ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Thursday, October 16, 2008

คนขายโลง : ธุรกิจหลังความตาย

"คนทำ(ซื้อ)ไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ(ซื้อ)"

ปริศนาคำทายข้างต้นเป็นปริศนาคำทายที่ชอบนำมาทายกันเล่นๆ ตั้งแต่ครั้งสมัยผู้เขียนเป็นเด็ก ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องก็คือ "โลงศพ" นั่นเอง เพราะคนที่ทำหรือซื้อนั้นเป็นคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ไม่ได้ทำขึ้นหรือซื้อเพื่อใช้เอง แต่เป็นการทำหรือซื้อให้ผู้ตายได้ใช้ใส่ร่างกายที่ไร้ชีวิต ก่อนจะนำไปเผาหรือฝังตามประเพณีความเชื่อของแต่วัฒนธรรมต่อไป โลงศพในอดีตนั้นจะมีลักษณะเรียบง่าย โดยเฉพาะในชนบทแถบลุ่มน้ำปากพนังที่ผู้เขียนเคยใช้ชีวิตอยู่ เมื่อมีใครในหมู่บ้านเสียชีวิตลง ก็จะมีการช่วยเหลือกันในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เรื่องพิธีศพ ทำโลงศพ ช่วยงานศพ จนถึงเผาและเก็บข้าวของที่ใช้ในงานส่งคืนจนหมด จึงถือว่าเสร็จสิ้นภาระหน้าที่ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปจนผู้เขียนเติบใหญ่ขึ้น สิ่งที่เคยเห็นอย่างชินตาในเรื่องการช่วยเหลืองานศพก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องการทำโลงศพ ที่ในปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีเลยในชุมชนที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ หากเมื่อมีใครในชุมชนเสียชีวิต ก็จะเห็นคนมาเสนอขายโลงให้เป็นที่แปลกใจอยู่เสมอ เพราะไม่น่าเชื่อว่าจะมีผู้มาประกอบอาชีพนี้ เพราะความเชื่อ ค่านิยมต่างๆ ที่เคยรับรู้มาว่าโลงเป็นสิ่งอัปมงคล ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรเข้าไปข้องแวะ หรือเอาเข้าไว้ในบ้านโดยเด็ดขาด ดังนั้นเมื่อมีคนขายโลงเป็นธุรกิจ ก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษา เพราะอาชีพคนขายโลงจะว่าไปแล้วก็เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยน่าจะพิสมัยเท่าไหร่นักในสายตาของคนทั่วไป แต่ทำไมมีคนกลุ่มหนึ่งถึงมาประกอบอาชีพขายโลงกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ผู้เขียนจึงอยากจะรู้ว่าธุรกิจการค้าโลงเกิดขึ้นได้อย่างไร และการเกิดขึ้นของธุรกิจร้านขายโลงเหล่านี้ส่งผลต่อสังคมอย่างไร ทั้งนี้เพราะธุรกิจเหล่านี้น่าจะมีความสัมพันธ์อยู่กับพฤติกรรม และความเชื่อของคนในสังคมโดยทั่วไปด้วย

ด้วยความสงสัยใคร่รู้ดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้เข้าไปศึกษาคนขายโลงเพื่อตอบข้อสงสัยที่ผู้เขียนสนใจ โดยเลือกศึกษาร้านขายโลงใหญ่ๆ และตั้งมานานแล้วในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน ๕ ร้าน คือ ร้านอมตะ ร้านอโศก ร้านประสบสุข ร้านสุขคติ และร้านสุขาวดี ร้านทั้งหมดนี้มีสาขาใหญ่ตั้งอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และบางร้านมีสาขาย่อยตามอำเภอต่างๆ อีกหลายสาขา เพื่อศึกษาถึงการเข้าสู่อาชีพคนขายโลงของผู้ประกอบการเหล่านี้ และการดำรงอยู่ของร้านขายโลงที่สัมพันธ์กับพฤติกรรม ความเชื่อของสังคม ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของร้านขายโลง อันจะนำไปสู่ความเข้าใจในธุรกิจประเภทนี้ ทั้งในทางธุรกิจและควมสัมพันธ์กับสังคม

โลงศพ พิธีกรรมและความเชื่อหลังความตาย
โลงศพ (Coffin) มาจากคำภาษากรีก "Kophinos" ซึ่งแปลว่า "ตะกร้า" เนื่องจากชาวซูเมอเรียนโบราณเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ฝังศพคนตายในตะกร้าสานจากกิ่งไม้เล็กๆ ที่ถักร้อยเป็นเปีย ตะกร้าสานซึ่งเป็นต้นแบบของโลงศพนี้ เกิดจากความหวาดกลัวคนตายของคนที่ยังอยู่เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคนในยุโรปตอนเหนือก็มีความกลัวคนตายหรือกลัวผีเช่นเดียวกับคนไทย จึงได้มีมาตรการที่เข้มงวดต่างๆ เพื่อกันคนตายกลับมาหลอกหลอน อาทิ มัดร่างกายและศีรษะติดกับเท้าของคนตาย และเพื่อให้คนตายหาทางกลับบ้านไม่ถูก เส้นทางไปสุสานจะวกไปเวียนมาน่าสับสน ในหลายวัฒนธรรม ญาติพี่น้องจะแบกศพผู้ตายออกจากบ้านทางช่องที่เจาะเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ช่องจะถูกปิดให้เหมือนสภาพเดิมทันทีที่นำศพออกไป แม้ว่าการฝังศพลงในดินลึก ๖ ฟุต น่าจะเป็นการป้องกันที่พอเพียง แต่การบรรจุศพลงในโลงไม้ก่อนฝัง เป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัย (แก่ผู้อยู่) ยิ่งถ้าตอกตะปูฝาโลงด้วยก็จะยิ่งเป็นการดี

