ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Tuesday, October 14, 2008

ฤดูกาล


เมฆเดือนกันยายนตั้งเค้าทะมึนมาแต่ไกล ก่อนที่จะเริ่มโปรยปราย บอกให้รู้ถึงการย่างเข้าสู่ฤดูฝน ชาวนาเริ่มฤดูกาลหว่านกล้าปักดำ

ชาวนาเริ่มฤดูกาลทำนาอีกครั้ง ชาวนายังคงต้องอาศัยน้ำฝนจากการประทานของธรรมชาติในการทำนา ซึ่งไม่รู้จะเพียงพอต่อการทำนาหรือไม่ในยุคที่ธรรมชาติถูกทำให้แปรปรวน จนแทบไม่สามารถจะคาดเดาอะไรได้ ในขณะที่ระบบชลประทานต่าง ๆ ที่มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่รังสรรค์ขึ้นนั้นไม่ได้เอื้อต่อการทำนาได้อย่างราคาคุย

ช่วงฤดูแห่งการทำนาเป็นเสมือนสัญญาณบอกถึงฤดูกาลเป็นหนี้ด้วยเช่นกัน วิถีการผลิตของชาวนาที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาลนี้ประกอบด้วยคำซ้ำซากเพียงไม่กี่คำ นั่นคือ

"กู้เงิน-ทำนา-เป็นหนี้ , ทำนา-ใช้หนี้- ใช้ไม่พอ-เป็นหนี้"

คำเหล่านี้หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา แต่ไม่เคยหลุดจากวงจรของคำดังกล่าวนี้ จนมีคำพูดที่เป็นแทบจะกลายเป็นอมตะไปแล้วว่า ชาวนานั้น...

"ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีมีแต่หนี้กับซัง"



ในท้องทุ่งอันแสนงดงามนี้ ใครเลยจะเชื่อว่ามันเต็มไปด้วยเรื่องราวและความทุกข์ยากอันแสนสาหัสของผู้คนในท้องทุ่ง แม้ภาพภายนอกยังดูยิ้มแย้ม เป็นมิตร อบอุ่น ดังเช่นที่เห็นและคาดว่าจะเห็นในคนชนบทโดยทั่วไป คนนอกที่เข้ามาสัมผัสเพียงผิวเผินจึงมักรู้สึกว่าชาวนา ชาวชนบทไม่มีความเดือดร้อนทุกข์ยาก สามารถพึ่งพิงตนเองได้ อยู่อย่างสมถะ พอเพียง และมีความสุขอย่างน่าอิจฉา แต่ใครเลยจะรู้ถึงสิ่งที่ลึก ๆ ข้างใน

ในท้องทุ่งที่สังคมมุ่งหวังและต้องการให้ผู้คนเหล่านั้นอยู่อย่างสมถะพอเพียงผ่านการโฆษณาและตอกย้ำว่า ชาวนา ชาวชนบทคือผู้ที่ดำรงชีวิตตนเองอยู่อย่างสมถะ พอเพียง และมีความสุขอยู่ในสถานะนั้น จนแทบจะเป็นภาพแทนของผู้คนกลุ่มนี้ไปโดยปริยาย หากเกิดมีใครที่เป็นคนกลุ่มนี้มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างออกไปมักจะถูกมองว่าไม่ใช่ชาวนา คนชนบทที่สมถะอย่างในอุดมคติอย่างแท้จริง ชาวนาเหล่านี้ต้องแบกรับภาพหวังของสังคมภายใต้แรงกดดันของระบบเศรษฐกิจสังคมแห่งความโลภ ทั้ง ๆ ที่บางทีการดำรงอยู่ของชาวนาอาจไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อชาวนาเองอย่างแท้จริง แต่หากเป็นประโยชน์จากผู้กอบโกยภาพลักษณ์และการดำรงอยู่ของชาวนาต่างหาก

