ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Thursday, October 16, 2008

"หามเริน" กับสิ่งที่หายไป



ผมไม่แน่ใจว่าวัฒนธรรมการ “หามเริน” (หรือ หามเรือน) จะเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภาคใต้ หรือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป แต่เนื่องจากผู้เขียนป็นคนใต้ ก็ขอเขียนถึงวัฒนธรมการ “หามเริน” ในทัศนะของชาวปักษ์ใต้ หากว่ามีที่ใดที่วัฒนธรรมเหมือนหรือใกล้เคียงกัน ก็ขอความกรุณาช่วยกันบอกด้วยนะครับ อย่างน้อยจะได้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน

เมื่อพูดถึง “การหามเริน” อาจจะไม่คุ้นนักสำรับภูมิภาคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาคใต้ การหามเรินเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา อย่างยาวนาน เพิ่งมาแปรเปลี่ยนเมื่อตอนที่มีการสร้างบ้านด้วยการใช้ปูน คอนกรีตที่เป็นแบบวัฒนธรรมสมัยใหม่นี่เอง แต่ก็ยังอาจพอมีหลงเหลือให้เห็นบ้างในบางพื้นที่

การหามเริน หรือ การหามเรือน เป็นวิธีการเคลื่อนย้ายบ้านเรือนด้วยการช่วยกันหามจากที่เก่าไปวางไว้ในที่ใหม่โดยไม่ต้องรื้อบ้านออกเป็นส่วน ๆ

การหามเริน จะทำเฉพาะบ้านเรือนที่สร้างด้วยไม้เท่านั้น เนื่องจากการสร้างบ้านเรือนของชาวภาคใต้ในยุคก่อน มักจะนิยมสร้างบ้านที่มีใต้ถุนสูง ด้วยภูมิปัญญาของรุ่นบรรพบุรุษที่เห็นว่าพื้นที่การปลูกสร้างบ้านเรือนนั้นจะต้องสร้างให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ อันเนื่องมาจากภาคใต้มักจะมีปรากฏการณ์น้ำท่วมขังอยู่เสมอ เพราะภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมเป็นไปในลักษณะ “ฝนแปด แดดสี่” ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งหมายถึงสภาพภูมิอากาศในภาคใต้มีเพียง 2 ฤดู คือฤดูฝน กับฤดูร้อน เท่านั้น และช่วงฤดูฝนจะมีระยะยาวนานกว่าคือประมาณ 8 เดือน ในขณะที่ฤดูร้อนเพียง 4 เดือนเท่านั้น

ด้วยภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมานานก่อให้เกิดภูมิปัญญาในการสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านในภาคใต้ที่นิยมสร้างบ้านยกใต้ถุนสูง เพราะสภาพแวดล้อมที่มีน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีฝนตกหนักก็จะเกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลันที่เรียกว่า “น้ำพะ” ซึ่งการยกพื้นสูงจะทำให้น้ำไหลผ่านได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดความเสียหายจากความแรงของน้ำหรือการท่วมบนพื้นบ้าน นอกจากนั้นยังเป็นการป้องกันกำจัดสัตว์แมลงต่าง ๆ ที่มีชุกชุมในหน้าฝน เช่น มด ตะขาบ แมงป่อง งูต่าง ๆ ที่หนีน้ำมา

นอกจากภูมิปัญญาในการสร้างบ้านยกพื้นใต้ถุนสูงแล้วการทำหลังคาที่ค่อนข้างเตี้ยและลาดชันก็เพื่อป้องกันไม่ให้หลังคาต้านลมจนเกินไป และช่วยให้น้ำฝนที่ตกลงบนหลังคาไหลและสะเด็ดน้ำได้เร็ว ช่วยให้หลังคาไม่รั่วซึมและมีอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น ดังนั้นการสร้างบ้านเรือนของชาวภาคใต้จึงเป็นวิถีชีวิตที่มีการพัฒนาและปรับตัวในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสอดคล้องกลมกลืน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกพื้นที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่เสมอ