โลงศพยุคแรกเริ่มมีตะปูจำนวนมากที่ตอกไว้ นักโบราณคดีลงความเห็นว่า มากเกินกว่าจุดประสงค์ที่จะกันฝาโลงเลื่อนหล่นระหว่างแห่ศพไปยังสุสาน เมื่อหย่อนโลงศพลงในหลุมแล้ว มาตรการขึ้นสุดท้ายคือ การวางก้อนหินใหญ่ลงบนฝาโลงก่อนขุดดินกลบปากหลุม หินก้อนใหญ่นี้เองเป็นต้นกำเนิดของแผ่นหินเหนือหลุมฝังศพ (Tombstone)

ในสมัยต่อมาบรรดาญาติพี่น้องนิยมจารึกข้อความที่แสดงความอาลัยรักต่อผู้ตายลงบนแผ่นหิน และมาเยี่ยมคารวะผู้ตายที่สุสานในโอกาสต่างๆ แต่ก่อนหน้าที่ธรรมเนียมในลักษณะนี้จะมีขึ้น ครอบครัวและบรรดามิตรสหายจะไม่กล้าย่างกรายเข้าไปใกล้หลุมศพผู้ตายเลยแม้แต่น้อย (๑๐๘ ซองคำถาม เล่ม ๓ สำนักพิมพ์ สารคดี, ๒๕๓๗ : ๑๕๘ - ๑๕๙)

ในวัฒนธรรมไทย การใช้โลงเพื่อใส่ศพผู้ตายจะเกิดขึ้นในยุคสมัยใดยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดนัก แต่จากการพูดคุยกับผู้รู้พบว่า ในสมัยก่อนไม่มีการใส่โลงศพแต่ประการใด แต่จะมีการนำศพห่อด้วยเสื่อแล้วนำไปค้างหรือพาดไว้ตามต้นไทร หรือต้นไม้ชนิดอื่นในป่าเปรว (ป่าช้า) เรียกว่า "ทำศพค้าง" เพื่อให้ศพย่อยสลายไปเอง (จากการพูดคุยกับ อ.บุญธรรม เทอดเกียรติชาติ นักวิชาการท้องถิ่นและศิลปินพื้นบ้านนครศรีธรรมราช และ อักขณิช ศรีดารัตน์ มูลนิธิชุมชนไท กรุงเทพฯ ๕ มกราคม ๒๕๔๗, อักขณิช ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในวัฒนธรรมของศาสนาพุทธเดิมก็ไม่มีการใส่โลงศพ แม้แต่ในอินเดีย หรือในทิเบต เขาจะใช้วิธีการหามศพผู้ตายไปไว้บนยอดเขา หรือที่สูงเพื่อให้แร้งกาได้กินซากศพ ดังนั้นวัฒนธรรมการเอาศพใส่โลงจึงน่าจะรับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของศาสนาคริสต์ (ในวัฒนธรรมของฝรั่ง คำว่า "โลงศพ" จะใช้ "หีบศพ" เพราะลักษณะของโลงฝรั่งมีลักษณะฝาเปิดปิดเหมือน "หีบ" ในขณะที่โลงศพของไทยพุทธจะมีลักษณะไม่เหมือนหีบ ทั้งนี้เพราะลักษณะการใช้ที่แตกต่างกัน กล่าวคือในวัฒนธรรมไทยพุทธจะใช้วิธีการเผา ส่วนวัฒนธรรมคริสต์นั้นจะใช้วิธีการฝัง-ผู้เขียน) หรือบางคนก็บอกว่า วัตถุประสงค์ที่ทำศพค้างก็เนื่องจากญาติผู้ตายต้องการเก็บรักษาศพไว้ทำศพแห้งเนื่องจากในช่วงนั้นญาติๆ อาจขาดทุนทรัพย์ หรืออาจตรงกับฤดูทำนาเก็บเกี่ยวข้าวหรืออื่นๆ ไม่มีเวลาจัดการงานศพได้ทันที จึงเก็บศพค้างไว้ทำในฤดูอื่น ที่ว่างจากงานหรือเมื่อมีเงิน (ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ วิถีชีวิตชาวใต้, ๒๕๔๔ หน้า ๒๒๐ - ๒๒๑) ต่อมาเมื่อสังคมมีความเจริญขึ้น การกระทำดังที่กล่าวอาจไม่เหมาะสมกับยุคสมัย ซึ่งจะทำให้ดูอุจาดตาไม่มีอารยธรรม และยังอาจทำให้เกิดการแพร่ของโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย จึงได้มีการนำเอาศพใส่ในสิ่งที่เรียกกันว่าโลงศพ ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบและพิธีกรรมต่างๆ ตามมามากมาย ดังเห็นได้จากพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับโลงศพที่ยังมีอยู่ และได้สืบทอดความเชื่อในการปฏิบัตินั้นมาจนถึงปัจจุบัน

พัฒนาการของโลงศพ
โลงศพที่ใช้อยู่ในหมู่ภาคใต้ที่เป็นชาวไทยพุทธ จะเป็นโลงไม้ที่ต่อขึ้นชั่วคราวเพื่อใช้บรรจุศพ นิยมประดับตกแต่งด้วยกระดาษทอง-เงิน หรือกระดาษสี โดยแกะฉลุเป็นลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม และจะเผาไฟไปพร้อมกับศพ โลงศพที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะมีอยู่ ๓ ชนิด คือ โลงนอน โลงนั่ง และโลงสามส่วน



โลงนอนจะเป็นโลงที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เวลาบรรจุศพจะวางนอนตามความยาวของโลง โลงนั่งฐานเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ทรงสูง ปากผายเล็กน้อย เวลาบรรจุศพจะจัดให้ศพนั่งทรงเข่าพนมมือขึ้น ส่วนโลงสามส่วนจะมีแบบผสมระหว่างโลงนอนกับโลงนั่ง คือฐานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนความยาวน้อยกว่าโลงนอน ทรงเตี้ยกว่าโลงนั่ง ปากผาย เวลาบรรจุศพจะวางครึ่งนั่งครึ่งนอน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พิงเอก" (เอกเขนก) โลงทั้ง ๓ ชนิดนี้ โลงนอนนิยมใช้แพร่หลายมากที่สุด ส่วนโลงนั่งและโลงสามส่วนจะมีใช้เฉพาะบางท้องที่ เช่น อำเภอนาบอน อำเภอทุ่งสง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และในจังหวัดกระบี่ เป็นต้น นิยมใช้กับผู้สูงอายุและผู้มีฐานะดีเท่านั้น โลงศพทั้ง ๓ ชนิดนี้ จะมีองค์ประกอบหลัก ๓ ส่วนเหมือนกันคือ ตัวโลง (บางพื้นที่เรียกว่า "หน่วยไม้") ฐาน และยอด (อุดม หนูทอง "โลงศพ" สารานุกรมวัฒนธรรมไทย : ภาคใต้ เล่ม ๑๔ หน้า ๗๐๓๖) อย่างไรก็ตามในบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะโลงศพแบบนอน ที่เป็นที่แพร่หลายมากที่สุดและมีจำหน่าย/ให้เช่าอยู่ทั่วไป ส่วนโลงนั่งและโลงสามส่วนไม่พบในร้านจำหน่ายโลงศพ และไม่เคยมีการสั่งมาจำหน่ายด้วย

ตัวโลงหรือหน่วยไม้ของโลงนอนจะมีขนาดประมาณ ๑๗๕ x ๙๐ x ๕๐ เซนติเมตร ในอดีตจะทำด้วยไม้กระดานแผ่น ไม้ที่ดีที่สุดคือไม้สะท้อน เพราะไหม้ไฟช้า ส่วนไม้ที่ห้ามนำมาทำโลงศพคือไม้ตะเคียน ในการต่อโลงที่เรียกกันว่า "เข้าหน่วยไม้" นั้นจะต้องประกอบกันให้แน่นสนิท โดยใช้โครงไม้ภายในและตอกไม้กระดานประกบนอก (เพิ่งอ้าง หน้า ๗๐๓๗) ข้างในโลงศพจะใช้ผ้ายางบุโดยรอบ เพื่อป้องกันกลิ่นและน้ำจากน้ำแข็งหรือจากศพไหลออกมา เพราะในสมัยก่อนโดยเฉพาะในชนบทนั้น การรักษาศพโดยใช้วิธีการฉีดยาศพยังไม่แพร่หลายมากนัก ส่วนใหญ่จะใช้น้ำแข็งก้อนใหญ่ใส่ลงไปในโลงศพ เพื่อช่วยรักษาสภาพศพไม่ให้เน่าเปื่อย หรือบางพื้นที่อาจทำด้วยไม้กระดานแผ่นแล้วใช้ชันยารอยต่อต่างๆ ไม่ให้อากาศเข้าไปได้ (ชันชนิดเดียวกับที่ใช้ยาเรือ) และอาจมีการใส่น้ำผึ้งลงไปทางปากโดยใช้ยอดของกล้วยเป็นกรวยกรอกลงไป เพื่อรักษามิให้ศพเน่าเร็วอีกด้วย (สืบพงศ์ ธรรมชาติ วัฒนธรรมในวรรณกรรมมุขปาฐะพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ๒๕๔๓. หน้า ๑๖) เพื่อไม่ให้ศพที่ใส่ในโลงเน่าง่าย ซึ่งการทำโลงแบบนี้ศพจะไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องใช้น้ำแข็งใดๆ ทั้งสิ้น ศพก็จะอยู่ได้โดยไม่เน่าเปื่อย

ในส่วนของฐานโลงนั้นนิยมทำใน ๒ รูปแบบ คือ แบบหนึ่งเรียกว่า "ตีนอยอง" ลักษณะคล้ายพาน คือฐานคว่ำผายลง ปากผายขึ้น แล้วมีกระดานแผ่นกว้างราว ๑๕ เซนติเมตร ตีตรงขึ้นไปทั้งสี่ด้าน เรียกว่า "พนัก" ปูกระดานด้านบนเรียบเสมอ มีวาง ๔ มุม มุมละขาสำหรับวางหน่วยไม้ สำหรับส่วนกลางฐานที่คอดเข้าจะตีด้วยแผ่นกระดานเรียบในแนวตรงเรียกว่า "เอว" รอบเอวทั้งสี่ด้านตีทาบด้วยไม้รูป ๓ เหลี่ยม เรียกว่า "อกไก่" ส่วนฐานทั้งหมดนี้สูงประมาณ ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร ส่วนกว้างยาวขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยไม้ ส่วนฐานอีกแบบหนึ่งเรียกว่า "เครื่องชั้น" ทำเป็นชั้นลดขึ้นไปตามลำดับ มีตั้งแต่ ๓ - ๕ ชั้น ทุกชั้นตีไม้กระดานติดกันทั้งหมด ชั้นล่างสุดใช้ไม้กว้างประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ชั้นถัดๆ ขึ้นมาลดความกว้างลงเรื่อยๆ พองาม



ส่วนของยอดโลงนั้นนิยมทำเป็น ๓ ยอด โดยให้ยอดกลางสูงกว่ายอดข้างราว ๒๐ เซนติเมตร แต่ละยอดทำฐานยอดเป็นซุ้มสี่เหลี่ยม ยอดแหลมวางบนฝาโลงเรียกว่า "ยอดเหม" ส่วนนี้อาจทำลดชั้นก็ได้ ซุ้มนี้บางแห่งทำด้วยไม้กระดาน แต่บางแห่งทำด้วยทางระกำ ความสูงของซุ้มประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ทำด้วยไม้ที่มีน้ำหนักเบา เช่น ไม้นุ่น ไม้ทองหลาง เป็นต้น และทำไว้เป็นการถาวรไม่เผา (อ้างแล้ว หน้า ๗๐๓๗) ในปัจจุบันการทำยอดโลงจะทำกันเฉพาะผู้ที่มีฐานะหรือคนในระดับสูงเท่านั้น ส่วนคนทั่วไปจะไม่ค่อยนิยมทำยอดโลง แต่จะประดับด้วยดอกไม้มากกว่า

พัฒนาการของโลงนั้นจะเริ่มจากการทำโลงด้วยไม้กระดานแผ่นที่ประกอบขึ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งการทำโลงแบบนี้ต้องใช้ช่างที่มีฝีมือชำนาญ และใช้เวลาค่อนข้างมากและยุ่งยากพอสมควร แต่ก็มีข้อดีเพราะว่าในสมัยก่อนยังมีการเผาศพโดยใช้เชิงตะกอน เพราะฉะนั้นการใช้ไม้แผ่นจึงมีข้อดีที่ไหม้ไฟช้า ทำให้ศพที่เผาไม่อุจาดตาเนื่องจากเผาไหม้ไปพร้อมๆ กับโลงศพนั่นเอง ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาที่เผาศพจากเชิงตะกอนมาเป็นเตาเผาศพมากขึ้น ก็มีการพัฒนามาใช้โลงศพที่ทำด้วยไม้อัด ซึ่งทำได้ง่ายและราคาไม่แพง และติดไฟได้ง่าย ประกอบกับไม้กระดานแผ่นค่อนข้างหายาก มีราคาแพง และขั้นตอนการทำยุ่งยาก ทำให้โลงศพจากไม้อัดเป็นที่นิยมมากขึ้น เป็นผลให้โลงไม้กระดานแผ่นค่อยๆ หมดไป

ในส่วนของการตกแต่งโลงศพนั้น ในระยะแรกจะนิยมใช้การประดับตกแต่งด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง โดยการนำมาแกะฉลุเป็นกนกลายต่างๆ เรียกว่า "ดาษขุด" หรือ "กระดาษขุด" โดยช่างฝีมือ โดยทั่วไปการประดับตกแต่งมักอยู่ในแนวเดียวกันคือส่วนฐาน ส่วนตัวโลงจะติดผนังพื้นโลงทั้งสี่ด้านด้วยกระดาษขาวหม่นธรรมดาก่อน แล้วจึงปิดกระดาษขุดทับ (เพิ่งอ้าง หน้า ๗๐๓๘.) ให้สวยงาม

โลงศพดังกล่าวจะมีปรากฏอยู่ทั่วไปในภาคใต้ จะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างก็เพียงชนิดของไม้หรือวัสดุที่ใช้ทำ และลักษณะของการประดับประดาต่างๆ กล่าวคือ ถ้าเป็นคนยากจนหรือคนทั่วไปก็มักจะทำแต่หน่วยไม้หรือตัวโลง แล้วปิดกระดาษทองที่มีลายในตัว หรืออาจจะใช้แผ่นโฟมมาวาดและแกะเป็นรูปลายไทย เขียนชื่อ - สกุล อายุ วัน เดือน ปี ที่เกิดและตาย ไม่มีฐานและยอดประกอบ แต่ถ้าหากผู้ตายเป็นผู้อาวุโส หรือมีฐานะ โลงศพที่ทำขึ้นก็จะมีความวิจิตรพิสดารและงดงามมาก ชาวบ้านมักเรียกโลงประเภทนี้ว่า "โลงทอง" ซึ่งแสดงถึงความพิเศษของโลงที่ใช้ว่าโลงชนิดนี้มักจะใช้กับคนพิเศษเท่านั้น

ต่อมามีการพัฒนามาวัสดุที่ใช้ จากไม้อัดธรรมดามาใช้ไม้ประเภทไม้คีรีบอร์ด หรือไม้อัดโฟเมก้า มาใช้แทนไม้อัดธรรมดามากขึ้น เพราะมีความสวยงามและสามารถตกแต่งได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาตกแต่งลวดลายต่างๆ ที่ประดับประดาโลงให้มีความสวยงามมากขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น การตกแต่งโดยการติดด้วยรูปเทพพนม นางฟ้า กนกลายไทย ที่ปั้นเป็นลายนูนต่ำสำเร็จรูป และต่อมาก็มีการนำแผ่นสติกเกอร์ลวดลายต่างๆ หลากหลายสีมาใช้โดยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสีขาว - สีดำ - สีเงิน - สีทอง อย่างในอดีตเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโดยการนำเอาพรมลายต่างๆ นำมาปิดรอบตัวโลงอีกเป็นการตกแต่งอีกด้วย ( ผู้เขียนเห็นโลงที่ทำลายด้วยพรมเป็นรูปคล้ายๆ มัสยิด จึงถามเจ้าของร้านว่าเป็นโลงของมุสลิมหรือเปล่า แต่เจ้าของร้านบอกว่าไม่ใช่ แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมเป็นรูปอย่างนั้นเพราะเป็นพรมที่ผู้นำมาขายบอกว่าเป็นพรมที่มาจากเกาหลี) ซึ่งพรมที่นำมาปิดโลงนี้จะถูกตัดเป็นส่วนๆ มีขนาดเท่ากับอาสนะของพระ เมื่อเสร็จพิธืศพแล้ว ก่อนจะเผาญาติๆ ผู้ตายก็จะดึงเอาอาสนะออกจากตัวโลงศพ เพื่อนำเอาไปถวายพระต่อไป แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของโลงที่มีการพัฒนาต่อ กันมา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของการบริโภคของสังคม

อย่างไรก็ตามการพัฒนารูปแบบของโลงที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดในนครศรีธรรมราช คือมีการนำเอาโลงปรับอากาศหรือโลงแอร์เข้ามาใช้ โดยการสั่งตรงมาจากกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมานี่เอง (นับจากที่มีโลงศพประเภทนี้เข้ามาใช้อย่างแพร่หลายในนครศรีธรรมราช) โลงแอร์เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว เพราะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ทั้งในรูปแบบของความรู้สึกทันสมัย ความสะดวกในการใช้ ราคาไม่แพง และไม่จำเป็นที่จะต้องฉีดยาศพ ฯ ทำให้ร้านขายโลงแต่ละร้านมีการนำโลงแอร์มาให้บริการกันมากขึ้น ในส่วนของการประดับตกแต่งนั้น นอกจากจะมีการประดับตกแต่งลวดลายภายนอกให้สวยงามแล้ว ภายในโลงศพทั้งแบบธรรมดาและแบบโลงแอร์นั้น ก็ยังมีการตกแต่งให้สวยงามอีกด้วย โดยการใช้ผ้าสีต่างๆ บุและระบายภายในโลงให้มีความสวยงาม นอกจากนั้นยังมีหมอน/เสื่อ ที่จัดไว้อย่างกลมกลืน ดังที่ผู้ประกอบการบอกว่าในเมื่อโลงเป็นเหมือนบ้านหลังสุดท้ายของผู้ตาย ก็ควรจะต้องทำให้สวยที่สุดด้วย เพื่อให้ญาติพี่น้องของผู้ตายพอใจที่จะทำให้ผู้ตายได้มีความสุขสบายเป็นครั้งสุดท้าย

โลงศพ : พิธีกรรมกับความเชื่อ
เนื่องจากพิธีกรรมแห่งการตายของมนุษย์นั้นถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องบุญ กรรม วิญญาณ ตลอดจนชีวิตหลังความตายในโลกนี้และโลกหน้า ดังนั้นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการตายจึงอุดมไปด้วยพิธีกรรมความเชื่อมากมาย การสร้างโลงศพก็เช่นเดียวกัน ในอดีตเราจะพบว่าการสร้างโลงศพ และการนำมาใช้นั้นจะต้องมีวิธีการสร้างตลอดจนพิธีกรรม ความเชื่อ ต่างๆ ดำรงอยู่มากมาย กล่าวคือ โลงศพในยุคก่อนเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก่อนจะนำมาใช้จะต้องมีการทำพิธีเบิกโลงก่อน ซึ่งจะมีพิธีกรรมค่อนข้างมาก โดยในโลงจะต้องทำไม้รอดขวาง ๔ อัน เฝือก (ฟาก) ไม้ไผ่ ๗ ซี่ วางก้นโลง เวลากรองถักเป็น ๓ เปลาะ ห้ามกรองเชือกสลับไปมา ไม้ปากกา ๘ อันเสียบปากโลง เทียน ๘ เล่มติดปากโลงที่ระหว่างไม้ปากกาทั้ง ๘ ช่อง ขันน้ำมนต์ ๑ ขัน แล้วหมอก็จะทำพิธีกรรม ซึ่งในความเชื่อเหล่านี้มันมีปริศนาธรรมแฝงอยู่ว่า ไม้รอด ๔ อัน หมายถึงการข้ามห้วงทั้ง ๔ คือ กาม ภพ ทิฐิ อวิชชา นัยหนึ่งเรียกว่า "ไม้ข้ามเล" หมายถึง โอฆะทั้ง ๔ ที่ขวางกั้นเส้นทางพระนิพพาน ส่วนเฝือกหรือฟาก ๗ ซี่ วางบนไม้รอดถัก ๓ เปลาะนั้น มีปริศนาธรรมว่า ฟาก ๗ ซี่ หมายถึงพระธรรม ๗ คัมภีร์ และเชือก ๓ เปลาะ หมายถึง พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นเครื่องช่วยข้ามพ้นห้วงทั้ง ๔ ไปได้ ที่มีการห้ามกรองเชือกกลับไปกลับมา เพราะไม่ต้องการให้ผู้ตายมาเกี่ยวพันกับโลกอีกนั่นเอง (กลิ่น คงเหมือนเพชร "ปริศนาความเชื่อเบื้องหลังความตาย" ใน วารสารแลใต้ พ.ย.๒๕๔๒ หน้า ๒๐.)


การแห่ศพไปเผาที่อำเภอร่อนพิบูลย์ นครศรีธรรมราช

ในปัจจุบันแม้ว่าพิธีกรรมการเบิกโลงจะแทบสูญหายไปหมดสิ้นแล้ว แต่ความเชื่อในเรื่องการปูฟาก ๗ ซี่ที่ใต้โลงศพก็ยังมีอยู่ ร้านขายโลงบางร้านบอกว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่สั่งโลงมาจากกรุงเทพและไม่ได้ใส่ไม้ ๗ ซี่ไว้ ผู้มาซื้อโลงก็ไม่ซื้อ เลยต้องสั่งให้ใส่ไม้ ๗ ซี่ไว้ด้วย ซึ่งบางแห่งแหล่งผลิตโลงศพไม่มีไม้ไผ่ ก็อาจใช้ไม้ระแนงแทนก็ได้ แต่ไม้ที่ใช้จะต้องเป็นไม้ยาวท่อนเดียวไม่มีการต่อ เพราะเชื่อว่าการต่อไม้ก็หมายถึงจะมีการตายต่อๆ กัน ท่านผู้รู้บางท่านกล่าวว่า ที่เป็นไม้ไผ่ ๗ ซี่ ก็เพราะคนเมื่อตายนั้นได้นอนแค่ไม้ไผ่ ๗ ซี่ ไม่ได้มากไปกว่านั้น หรือดังที่คนโบราณสอนให้เปรียบเทียบ ให้รู้จักปลงอนิจจังว่า ตายไปแล้วเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้นอกจากไม้ฟาก ๗ ซี่ ดังที่เพลงบอกปานบอดก็เคยขับเพลงบอกไว้ว่า "...มีแต่ฟาก ๗ ซี่ สาดผืนหมอนหน่วย ติดไปด้วยกามัย (กาย) น่าใจหาย..." (ปานบอด คือศิลปินพื้นบ้านเพลงบอก ชาวลุ่มน้ำปากพนังผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต อ้างใน ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์,อ้างแล้ว หน้า ๒๕๓.) ซึ่งเป็นการเตือนว่าคนเราเมื่ออยู่ก็อย่าละโมบโลภมาก เมื่อตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ แต่บางท่านบอกว่าเป็นกุศโลบายที่ทำเป็นช่องระบายน้ำหนอง น้ำเหลือง หรือระบายอากาศจากศพนั่นเอง

นอกจากนั้นในสมัยก่อนยังมีการวางบันไดจำลองเล็กๆ บนโลงศพอีกด้วย โดยมีการใช้ไม้ไผ่ซีกเล็กๆ กว้างยาวเท่ากับปากหีบศพวางไว้บนหลังหีบศพ บางแห่งทำเป็น ๓ ขั้น บางแห่งทำ ๔ ขั้น บันได ๓ ขั้นหมายถึงภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ส่วนบันได ๔ ขั้น หมายถึง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือบันไดที่ทุกคนจะต้องเดินไปตามลำดับ บ้างก็ว่าหมายถึง กามภพ รูปภพ อรูปภพ และนิพพาน (กลิ่น คงเหมือนเพชร, อ้างแล้ว หน้า ๒๑ - ๒๒.)

จะเห็นได้ว่าความเชื่อเกี่ยวกับโลงศพนั้นมีความเชื่ออยู่หลายอย่าง โดยไม่นับรวมความเชื่อเรื่องพิธีกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตาย อย่างไรก็ตามความเชื่อเหล่านี้ก็ค่อยๆ ลบเลือนไปตามกาลเวลา แม้จะยังมีอยู่บ้างแต่ก็เป็นไปตามประเพณี หรือสิ่งที่ปฏิบัติตามต่อๆ กันมาโดยไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งถึงความหมายที่ต้องการสื่อแต่อย่างใด แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดการปรับเปลี่ยนความเชื่อใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับโลงศพเข้ามาสู่สังคมปัจจุบันมากขึ้นเช่นกัน ดังเช่นการปรับเปลี่ยนจากความเชื่อในเรื่องของการสั่งสอนธรรมะตามปริศนาธรรม ที่คนรุ่นก่อนได้วางเป็นอุบายไว้ในพิธีกรรมต่างๆ มาเป็นความเชื่อเกี่ยวกับตัวคนมากยิ่งขึ้น ทั้งคนเป็นที่ยังอยู่ และคนที่ตายไปแล้ว เช่น ความเชื่อเรื่องการทำบุญ โดยการบริจาคโลงศพให้กับวัดหรือมูลนิธิต่างๆ นั้นเป็นการสะเดาะเคราะห์และทำบุญต่ออายุให้กับผู้บริจาค ซึ่งเป็นผลให้มีคนบริจาคโลงศพมากขึ้น บางคนจะบริจาคโลงศพเป็นประจำทุกปี โดยการบริจาคเป็นเงิน ใบละ ๓๐๐ - ๕๐๐ บาท (เป็นโลงใบใน) มีบ้างที่มีการบริจาคเป็นโลงแอร์ให้กับวัดนำไปใช้บริการงานศพต่างๆ

นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการใช้โลงในกลุ่มญาติผู้ตายบางส่วนว่า โลงศพเปรียบเสมือนบ้านหลังสุดท้ายของผู้ตาย การใช้โลงไม้ที่เผาไปพร้อมกับศพผู้ตายเลย จะทำให้เขามีที่อยู่ของเขาเองในสัมปรายภพ แต่ถ้าใช้โลงแอร์ซึ่งเช่าเขามา ผู้ตายจะต้องถูกเช่าที่อยู่ในสัมปรายภพด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่า โลงแอร์จะนิยมใช้ในกลุ่มที่มีฐานะปานกลางถึงต่ำ เพราะมีราคาไม่แพงนักคือราคาประมาณ ๕,๐๐๐ บาท ส่วนผู้ที่มีฐานะทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมจะนิยมใช้โลงไม้ ที่มีการตกแต่งสวยงาม มีราคาถึงใบละประมาณกว่าหมื่นบาทเลยทีเดียว ซึ่งในการซื้อโลงส่วนใหญ่จะไม่มีการต่อรองราคา โดยเฉพาะในกลุ่มคนจีน เพราะเขาถือว่าการต่อรองราคาจะเป็นการทำให้มีญาติพี่น้องตายต่อๆ กันไป และบางคนยังให้เงินเพิ่มจากราคาเดิมอีก ๙ บาท หรือ ๑๙ บาท ด้วยความเชื่อว่าให้ผู้ตายสามารถนำไปใช้ได้ และเป็นการต่ออายุของผู้ที่ยังอยู่อีกด้วย (ในโลงศพที่ลูกค้ามาใช้บริการนั้น ทางร้านจะมีหมอน ๑ ใบ เสื่อ ๑ ผืน และกรวยมือสำหรับผู้ตายอันประกอบด้วยดอกไม้ ธูปเทียนและหมากพลู ๑ ชุด ให้ไปพร้อมกับโลงศพด้วย นัยว่าให้ผู้ตายนำไปบูชากราบไหว้พระจุฬามณี อันเป็นพระธาตุเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "เจดีย์สวรรค์") ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า จากเดิมที่เคยเป็นพิธีกรรมความเชื่อ ตอบสนองต่อการสร้างปทัสฐานของสังคมโดยรวม กลับแปรเปลี่ยนมาเป็นพิธีกรรมความเชื่อ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของปัจเจกบุคคลมากขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการร้านขายโลง และผู้จัดทำโลงในปัจจุบันที่ศึกษานั้น ไม่พบว่ามีพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ทั้งนี้เพราะการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบการไม่ได้เข้ามาโดยมีฐานคิดของความเชื่อแต่อย่างใด แต่เข้ามาสู่ธุรกิจโดยการมองเห็นช่องทางการค้า และเห็นว่าการประกอบอาชีพการขายโลงก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ โดยทั่วไป และเขาถือว่าโลงที่ทำมาใช้เป็นโลงที่ทำใหม่และใช้ไม้ใหม่ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรรมแต่อย่างใด ไม่เหมือนในอดีตที่ใช้ไม้โลงเดิมที่เคยใช้แล้ว และไม่ได้เผาไปพร้อมกับผู้ตาย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นฝาโลงเก็บไว้ที่วัดมาทำโลงใหม่ ซึ่งไม้โลงที่เหลือจากการเผาเหล่านี้จะเป็นทรัพย์สมบัติของส่วนรวม ที่ชุมชนจะได้นำมาใช้ประโยชน์ต่อไป แต่ในปัจจุบันการเกิดขึ้นของธุรกิจการขายโลงที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อ ทั้งในเรื่องตัวโลงศพเองและอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ความเชื่อที่เกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับโลงศพจึงค่อยๆ ลดหายลงไป โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ค้าขายกลุ่มนี้ ที่ไม่พบพิธีกรรมความเชื่อใดๆ เกี่ยวกับโลงศพที่จำหน่าย แม้จะมีการคงรูปแบบบางประการของโลงศพแบบดั้งเดิมไว้บ้าง ก็เป็นเพียงแค่การตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคในรูปแบบของการตลาดเท่านั้น จะเห็นได้ว่าในระบบธุรกิจการค้าประเภทนี้ จะแยกขาดออกจากรูปแบบความเชื่อของสังคมซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าไม่ได้ แม้จะไม่ได้มีความเชื่ออยู่ในผู้ประกอบการธุรกิจกีตาม

...................................(หายไปบางส่วน)
...............................
โลงศพ - คนขายโลง : บทบาทฐานะและความสัมพันธ์ในสังคม
การทำโลงในอดีตนั้น เราจะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ของชุมชนที่เกิดขึ้น นั่นคือ เมื่อมีคนในชุมชนเสียชีวิตลง ก็จะมีการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านในชุมชนตามความสามารถที่มี เช่น ใครที่เป็นช่างไม้ก็จะมาช่วยกันทำโลงศพ ใครที่มีฝีมือเรื่องการวาด การขีด การเขียน ก็จะมาช่วยแกะสลักลาย เขียนชื่อสกุล และวันเดือนปีผู้ตาย เป็นต้น ดังนั้นการทำโลงศพในอดีตจึงทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นการทำโลงให้สมบูรณ์บางแห่ง ต้องมีพิธีเปิดปากโลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้รู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัปเหร่อประจำชุมชนนั้นๆ มาช่วยทำพิธีให้ และจะช่วยดูและจัดการงานศพ ตั้งแต่เริ่มต้นจนเผาเสร็จเรียบร้อย แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้คนต้องเร่งรีบกับการทำมาหากิน และการดำเนินชีวิต ดังนั้นเวลาในการมาร่วมพบปะสังสันท์ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเริ่มมีน้อยลง ประกอบกับเริ่มมีกิจการการค้าขายโลงมาอำนวยความสะดวกให้ด้วย จึงทำให้การออกปาก (ไหว้วาน) มาช่วยทำโลงศพน้อยลง ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับโลง เช่น การเบิกโลง การทำบันไดโลง เหล่านี้ จึงลดน้อยลงด้วย การเกิดขึ้นของร้านขายโลงจึงเป็นผลให้สัปเหร่อมืออาชีพเริ่มลดน้อยถอยลง ตามบทบาทหน้าที่ที่มีน้อยลงเช่นกัน (ข้อสังเกตของ อักขณิช ศรีดารัตน์, อดีตพระมหาที่เห็นความเป็นไปของการทำศพในเพศบรรพชิตถึง ๑๘ ปี) สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งในธุรกิจการขายโลงก็คือ ธุรกิจขายโลง เป็นธุรกิจที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายมีความแตกต่างกับธุรกิจชนิดอื่น เพราะธุรกิจการขายโลงนั้นส่วนใหญ่ลูกค้าจะมาตามเส้นสายของญาติ หรือคนที่เคยคุ้นเคย ผู้ที่เคยใช้บริการร้านนั้นๆ เป็นต้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อไม่ได้เป็นไปในรูปของผู้ขายกับลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่มีมิติของความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติหรือเพื่อนบ้านอีกด้วย ทำให้ธุรกิจประเภทนี้มีความแตกต่างในการบริการการขายแตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่น ที่น่าสนใจก็คือการที่ผู้ขาย โดยเฉพาะผู้ขายที่เป็นนายหน้า จะมีการสร้างสัมพันธ์กับว่าที่ลูกค้าได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ เมื่อรู้ว่ามีผู้ป่วยไข้หนัก เขาก็จะเข้าไปสืบเสาะหาญาติแล้วพยายามตีสนิท แสดงความเป็นห่วงเป็นใย และให้ความช่วยเหลือ บริการต่างๆ เสมือนญาติคนหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ขายต้องวิเคราะห์คนไปด้วยว่าในกลุ่มญาติๆ ผู้ป่วยหนักเหล่านั้นใครเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุด ก็จะพยายามเข้าไปตีสนิทกับคนๆ นั้น มากกว่าญาติคนอื่นๆ ดังนั้น การเข้าไปเสนอขายโลงกับญาติผู้ป่วยหนักจึงไม่ใช่การเข้าไปทื่อๆ แต่ต้องใช้ศิลปะการพูดและจิตวิทยาอย่างสูง มีการเข้าไปตีสนิทกันหลายวัน เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต เขาก็จะเข้าไปให้คำแนะนำช่วยเหลือที่ไม่เกินเลยเส้นแห่งศีลธรรม ในการรุกเร้าเอาประโยชน์ในท่ามกลางความเศร้าโศกของญาติๆ แต่เขาจะเข้าไปในภาวะที่ญาติกำลังสับสน วุ่นวาย และโศกเศร้าจากการเสียชีวิต เขาก็จะเข้าไปปลอบประโลมด้วยความห่วงใย หลังจากตีสนิทจนรู้สึกคุ้นเคยมาหลายวัน เช่น "จะกลับกันยังไง... มีรถบรรทุกศพกลับหรือยัง.... ถ้าไม่มีจะช่วยติดต่อรถของคนรู้จักให้ราคาไม่แพง..." หรือ "ไม่ทราบว่าจะเอาโลงศพไปด้วยเลยหรือเปล่า ถ้าจะเอา จะช่วยติดต่อให้ได้ ส่วนเรื่องเงินไม่ต้องห่วง เอาไปก่อนค่อยมาจ่ายทีหลังก็ได้ คนขายรู้จักกันดี..." หรือ "มีโลงใส่แล้วหรือยัง... เดี๋ยวจะช่วยติดต่อคนรู้จักให้ราคาไม่แพง... เอาไปก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินหลังเงินหลังเสร็จงาน..." "....ฯลฯ...."