ในขณะที่สังคมเรียกร้องอุดมคติแห่งความพอเพียงให้เกิดขึ้นในชุมชนชนบท แต่สังคมใหญ่ก็ไม่ได้สร้างเกราะป้องกันแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอกให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมกระตุ้นการบริโภคในสังคมของชุมชนเมือง โดยลืมมองไปว่าโลกของทั้งสองส่วนไม่ได้แยกออกจากกันหรือปิดกั้นซึ่งกันและกันแต่อย่างใด ยิ่งมีการกระตุ้นการบริโภคแก่สังคมเมืองมากเท่าใด แรงสะท้อนไปสู่สังคมชนบทก็มากยิ่งขึ้นเท่านั้น นี่ไม่ใช่เพียงไม่ส่งเสริมความพอเพียงให้สามารถดำรงอยู่ได้จริง แต่ยังเป็นแรงบีบให้ความพอพียงเป็นแต่เพียงฝันและไม่อาจที่จะเป็นไปได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

ในขณะที่ชาวนาต้องการผลิตธัญญาหารเพื่อเลี้ยงมวลประชากรโลก ไม่มีมาตรการใดจากผู้มีอำนาจ (ซึ่งมักจะเป็นผู้ประดิษฐ์คำ ประดิษฐ์ความฝัน และคำสัญญาให้เป็นที่ชุ่มชื่นใจแก่ชาวนา ชาวชนบท และผู้ยากไร้) ที่จะให้ความคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้มีพระคุณต่อพลโลกเหล่านี้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี จะมีบ้างก็เพียงคำปลอบประโลมที่คล้าย ๆ จะเป็นคำสัญญา หรือบทสวดอ้อนวอนเมื่อต้องการให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือ เมื่อสมหวังดังที่ต้องการแล้วก็มีเพียงเครื่องเซ่นเล็กน้อยพอเป็นพิธีเพื่อเป็นการแก้บนเท่านั้น

การดำรงอยู่ของชาวนามันอาจจะไม่มีมูลค่ามากพอเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมด้านอื่นเมื่อมองในแง่เศรษฐกิจ แต่หากเมื่อย้อนกลับมามองถึงคุณค่าแห่งการดำรงอยู่และการเป็นผู้ผลิตที่เป็นฐานของชีวิตแล้ว นี่คือกลุ่มประชากรและอาชีพที่สำคัญที่สุดของมวลมนุษยชาติเลยทีเดียว แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่เหลียวแล หรือสร้างสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมให้ชาวนาพออยู่ได้ แต่ผู้มีอำนาจกลับเร่งสร้างอภิมหาโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งสนองตอบต่อความต้องการของสังคมเมืองในระบบเศรษฐีนิยม ซึ่งคนในระบบนี้มักได้รับการสรรเสริญว่าเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพของประเทศ เป็นกลุ่มคนที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศและของโลกมีความจำเริญรุ่งเรืองขึ้น ในขณะที่ ชาวนา ชาวไร่ คนยากไร้ ในชนบท และแรงงานชั้นต่ำในสังคมเมืองนั้นยังคงถูกมองเป็นกลุ่มคนที่ด้อยคุณภาพ ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในระบบเศรษฐีนิยมพอที่ส่งเสริมและยกระดับให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับผู้คนในระบบกลไกทางเศรษฐกิจระบบเศรษฐีนิยมนั้นได

แต่ชาวนาเหล่านี้มิใช่หรือคือผู้ที่ผลิตข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของมวลมนุษยชาติ ให้แก่ผู้ที่มีมูลค่าทั้งหลายได้บริโภคกัน หรือว่าคนชั้นพิเศษเหล่านั้นเขาไม่กินข้าวกันแล้ว...

สายฝนเดือนกันยายนโปรยปราย บอกให้รู้ถึงการย่างเข้าสู่ฤดูฝน ชาวนาเริ่มฤดูกาลหว่านกล้าปักดำ วิถีชีวิตที่เคลื่อนไปตามวัฏจักรของชีวิตชาวนา

No comments: