเสมอภาคในการนับถือ การประกอบพิธีกรรม จึงเท่ากับว่ารัฐได้เปิดพื้นที่ใหม่ให้ด้วยในขณะเดียวกัน เพียงแต่ว่าสภาพแวดล้อมทางสังคมในขณะนั้น หรือแม้ในขณะนี้ มีความเหมาะสมเพียงไรเท่านั้นเอง คำตอบทั้งหมดอยู่ในตัวของปัจเจกชน ที่อาจมีวันใดวันหนึ่งที่เขาคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนจำเป็นต้องพึ่งบารมีของพระพิฆเนศวร วันนั้นจะเป็นปรากฏความเชื่อของคนหรือความเชื่อของกลุ่มคนเหล่านั้นจะกลับมาอีก โดยผ่านทางพฤติกรรม หรือจริต แล้วอาจจะวิวัฒนาการไปเป็นจารีตอย่างใหม่ หรือวัฒนธรรมใหม่อีกครั้งหนึ่ง

บรรณานุกรม
ตรี อมาตยกุล. “นครศรีธรรมราชสมัยอยุธยา” นครศรีธรรมราชในอดีต หน้า 37 - 47
กวี กาญจนาภา,บรรณาธิการ กรุงเทพมหานคร : กรุงสยามการพิมพ์, 2525.
ผาสุข อินทราวุธ. “พระคเณศ : ที่พบในภาคใต้”
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้. เล่ม 10 ( 2542) : 4863 - 4875.
พุทธทาสภิกขุ. คู่มือมนุษย์ (บันไดขั้นแรกของการศึกษาพระพุทธศาสนา)กรุงเทพมหา นคร : สำนักพิมพ์การพิมพ์พระนคร, 2516.
เวทย์ วรวิทย์. เขาอ้อวิทยาลัยไสยเวทแห่งสยาม. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ร่มฟ้าสยาม, 2544.
สนิท สมัครการ. วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์,2534.
อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. แนวคิดพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม. เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543.
อมรา พงศาพิชญ์. วัฒนธรรมศาสนาและชาติพันธุ์:วิเคราะห์สังคมไทยแนวมนุษยวิทยา กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538.
อรชุน กุรุนนท์. พระพิฆเณศวร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร:ศักดิ์ชัยการพิมพ์,2545

สถิตย์ ทองวิจิตร

ทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง : พิธีกรรม ภูมิปัญญา วิธีคิด วิถีชีวิตท้องถิ่น

บทนำ
ความเชื่อ สำหรับสังคมไทยเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน และมีความผูกพันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะความเชื่อต่าง ๆ ได้ถูกส่งผ่านสืบทอดต่อ ๆ กันมาจากบรรพบุรุษจนถึงคนรุ่นหลัง เกิดการผลิตซ้ำความเชื่อจนกลายเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของสังคมไทย

ดังนั้นปรากฏการณ์ของประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ล้วนแล้วเกิดขึ้นมาจากความเชื่อแทบทั้งสิ้น การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางก็เช่นเดียวกัน เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ฝังแน่นอยู่ในกลุ่มชาวเรือ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรือในทุกพื้นที่ แม้ว่าพิธีกรรมในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่พิธีกรรมเหล่านี้ก็มีจุดมุ่งหมายที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือเป็นการแสดงถึงความกตัญญูรู้คุณต่อเรื่อที่ต้องใช้ในการประกอบอาชีพ และใช้สัญจรไปมา และสร้างความเชื่อมั่นขึ้นในจิตใจของผู้ที่เป็นเจ้าของ หรือผู้เกี่ยวข้องกับเรือว่าจะได้รับการปกปักรักษาให้ปลอดภัยในการใช้เรือเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ

ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะความเชื่อ และพิธีกรรมตามความเชื่อเรื่องแม่ย่านางในเขตลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้เรือ นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยจะนำเสนอถึงเรื่องความเชื่อ พิธีกรรม และการผลิตซ้ำความเชื่อที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เป็นพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่ม และมีแม่น้ำลำคลองหลายสาย โดยมีแม่น้ำปากพนังเป็นแม่น้ำสายหลัก และมีลำคลองสาขาจำนวน ๑๑๙ สาย รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณกว่า ๗๐๐ กิโลเมตร (ณรงค์ บุญสวยขวัญ. - ๒๕๔๔ วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากการพัฒนาของรัฐในระยะแผนพัฒนาฉบับที่ ๑-๘ โครงการวิจัย เรื่องโครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย : หน้า ๓๐) ดังนั้นวิถีชีวิตชาวลุ่มน้ำปากพนังจึงมีความผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่อดีต ทั้งการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และการสัญจรไปมา ส่งผลให้พื้นที่ในส่วนที่ติดแม่น้ำลำคลองมีกิจกรรมการใช้เรือในลักษณะต่างๆ เช่น ใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพการประมง ซึ่งมีทั้งเรือตังเก เรืออวนลาก เรืออวนรุน และเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก การใช้เรือเพื่อการรับส่งสินค้า การใช้เรือเป็นพาหนะเพื่อการสัญจรไปมาหาสู่กัน รวมทั้งการใช้เรือที่ใช้สำหรับกิจกรรมทางศาสนา คือการลากพระในช่วงเทศกาลออกพรรษา (เดือน ๑๑) หรือแม้กระทั่งการใช้เรือเพรียวเพื่อการแข่งขันประจำปี ของชาวลุ่มน้ำปากพนัง เป็นต้น

แม้เรือเหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกัน แต่ชาวเรือ ชาวประมง ก็มีความเชื่อที่สำคัญร่วมกันอย่างหนึ่ง และมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา นั่นคือความเชื่อเรื่อง "การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง" นั่นเอง

การทำขวัญเรือในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังไม่ได้มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ มากนัก ทั้งในเรื่องของพิธีกรรม และจุดมุ่งหมายในการประกอบพิธีกรรม นั่นคือ การทำขวัญเรือเป็นการแสดงความเคารพและบูชาแม่ย่านางประจำเรือ เพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคล ให้ช่วยคุ้มครองปกป้องดูแลความปลอดภัย และเพื่อการทำมาหากินได้คล่องในกรณีของเรือประมง ถ้าหากเป็นเรืออื่นๆ เช่น เรือเพรียวที่ใช้ในการแข่งขัน ก็จะเป็นการทำพิธีกรรมเพื่อเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจให้แก่ฝีพาย เพื่อจะได้มีชัยชนะ และด้วยความเชื่อที่ว่าหากเรือลำใด "บูชาไม่ดีพลีไม่ถูก" ก็อาจจะประสบกับความโชคร้ายได้ เช่น เรือประสบอุบัติเหตุ การทำมาหากินฝืดเคือง หรือจะลงมือทำอะไรก็ดูจะขัดข้องไปเสียทั้งหมด ดังนั้น การบูชาแม่ย่านางจึงเป็นความเชื่อที่ถูกปลูกฝังถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่แนบแน่นกับวิถีชีวิตของชาวเรือมาอย่างยาวนานถึงปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมาของพิธีทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง
ประวัติความเป็นมาของพิธีบูชาแม่ย่านางเรือมีอยู่หลายกระแส ตามความเชื่อของแต่ละพื้นที่ บางตำนานบอกเล่าไปในเชิงเทพนิยาย บางตำนานก็บอกเล่าไปในทางที่ใกล้เคียงกับโลกของวิทยาศาสตร์ ประวัติความเป็นมาเท่าที่สืบค้นพบ พอจะนำมาเสนอพอสังเขปได้ ดังนี้

กระแสความเชื่อแรกนั้นเล่าว่า คนในสมัยก่อนมีความเชื่อว่า พระอินทร์หรือเทวดาเป็นผู้กำหนดให้มนุษย์มาเกิด เมื่อมนุษย์มีความทุกข์ร้อนใจ ก็จะไปร้องทุกข์กับพระอินทร์บนสวรรค์ หรือไม่ก็ที่ประทับของพระอินทร์จะแข็งกระด้างขึ้นมาเอง แล้วพระอินทร์ก็จะคลายทุกข์ให้ ต่อมาเมื่อมนุษย์ร้องทุกข์ต่อพระอินทร์มากขึ้น พระองค์จึงส่งนางฟ้าให้มาเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อคอยช่วยเหลือปัดเป่าความทุกข์ให้แก่เหล่ามนุษย์แทนพระองค์

นางฟ้าผู้นั้นได้ถือกำเนิดมาเป็นชาวอินเดีย ซึ่งมีความสามารถในการระลึกชาติได้ วันหนึ่งหญิงสาวผู้นั้นได้แล่นเรือท่องเที่ยวไปในแถบมหาสมุทรใกล้ๆ กับเมืองลังกา ขากลับเกิดพายุพัดพาเรือหลงทาง และเกือบอับปาง บรรดาผู้ที่เดินทางมาพร้อมกับนางต่างก็กลัวตาย และขอร้องให้นางอ้อนวอนต่อพระอินทร์ให้ช่วยเหลือ นางจึงได้อ้อนวอนไปยังสวรรค์ พระอินทร์จึงตอบกลับมาโดยมีเงื่อนไขว่าจะช่วยให้ทุกชีวิตปลอดภัย แต่นางต้องยอมแลกชีวิตของนางให้กับเรือ และอาศัยอยู่ในเรือตลอดไป เมื่อนางตกปากรับคำ ทันทีทันใดนั้นลมพายุก็สงบลงพร้อมๆ กับร่างของนางที่หายวับไปพลัน ทุกคนที่เดินทางพร้อมกับนางก็รอดชีวิตและสามารถเดินทางกลับโดยปลอดภัย

ต่อมานางได้มาเข้าฝันให้กับผู้ที่เคยร่วมเดินทางกับนางได้รู้ว่านางเป็นผู้พิทักษ์เรือลำนี้ให้ปลอดภัย และนำโชคมาสู่เรือ จึงขอให้บูชาเซ่นสรวงนาง และนางก็จะคอยช่วยพิทักษ์รักษาเรือลำนี้และลำอื่นๆ ที่บูชานางด้วย นับแต่นั้นมาความเชื่อเรื่องแม่ย่านางประจำเรือก็สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ในอีกกระแสหนึ่งเล่าว่า เดิมทีนั้นการลากเรือประมงลงน้ำนั้นจะต้องใช้เชือกดึงหัวเรือให้เรือขับเคลื่อน และเชือกที่ใช้ดึงหัวเรือจะใช้เถาวัลย์ที่พันต้นตะเคียน ซึ่งเรียกกันว่า "เชือกย่านาง" เมื่อใช้เชือกย่านางดึงหัวเรือบ่อยๆ เข้า จึงเรียกบริเวณหัวเรือเป็น "ย่านาง" นอกจากนั้นแล้วเชื่อกันว่าไม้ที่นำมาทำเรือในในสมัยแรกๆ นั้น มักจะใช้ไม้ตะเคียน ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าไม้ตะเคียนที่นำมาทำเรือนั้นเป็นไม้ที่มีผีตะเคียนสิงสถิตอยู่ เมื่อนำไม้ตะเคียนมาทำเรือ ความเชื่อเรื่องผีนางตะเคียนจึงติดมากับเรือด้วย ซึ่งในการโค่นไม้ตะเคียนมีพิธีกรรมปรากฏในพิธีทำขวัญเรือว่า

"...เมื่อเข้าป่าหาไม้ใกล้ต้นตะเคียนใหญ่ ได้ยินสียงปากเหมือนเสียงคน เมื่อได้ยินให้หวั่นหวาด ขอจงเลือกเอาที่รอยคชสารเข้ามาแทง กิ่งคดโค้งกาฝากจากกาฝากยอดไม้ใกล้ธารา ฝ่ายคชสารลักมันเอาไม้มาทำเรือใหญ่ พบรุกขชาติพระยานางไม้ รุกขชาติจึงให้เอาน้ำพระพุทธมนต์ มารดทั่วทุกคนหมดแล้วเข้าแดนไพร ตามวิถีเอาเพศเกรียงไกร แล้วสมมติคนที่ชื่อนายใจ พร้อมด้วยพวกที่ชำนาญไปด้วยกัน เอามือจับขวานเข้าฟันโค่นต้นไม้ ประหนึ่งเหมือนคนร้องครวญครางสะเทือนดง แล้วฟันฟาดไปทางหรดี เสียงสนั่นป่า แล้วตัดปลายไม้ แล้วจัดเครื่องพิธีกรรมอันจะสังเวยเจ้าพระยานางไม้..." (ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ โลกทรรศน์ไทยภาคใต้,๒๕๒๒ : หน้า ๑๓๖)

แต่ต่อมาการเรียกชื่อผีก็ได้เปลี่ยนจากชื่อของผีตะเคียน ไปเป็นเรียกตามชื่อของเชือกเถาวัลย์ที่ใช้เป็น "ผีย่านาง" หรือ "ผีแม่ย่านาง" แทนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของแม่ย่านางเรืออีกหลายกระแส ตามความเชื่อหรือการบอกเล่าสืบต่อกันมา แต่ไม่ว่าประวัติความเป็นมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม ความเชื่อของแม่ย่านางก็ยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้นในกลุ่มของชาวเรือประมง และชาวเรือประเภทอื่นๆ อย่างสืบเนื่องยาวนาน

การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จะมีการทำขวัญเรืออยู่ ๒ ประเภท คือ เรือประมง และเรือเพรียว สำหรับใช้แข่งขันในงานเทศกาลต่างๆ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อของชาวเรือในพื้นที่นี้ การทำพิธีกรรมทำขวัญเรือในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังส่วนใหญ่นั้นจะมีพระที่เป็นที่นับถือของชุมชน และเป็นผู้ที่เชื่อว่ามีคาถาอาคม และคุณความดีอย่างสูง พระที่ชาวเรือในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมักจะให้เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมอยู่เสมอมาได้แก่ พ่อท่านแช่ม วัดเสาธงทอง, พ่อท่านบัญญัติ วัดคงคาสวัสดิ์, ท่านชัย วัดนาควารี และพ่อท่านรุ่น วัดปากนคร เป็นต้น

สำหรับบททำขวัญเรือในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังนั้นไม่ชัดเจนมากนักแล้วแต่ผู้ที่ดำเนินการทำขวัญเรือ แต่เท่าที่พบบททำขวัญเรือในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่นในจังหวัดชุมพร จะมีบททำขวัญเรือ ดังนี้

"ครั้นได้มหาฤกษ์งามยามดี ข้าจะขอเชิญขวัญ โอ้ว่าขวัญพระย่านางเอ๋ย แม่อย่าได้ออกจากเรือใหญ่ลำนี้ แม่จงได้อยู่สุขเจริญสวัสดิ์ แม่อย่าพลัดพรากไปเที่ยวเล่นสำราญองค์ ชมป่าหิมเวศน์นะแม่ อย่าเที่ยวลดเลี้ยวในรอบเขตหิมวา ขวัญเจ้าแม่เอ๋ยร้องระงมไพร ฟังแต่เสียงเรไรร้อง เจ้าแม่อย่าเชยชมสิ่งใดในกลางดง ชมมัจฉาหมู่ปักษาในไพร พลัดคู่อยู่ในสาคร เจ้าแม่อย่ามัวชม จงรีบมาเถิดขวัญ มาเถิดขวัญ แม่มาแม่ขวัญย่านางเอย..."( ท้วม แสงสุวรรณ อ้างใน โลกทรรศน์ไทยภาคใต้,๒๕๒๒ : หน้า ๑๓๕)

ในที่นี้จะนำเสนอพิธีกรรม ความเชื่อ ในการบูชาแม่ย่านางในพื้นทีปากพนังทั้ง ๒ ประเภท คือ การทำขวัญบูชาแม่ย่านางเรือประมง และเรือเพรียวที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้


การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง : เรือประมง
การประกอบพิธีทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางเรือประมงนั้น เป็นการทำพิธีกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แม่ย่านางเรือช่วยคุ้มครองดูแล และช่วยอำนวยโชคให้ทำมาหากินได้คล่องขึ้น ซึ่งจะมีการทำพิธีทำขวัญเรือใน ๒ รูปแบบคือ

การทำขวัญเรือชุดใหญ่ จะเป็นการทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางในกรณีที่สร้างเรือลำใหม่ หรือการซ่อมใหญ่ของเรือแต่ละลำ เป็นการอัญเชิญแม่ย่านางเพื่อให้มาอยู่กับเรือ มาช่วยปกปักรักษาและให้ทำมาหากินได้คล่อง อุปกรณ์สิ่งของที่ใช้ในการทำขวัญเรือชุดใหญ่ ได้แก่ ปลามีหัวมีหาง, ข้าวปากหม้อ, เหล้า, หมากพลู, ธูปเทียน, ดอกไม้, กล้วย, อ้อย, ขนมถั่ว, ขนมงา, มะพร้าวอ่อน ๑ ผล, เสื้อผ้าผู้หญิง ๑ ชุด และน้ำอบไทย จากนั้นจะมีพิธีกรรมต่างๆ เช่น การเชิญขวัญเรือ การทำพิธีทางศาสนาโดยพระสงฆ์ เป็นต้น
การทำขวัญเรือชุดเล็ก หรือการทำขวัญเรือโดยทั่วไป จะเป็นการทำขวัญเรือในการออกเรือประมงในแต่ละครั้ง ซึ่งจะไม่มีพิธีกรรมอะไรมาก ส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยไต้ก๋งของเรือแต่ละลำเอง วิธีการก็คือ ไต้ก๋งเรือจะทำการกราบไหว้บูชาโดยการตั้งนโม ๓ จบ แล้วก็ไหว้แม่ย่านางให้ช่วยดูแลปกปักรักษา ทำมาหากินได้คล่อง เครื่องเซ่นจะประกอบด้วย หัวหมู, ไก่, ดอกไม้, ธูป ๙ ดอก, ผลไม้, กล้วย, ขนมต้มขาว, ขนมต้มแดง บางครั้งอาจมีเครื่องเซ่นไม่ครบก็ได้ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือขนมต้มขาวและขนมต้มแดง
ในส่วนของการออกเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กที่มีการออกเรือประจำวัน เจ้าของเรือหรือนายท้ายเรือจะกาด (การรำลึกถึง) แม่ย่านางเรือ ในช่วงก่อนออกเรือ และจะกาดตาขุนเลในตอนที่เรือออกไปจนถึงน้ำเขียว หรือทะเลลึกพอที่จะเริ่มหาปลาได้แล้ว เพื่อให้หาปลาได้มากตามความเชื่อของไต้ก๋งหรือนายท้ายเรือนั้นๆ


ในกรณีที่เป็นเรือประมงของชาวมุสลิม อุปกรณ์สิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมก็จะไม่แตกต่างกับของชาวประมงไทยพุทธมากนัก ต่างกันเพียงชาวประมงมุสลิมจะใช้ไก่หรือแพะแทนหมู และไม่ใช้ธูปเทียนในการบูชาแม่ย่านาง ไม่มีการตั้งนโม ซึ่งในการทำพิธีจะใช้ผู้ทำพิธีที่เป็นชาวมุสลิม ชาวประมงมุสลิมในลุ่มน้ำปากพนังส่วนใหญ่จะใช้ผู้ทำพิธีมาจากแถบหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา

มีเรื่องเล่าตามความเชื่อว่า เรือแต่ละลำจะมีแม่ย่านางต่างกัน คือมีแม่ย่านางที่เป็นมุสลิมและแม่ย่านางที่เป็นพุทธ โดยดูได้จากผู้ที่สร้างเรือ ถ้าหากผู้สร้างเรือเป็นมุสลิม แม่ย่านางก็จะเป็นมุสลิมด้วย ถ้าหากผู้สร้างเรือเป็นไทยพุทธแม่ย่านางก็จะเป็นพุทธด้วยเช่นกัน ดังนั้นการตั้งเครื่องเซ่นจะต้องดูด้วยว่า แม่ย่านางประจำเรือเป็นพุทธหรือมุสลิม มิเช่นนั้นอาจเกิดอันตรายหรือภัยพิบัติกับเจ้าของเรือได้หากตั้งเครื่องเซ่นบูชาไม่ถูก ชาวประมงที่ซื้อเรือเก่ามาใช้ เมื่อทำมาหากินไม่คล่องก็จะต้องไปสืบถึงผู้ทำเรือว่าเป็นใคร นับถือศาสนาอะไร จะได้ทราบว่าแม่ย่านางประจำเรือของตนนั้นเป็นอย่างไร จะได้ "เซ่นให้ดี พลีให้ถูก" เพื่อจะได้เกิดโชคลาภแก่เจ้าของเรือ ชาวประมงบางคนเล่าว่า ในบางครั้งจะเห็นแม่ย่านางเรือนั่งอยู่ในลำเรือด้วย ถ้าเมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ณ์เช่นนั้น ชาวเรือประมงจะต้องรีบเซ่นบวงสรวง มิเช่นนั้นอาจเกิดผลร้ายตามมาได้

การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง : เรือเพรียว
ในลุ่มน้ำปากพนังจะมีการแข่งขันเรือเพรียวทุกปีในช่วงเทศกาลออกพรรษา หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า "ประเพณีลากพระเดือน ๑๑" นับเป็นกิจกรรมประเพณีที่มีการสืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน โดยในกิจกรรมประเพณีนี้ จะมีการจัดการแข่งขันเรือเพรียวขึ้นควบคู่อย่างยิ่งใหญ่ทุกปีเช่นเดียวกัน จนมีการเรียกประเพณีนี้กันติดปากว่า "ประเพณีลากพระ-แข่งเรือเพรียว" และมีการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในทุกปีจะมีเรือเพรียวเข้ามาแข่งขันทั้งจากในอำเภอปากพนัง จากต่างอำเภอ และต่างจังหวัด เข้ามาร่วมส่งฝีพายเข้าแข่งขันกันอย่างมากมาย ในลุ่มน้ำปากพนังเองก็มีเรือเพรียวอยู่มากมายหลายลำ ที่สร้างขึ้นและส่งเข้าแข่งขัน ดังนั้นพิธีกรรมทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางก็จะมีขึ้นในเรือเพรียวด้วยเช่นกัน การทำขวัญเรือเพรียวจะมีความแตกต่างจากเรือประมงอยู่บ้างพอสมควร ซึ่งการทำขวัญเรือเพรียวสำหรับการข่งขันนั้น จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อความเป็นสิริมงคลและเรียกขวัญกำลังใจของฝีพายก่อนเข้าแข่งขันเป็นสำคัญ


ขั้นตอนการประกอบพธีกรรมการทำขวัญบูชาแม่ย่านางของเรือเพรียวนั้น ผู้เขียนได้ศึกษาการประกอบพิธีกรรมของเรือชัยสวัสดิ์ เรือเจ้าแม่คงคา และเรือเทพพิชัยสวัสดิ์ ใน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจะมีการประกอบพิธีกรรมกันที่วัดคงคาสวัสดิ์ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช สำหรับการประกอบพิธีกรรมนั้นจะมีขึ้นก่อนวันการแข่งขัน ๑ วัน โดยตอนกลางคืนจะมีการตกแต่งเรือ ตกแต่งไม้พาย ส่วนตัวของลำเรือนั้นในสมัยก่อนจะมีการลงเทียนและน้ำมันมะพร้าว (ลงทั้งลำเฉพาะด้านนอกของลำเรือ) ก่อนลงเทียนจะต้องตากเรือให้แห้งโดยการคว่ำเรือลงบนร้านที่ทำไว้รองรับ การลงเทียนจะใช้เทียนไขใส่ในบาตร ตั้งไฟให้ร้อนแล้วใส่น้ำมันมะพร้าวตามลงไป จากนั้นจึงใช้ผ้าจีวรชุบทาท้องเรือด้านนอกให้ทั่วทั้งลำเรือ ประมาณ ๒ - ๓ ครั้ง ให้ลื่นแวววาว ซึ่งจะช่วยให้เรือเพรียวพายได้คล่องและไม่หนักเกินไป แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้ทำวิธีนี้กันแล้วเพราะค่อนข้างยุ่งยาก แต่จะใช้การทาน้ำมันยูรีเทน หรือน้ำมันแลคเกอร์เคลือบเรือแทน

