
ในสังคมชนบทภาคใต้ ?การเลี้ยงน้ำชา? เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของสังคมชนบท เพราะมันเป็นกิจกรรมร่วมของชุมชนที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนในชุมชน แม้มันจะเทียบไม่ได้งานลีลาส กาลาดินเนอร์ ที่เขาจัดกันเพื่อหาทุนในแวดวงสังคมชั้นสูง จะโดยการบังคับ โดยฐานะตำแหน่งหน้าที่ โดยหน้าตาก็แล้วแต่ หากแต่การเลี้ยงน้ำชามันเป็นเรื่องของ ?น้ำใจ? ที่ทุกคนในชุมชนร่วมกันช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่เกิดปัญหา เกิดความทุกข็ และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทุนรอนในการแก้ปัญหานั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาทุนมาเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย/หนี้สินจากการกระทำของตนเองหรือญาติด้วยเหตุอันจำเป็น รวมทั้งการจัดเลี้ยงน้ำชาเพื่อนำทุนมาช่วยเหลือกิจกรรมส่วนรวมของชุมชน
การได้รับบัตรเล็ก ๆ ที่บรรจุข้อความเพียงไม่กี่ประโยคเพื่อเชิญชวนไปกินเลี้ยงน้ำชาที่บ้านของผู้เชิญชวน (เจ้าภาพ) หรือการบอกด้วยปากเปล่า เป็นภาพที่เห็นอย่างชินตาในชนบท เพื่อนบ้านที่ได้รับบัตรเลี้ยงน้ำชา หรือการบอกปากต่อปากก็จะทยอยกันมายังจุดเลี้ยงน้ำชากันตามวันเวลาที่นัดหมายกันแทบตลอดทั้งวันเพื่อดื่มน้ำชากับข้าวเหนียวปิ้ง หรือเหนียวห่อกล้วย (ข้าวต้มมัด) พร้อมกับเอาเงินใส่ซองหรือใส่กล่องรับบริจาคที่วางไว้ตามฐานะ หรือความสนิทสนมระหว่างผู้ที่ได้รับเชิญกับเจ้าภาพ ถือเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามที่เพื่อนบ้าน หรือญาติพี่น้องตกทุกข์ได้ยาก ไม่มีใครคิดว่าเป็นการบริจาคทานหรือการขอ ที่ทำให้คนที่มาร่วมเดือดร้อนแต่อย่างใด กลับรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญ เพราะไม่แน่ว่าวันหนึ่งเขาเองก็อาจจะต้องขอความช่วยเหลือเช่นนี้ได้เช่นกันในยามจำเป็น ดังนั้นถ้าหากใครไปสอบถามดูก็จะรู้ว่าทุกคนมาด้วยใจ เพื่อที่จะแบ่งปันน้ำใจให้แก่ผู้ที่ทุกข์ยากกว่าในภาวะที่เขาจำเป็นด้วยความสมัครใจ บ้างก็ให้ 10 บาท 20 บาท หรือ 100 บาท ตามกำลังทรัพย์/ฐานะของแต่ละคน บางครั้งคนที่ได้รับเชิญ มีภารกิจที่ไม่สามารถมาร่วมได้ก็ยังฝากซองมาร่วมกิจกรรมด้วย
การมาร่วมกิจกรรมเลี้ยงน้ำชาในแต่ละครั้งนั้นใช่ว่าผู้ที่มาร่วมจะเพียงแค่มาดื่มน้ำชาหรือให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าภาพแค่นั้น แต่ในวงน้ำชาจะมีการจับกลุ่มกันพูดคุยทักถามสารทุกข์สุขดิบ การทำมาหากิน ข่าวสารบ้านเมืองต่าง ๆ เป็นการแลกเปลี่ยนในชุมชนย่อย ๆ ตามความสนใจ การเลี้ยงน้ำชาจึงเป็นเวทีของการเรียนรู้อย่างธรรมชาติบนความสัมพันธ์ที่ดีของผู้คนในสังคมชนบท
ในยุคที่สังคมตัวใครตัวมันเช่นทุกวันนี้ ภาพของการเลี้ยงน้ำชาหาได้ยากขึ้นในสังคมชนบทไทย เพราะความผูกพันและความรู้สึกที่จะเกื้อกูลเหมือนครอบครัวเดียวกันดังแต่ก่อนนั้นเริ่มจางหายลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งสภาพเศรษฐกิจและสังคมในยุคนี้บีบคั้นให้แต่ละคนต้องคำนึงถึงตัวเองเป็นหลัก เป็นสังคมที่แต่ละคนมุ่งเอาตัวรอด สังคมที่มุ่งแสวงหาความได้เปรียบบนความทุกข์ยากของผู้อื่น สภาพสังคมเหล่านี้กำลังรุกคืบเข้ามาในสังคมชนบทอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในชนบทดังกล่าว กิจกรรม การเลี้ยงน้ำชาในชนบทก็ยังคงพอมีให้เห็นอยู่บ้างตามชุมชนรอบนอก การเลี้ยงน้ำชาจึงเป็นการแสดงถึงน้ำใจเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ และยังเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงความผูกพันของคนในชุมชน ที่กำลังจะหาได้ยากยิ่งในสังคมไทยยุคตัวใครตัวมันนี้
นี่จึงนับเป็นปรากฏการณ์เล็ก ๆ ที่งดงาม...
1 comment:
ขอบคุณสำหรับข้อมูลความรู้ค่ะ
Post a Comment