การยกบ้านเรือนใต้ถุนสูงส่วนใหญ่จะเป็นการหล่อเสาที่เรียกกันว่า “ตีนเสา” หรือ “บาทเสา” ที่ทำด้วยคอนกรีตเป็นฐานของเสาบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้เสาผุพังง่ายเพราะความชื้น รวมทั้งป้องกันปลวกไม่ให้ขึ้นบ้านโดยสะดวก และจะนิยมสร้างบ้านด้วยไม้จริง คือไม้ที่แข็งและอยู่ได้นาน ส่วนใหญ่เป็นไม้ตะเคียน หรือไม้ตะลุมพอ หรือไม้มะค่า การสร้างบ้านเรือนจะสร้างด้วยไม้โดยมีบาทเสาทำด้วยปูนคอนกรีตเป็นส่วนใหญ่ หลังคามักจะสร้างด้วยหลังคากระเบื้องดินเผาจากสทิ้งพระจ.สงขลา หรือหลังคากระเบื้องปูนที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมขนมแยกปูน ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานนับร้อยปีเลยทีเดียว

การสร้างบ้านเรือนจะสร้างบ้านไม้และตั้งอยู่บนตีนเสา ซึ่งในยุคก่อนไม่มีการยึดด้วยอุปกรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะตัวบ้านมีน้ำหนักมากพอที่จะไม่ทำให้บ้านโค่นหรือปลิวเมื่อลมแรง

อย่างไรก็ตามในช่วงอายุหนึ่ง ๆ ของผู้คนแต่ละรุ่นมักมีการเคลื่อนย้ายที่ตั้งบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเพื่อให้เกิดความสะดวกในการคมนาคมสัญจรขึ้น ซึ่งมากหลังปี 2518 ยุค มรว.คึกฤทธิ์ ที่มีการสร้างถนนเงินผัน ทำให้ผู้คนย้ายบ้านเรือนมาสร้างใหม่ที่ใกล้ถนนมากยิ่งขึ้น แต่ทว่า การย้ายบ้านก็ไม่ได้เป็นแบบปัจจุบันที่ไปสร้างบ้านใหม่ หรือรื้อบ้านเดิมไปสร้างใหม่ แต่ชาวบ้านในยุคนั้นนิยมที่จะย้ายบ้านทั้งหลังโดยการ “หามเริน” ไปในที่จะตั้งบ้านใหม่

การหามเริน คือการย้ายบ้านเดิมไปอยู่ในที่ใหม่ โดยไม่ได้ทำลายโครงสร้างบ้านเดิม การย้ายบ้านในลักษณะนี้จะมีการรื้อฝากั้นบ้าน และพื้นบ้านออก เหลือเพียงหลังคาถ้าเป็นหลังคามุงจากหรือสังกะสี แต่ถ้าเป็นหลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องก็จะมีการรื้อกระเบื้องออกด้วยเพื่อลดน้ำหนักและกันการตกแตกเสียหาย

ขั้นตอนการรื้อและย้ายบ้านส่วนใหญ่จะใช้เวลา 2 – 3 วัน คือมีการวางแผนว่าจะรื้อส่วนไหน และส่วนไหนจะคงไว้อย่างเดิม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรื้อฝาผนังบ้านมากว่าส่วนอื่น ๆ และมีการ”ออกปาก” หรือวานให้เพื่อนฝูงมาช่วยกัน ส่วนใหญ่การย้ายบ้านจะมีผู้เข้าร่วมย้ายบ้านประมาณ 30 คนแล้วแต่ขนาดของตัวบ้านที่เคลื่อนย้าย ส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 ผลัด คือ ผลัดแรกจะยกและหามก่อน แต่ผลัดหลังจะเดินตามไปเพื่อ “ผลัดบ่า” การที่จะบอกว่าการย้ายบ้านจะมี 1 หรือ2 ชุด ขึ้นอยู่กับขนาดของบ้านและระยะทางเป็นสำคัญ ถ้าทางไกลเกินกว่า 1 กิโลเมตร ก็มักจะใช้คน 2 ชุด เปลี่ยนกัน เพื่อไม่ให้เกินกำลังผู้ย้าย บางครั้งถ้าบ้านหลังใหญ่มาก็จะใช้ไม้มี่มีความแข็งแรงสอดเข้าใต้ถุนบ้านและผูกไว้อย่างแน่นหนาให้ปลายทั้งสองด้านยื่นออกมาเพื่อให้ผ่อนน้ำหนักและเพิ่มจำนวนผู้แบกหามได้มากขึ้น