เมื่อตกแต่งเรือเสร็จแล้วก็จะหามเรือเข้าไปในอุโบสถหรือศาลาทำพิธี โดยให้หัวเรือหันไปทางที่มีแม่น้ำลำคลองอยู่ ถ้าหากไม่มีแม่น้ำลำคลองก็ให้หันหัวเรือไปทางทิศตะวันออก ให้หัวเรือสูงกว่าท้ายเรือเล็กน้อย ขั้นตอนต่อไปก็จะเอาไม้พายตั้งไว้ในลำเรือ โดยสลับซ้าย-ขวา เหมือนกับฝีพายนั่งอยู่ในเรือจริงๆ ใช้เทียนไขปักที่กระทงเรือทุกๆ กระทงเรือ (ที่นั่งฝีพาย) กระทงเรือละ ๑ เล่ม และหัวเรือ-ท้ายเรืออีกอย่างละ ๑ เล่ม กลางลำเรือจะมีร่มฉัตรหรือร่มนาคผูกกับกระทงเรืออยู่ตรงกลางลำเรือ ใช้สายมงคลผูกจากยอดร่มฉัตรดึงไปยังส่วนหัวเรือและท้ายเรือ และที่กระทงกลางลำเรือหรือราวกลางลำจะมีห่อผ้าห่อหนึ่ง ภายในประกอบด้วย ผ้าถุง เสื้อ ผ้าสไบ แป้งหอม เป็นต้น บรรจุอยู่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของใช้ของแม่ย่านาง นำห่อผ้ามาผูกไว้ที่ภูมิกลางลำเรือ เมื่อเตรียมพร้อมทุกอย่างแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ เมื่อพระสงฆ์จะสวดทำวัตรเย็น ประธานในพิธี อาจจะเป็นพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาส หรือจะเป็นฆราวาสก็ได้ จุดธูปเทียนหน้าพระประธานและที่เรือทุกเล่ม จากนั้นประธานฝ่ายสงฆ์ก็จะเริ่มพิธีทางศาสนา โดยเริ่มสวดบทชุมนุมเทวดา เชิญเทวดามาปกปักรักษาคุ้มครองฝีพายและผู้เข้าร่วมพิธี จากนั้นก็จะสวดบทสัคเคฯ เพื่อเซ่นแม่ย่านาง และเพื่อให้แม่ย่านาง (อาจมีเจ้าแม่เภตราเรือ เจ้าแม่สำเภาเรือด้วย) มารับศีลรับพร เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะมีการประพรมน้ำมนต์ให้กับเรือเพรียวและฝีพาย ต่อจากนั้นก็จะใช้แป้งหอม น้ำมันจันทน์ ประพรมที่ตัวเรือเพรียวอีกครั้ง และอาจมีการจุดประทัด เล่นกลองยาว ร้องเพลงประจำเรือ ตลอดจนการไชโยโห่ร้องเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้แก่ฝีพายที่จะลงทำการแข่งขันในวันรุ่งขึ้น

การประกอบพิธีกรรมทำขวัญเรือเพรียวนั้นนอกจากจะเป็นการเรียกขวัญและเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ฝีพายแล้ว ก็จะมีการตกลงชี้แนะในเทคนิคต่างๆ ของการพายเรือแข่งขัน ตลอดจนการตกลงฤกษ์เวลาที่จะเอาเรือลงน้ำ และอาจมีการมอบเสื้อผ้าชุดแข่งขัน มอบเครื่องรางของขลังหรือวัตถุมงคลต่างๆ ซึ่งในบางปีจะมีผ้าประเจียดสำหรับรัดแขน หรือโพกศีรษะ หรือเป็นสายรัดเอว ซึ่งเครื่องรางของขลังเหล่านี้นอกจากจะเป็นการเสริมขวัญและกำลังใจแล้ว นายท้ายเรือชัยสวัสดิ์ (สัมภาษณ์ บดีพล ชูมณี นายท้ายเรือชัยสวัสดิ์ เรือแข่งที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือเพรียวรุ่นเล็ก ในประเพณีลากพระ-แช่งเรือเพรียวของอำเภอปากพนังถึง ๕ สมัย) ได้เล่าว่า ในสมัยก่อนจะมีการเล่นทางไสยศาสตร์กันมากจากคู่แข่ง ดังนั้นจึงต้องมีการทำไว้เพื่อป้องกันตัว เพื่อความปลอดภัยจากการทำอันตรายจากคู่แข่งหรือฝ่ายตรงกันข้ามได้

พิธีกรรม ความเชื่อ กับการสืบสานเพื่อดำรงวิถีชีวิต
จะเห็นได้ว่า พิธีกรรมต่างๆ ในสังคมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หรือสืบต่อกันโดยไร้เหตุผล แต่พิธีกรรมความเชื่อทั้งหลายที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่ได้นั้น ย่อมต้องตอบสนองและสอดคล้องต่อการดำรงวิถีชีวิตของกลุ่มคน ชุมชน สังคม ของผู้มีพิธีกรรมความเชื่อร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมการบวชป่า การบูชาผีปู่ตา การทำขวัญข้าว หรือพิธีกรรมอื่นๆ ก็ย่อมล้วนสนองตอบต่อความสอดคล้องกับวิถีชีวิต การทำมาหากิน และปทัสถานของกลุ่มชุมชน สังคมนั้นๆ ทั้งสิน ซึ่งส่วนใหญ่พิธีกรรมต่างๆ จะเป็นพิธีกรรมความเชื่อที่มาจากฐานทรัพยากรในท้องถิ่นที่ชุมชนใช้ร่วมกันแทบทั้งสิ้น

ในกรณีของการทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางก็เช่นเดียวกัน เป็นการเกิดขึ้นมาจากการใช้ฐานทรัพยากรน้ำร่วมกัน และได้สืบทอดต่อมายังคนรุ่นหลัง โดยพิธีกรรมความเชื่อดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความงมงาย แต่เกิดขึ้นด้วยความฉลาดล้ำลึกของผู้คนในอดีต ที่ส่งผ่านพิธีกรรมความเชื่อสู่คนรุ่นหลังโดยแฝงนัยยะบางอย่างเอาไว้อย่างน่าสนใจ และน่าทึ่ง ในความเฉลี่ยวฉลาดของบรรพบุรุษของเรา

ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวเรือในลุ่มน้ำปากพนังนั้น ได้สะท้อนและแฝงนัยยะสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ คือ การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางในกลุ่มเรือประมงนั้น ถ้ามองให้ลึกซึ้งถึงกลอุบายของคนในยุคก่อนมาสู่ปัจจุบันนั้นจะเห็นได้ว่า การทำพิธีกรรมเหล่านี้นั้นเป็นการสื่อแสดงถึงความเคารพ ความกตัญญูต่อเครื่องมือที่ใช้ในการทำมาหากิน ที่จะต้องดูแลรักษาและถนอมใช้อย่างรู้คุณค่า มีการเซ่นพลีไม่เคยขาด ซึ่งเป็นการตรวจตราความพร้อมของเรือและลูกเรือก่อนออกทะเลอยู่เสมอ เมื่อมีความพร้อมก็สามารถป้องกันอันตรายได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ในการออกเรือประมงโดยเฉพาะประมงขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ลูกเรือจำนวนมาก จะต้องออกทะเลหาปลาเป็นเวลาหลายวัน บางครั้งก็เป็นแรมเดือนท่ามกลางทะเลที่มองไม่เห็นฝั่ง การอยู่ร่วมกันด้วยกำลังใจและความสามัคคีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะต้องใช้ชีวิตกลางทะเล อันอาจจะผจญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยจากความเครียด ความกลัวในจิตใจของลูกเรือ พิธีกรรมและความเชื่อจึงเป็นจุดร่วมกันของผู้ออกเรือ ที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกิดความเชื่อมั่น และความมั่นคงขึ้นในจิตใจ ด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์คือแม่ย่านางเรือจะคอยปกป้องคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง และจะประสบโชคในการออกเรือ ด้วยความเชื่อที่ยึดเหนี่ยวเช่นนี้ ทำให้การออกเรือของชาวประมงประสบความสำเร็จกลับมาแทบทุกครั้ง

ในกรณีของการทำขวัญบูชาแม่ย่านางเรือเพรียวก็เช่นเดียวกัน การประกอบพิธีกรรมส่วนใหญ่มักจะทำกันที่วัด ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยฝีพายทุกคนจะต้องเข้าร่วมพิธีกรรม เมื่อการประกอบพิธีกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ฝีพายทุกคนจะต้องเก็บตัวอยู่ที่วัดห้ามออกนอกวัดโดยเด็ดขาด การทำเช่นนี้นับเป็นอุบายที่สำคัญ เพื่อให้ฝีพายทุกคนได้มีความพร้อมเต็มที่ทั้งร่างกายและจิตใจ กล่าวคือนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ ความฮึกเหิมในการประกอบพิธีกรรมแล้ว การที่ฝีพายต้องนอนอยู่ที่วัดก่อนจะเริ่มการแข่งขันในวันรุ่งขึ้นนั้น จะทำให้ฝีพายไม่ออกไปเที่ยว ไม่ดื่มเครื่องดองของเมา เพื่อจะได้มีพละกำลังที่สมบูรณ์อย่างเต็มที่พร้อมที่จะแข่งขันในวันรุ่งขึ้น นอกจากนั้นในสมัยก่อนมีการแข่งขันกันสูงมาก รวมทั้งมีการพนันขันต่อในการแข่งขันอีกด้วย นอกจากนั้นการแข่งขันในทุกครั้งเป็นเหมือนกับเป็นศักดิ์ศรีของชุมชนที่ฝีพายสังกัดอยู่ ที่จะต้องคว้าชัยชนะให้ได้ การเก็บตัวที่วัดในค่ำคืนก่อนการแข่งขันจึงเป็นการป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับฝีพาย ทั้งอุบัติเหตุ และการประทุษร้ายของคู่ต่อสู้ เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว บรรดาข้อห้ามต่างๆ ในขณะที่ออกเรือก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การห้ามคนมีประจำเดือนลงเรือ การห้ามร่วมเพศบนเรือ การห้ามเล่นบริเวณหัวเรือ การห้ามปัสสาวะรดหัวเรือ และการห้ามนอนคว่ำหน้าในเรือ เหล่านี้ก็แฝงไปด้วยนัยยะของศีลธรรม และกรอบประพฤติปฏิบัติอันเป็นปทัสถานที่สำคัญของสังคมทั้งสิ้น

บทสรุป
พิธีกรรม ความเชื่อ ในเรื่องการทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนว่างมงาย หรือไม่มีเหตุผลตามสายตาของคนทั่วไป แต่การที่พิธีกรรมความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ได้ในสังคมอย่างเหนียวแน่นและยาวนาน ผ่านการถ่ายทอด ผลิตซ้ำสู่คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมต่างๆ เหล่านั้นมีคุณค่า มีความหมายสำหรับกลุ่มชนในสังคมนั้นๆ ถึงแม้พิธีกรรมต่างๆ หรือความเข้าใจในความหมายอันแท้จริงของพิธีกรรมเหล่านี้ จะมีการคลาดเคลื่อน หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามยุคสมัย และสภาพการณ์ของสังคมก็ตามที แต่ก็เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งใดๆ ก็ตาม หากยังคงดำรงอยู่สืบเนื่องได้นานนั้นย่อมต้องผ่านการทดสอบมาอย่างยาวนานว่าสามารถตอบสนองและสอดคล้องวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของชุมชน สังคมนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มชนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หรือเกิดจากความงมงายแต่อย่างใด แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังของพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคล กลุ่มคน ที่ร่วมปฏิบัติตามพิธีกรรมความเชื่อที่ส่งผลต่อการดำรงวิถีชีวิตของเขาเหล่านั้นทั้งสิ้น ความเชื่อที่เกิดขึ้นในสังคมไทยส่วนใหญ่ จึงผูกติดอยู่กับฐานทรัพยากรเชื่อมโยงกับหลักคุณธรรม จริยธรรม และความสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ เพื่อขอความคุ้มครองและสร้างความมั่นคงในระบบการผลิตสืบไป ความเชื่อ ความศรัทธา จึงเป็นกลไกที่สำคัญในการกล่อมเกลาสังคม และการควบคุมดูแลสังคม โดยผ่านพิธีกรรมหรือตำนานต่างๆ ที่ได้รับการเล่าขานสืบสานกันต่อมาหลายชั่วอายุคน ตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และสภาพสังคมของกลุ่มชนนั้นๆ ความเชื่อเหล่านี้จึงมีพลังอำนาจในการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ และเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสมดุลของสภาพสังคมให้ดำเนินไปอย่างปกติสุขนั่นเอง

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูลประกอบการเขียน

คุณบดีพล ชูมณี นักการโรงเรียนสตรีปากพนัง (ผู้ถือท้ายเรือเพรียวและฝึกซ้อมฝีพายเรือชัยสวัสดิ์
คุณอิงกมล ดวงแก้ว ศึกษานิเทศก์ ๖ กองการศึกษา เทศบาลเมืองปากพนัง
คุณเซ่งจิ้น เหมจินดา เจ้าของเรือประมงจิตรลดา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
คุณจริยา มหัทธนันท์ เจ้าของเรือประมง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
คุณมนู มนุษย์ ไต้ก๋งเรือประมงจิตรลดา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
คุณสายัณห์ อุบล เจ้าของเรือประมงพื้นบ้าน ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง
เอกสารอ้างอิง
ณรงค์ บุญสวยขวัญ วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่อง มาจากการพัฒนาของรัฐในระยะแผนพัฒนาฉบับที่ ๑-๘ โครงการวิจัยเรื่องโครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,๒๕๔๔.
พรศักดิ์ พรหมแก้ว "แม่ย่านาง" สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม ๑๓ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ๒๕๔๒.
ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ โลกทรรศน์ไทยภาคใต้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สสงขลา ๒๕๒๒.


ตฤณ สุขนวล