วิธีการย้าย บ้านสูงกว่า 1.00 เมตร เอาบ่ารอง และส่งเสียงพร้อมกันเพื่อย้ายบ้านออกจากฐานเดิมคือตีนเสา และเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ เมื่อเดินกำลังก็จะส่งสัญญาณให้ผลัดใหม่เข้าไปเปลี่ยนบ่า หรือผลัดบ่า แล้วเคลื่อนย้ายต่อไปจนถึงที่ตั้ง ที่มีการเตรียม ตีนเสาเอาไว้แล้ว (โดยการวัดไว้ให้มีขนาดเท่ากันกับของเก่า)

เมื่อเคลื่อนย้ายบ้านไปจนถึงที่ตั้งแล้วก็จะยกบ้านขึ้นไว้เหนือตีนเสาที่เตรียมไว้เป็นอันเสร็จสิ้นการหามเริน ส่วนการมุงหลังคา กั้นฝา ปูพื้นนั้น จะเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป หลังจากนั้นก็จะมีการเลี้ยงดูปูเสื่อกันอย่างเต็มที่มีทั้งข้าวปลาอาหาร เหล้ายาปลาปิ้ง ที่เจ้าของบ้านเตรียมไว้บริการ โดยไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างใด เป็นการช่วยเหลือพึ่งพากันในชุมชนที่นับวันจะมีให้เห็นน้อยลงทุกที พวกเราที่เป็นเด็ก ๆ ก็พลอยอิ่มหนำสำราญไปกับข้าวปลาอาหารและขนมหวาน ส่วนใหญ่จะเป็นลอดช่องเขียว หรือลอดช่องสิงคโปร์ ช่างหวานฉ่ำชื่นใจดีแท้



วัฒนธรรมการหามเรินเริ่มหดหายไปเมื่อมีการสร้างบ้านเรือนแบบแบบสมัยใหม่ที่สร้างด้วยปูนและมักสร้างติดพื้นดินไม่มีการยกใต้ถุนสูง เราจึงมักเห็นในช่วงหน้าฝนที่มีน้ำท่วมเข้าบ้านให้ได้รับความเดือดร้อนทุกปี และยังเป็นการกีดขวางทางน้ำทำให้น้ำไหลผ่านไม่สะดวกส่งผลถึงการท่วมขังนานกว่าปกติอีกด้วย

การสร้างบ้านรูปแบบสมัยใหม่จึงไม่ได้คำถึงถึงความสอดคล้องของสภาพแวดล้อมมากไปกว่าความสะดวกสบายและทันสมัยเท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจในภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าก่อนมากพอว่ามีความสำคัญอย่างไร

แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะเป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอเพื่อรับใช้วิธีคิด วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมแต่ละยุคสมัย แต่การหวนคำถึงถึงวิถีเก่า ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับยุคสมัยก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งแทนการรื้อทิ้งสิ่งเก่า ๆ แล้วรับเอาสิ่งที่เป็นสมัยใหม่เข้ามาโดยสิ้นเชิง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงมิใช่หรือ?...


(เขียนจากข้อมูลที่ยังพอจดจำเมื่อครั้งเยาว์วัย และอ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ และภูมิปัญญาทักษิณ ของ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง เพื่อให้งานเขียนมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น)

ครูตรินห์

10 – 11 – 49