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นและเห็นอย่างชินตา กับผู้ที่อยู่บริเวณที่พักญาติผู้ป่วย I.C.U และตึกอายุรกรรม เมื่อผู้เสนอขายเหล่านี้คุ้นเคยกับญาติผู้ป่วยอื่นๆ หรือแม้แต่ผู้ป่วยเองที่ป่วยไม่หนักมากนัก ก็จะรู้ว่าเขาเป็นผู้เสนอขายโลง ดังนั้น เมื่อมีผู้ป่วยหนักและกำลังจะเสียชีวิต หรือเสียชีวิตแล้ว ญาติผู้ป่วย หรือผู้ป่วยที่สนิทสนมคุ้นเคยกันก็จะบอกให้ผู้เสนอขายโลงไปติดต่อ ซึ่งนับเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความเอื้ออาทรมากกว่าผลประโยชน์ล้วนๆ จึงทำให้ผู้เสนอขายโลง หรือนายหน้าเหล่านี้ประสบผลสำเร็จในการเสนอขายโลงในที่สุด ถึงแม้ว่าร้านใหญ่ๆ จะไม่อยากให้มีนายหน้าผู้เสนอขายเหล่านี้ เข้าไป "ค้นหาความตาย" ในโรงพยาบาล แต่อยากให้ลูกค้ามีอิสระในการเลือกตามความพอใจของลูกค้า ในขณะที่ทางโรงพยาบาลเอง จะพยายามหาวิธีการที่จะกีดกันนายหน้าเหล่านี้ก็ตาม แต่เขาเหล่านี้ก็ยังสามารถเล็ดลอดเข้าไปเสนอขายสินค้าหลังความตายเขาได้อยู่เสมอ

ความสัมพันธ์อีกประการที่น่าสนใจของผู้ประกอบการร้านขายโลงกับลูกค้าก็คือ การซื้อขายโดยให้เอาไปใช้ก่อน แล้วค่อยจ่ายทีหลังเมื่อเสร็จงาน หรือบางครั้งได้ราคาไม่ครบตามที่เคยตกลงกันไว้ ก็จะถือว่าเป็นการทำบุญ ไม่ได้มีการคาดคั้นมากมายหรือตามเก็บ/ฟ้องร้องแต่ประการใด เพราะผู้ประกอบธุรกิจชนิดนี้ถือว่า การได้มาประกอบอาชีพนี้เป็นการประกอบอาชีพที่ได้บุญ ที่ได้ช่วยคนอื่นอีกด้วย อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบการจะไปร่วมงานศพที่เช่าหรือซื้อโลงศพของร้านตัวเองเท่าที่โอกาสจะอำนวย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางการค้าโดยธรรมชาติอีกด้วย กล่าวคือลูกค้าที่ซื้อหรือเช่าไปจะเห็นความมีน้ำใจของเจ้าของกิจการ และจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ในที่สุดการจัดตกแต่งโลงศพด้วยดอกไม้สด

นอกจากนั้นจะเห็นการสร้างเครือข่ายทางการค้า (connection) กับผู้ประกอบการอื่นๆ ในการบริการลูกค้า เช่น การซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการผลิต การประสานกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลังความตายอื่นๆ เช่น ดอกไม้จันทน์ เต้นท์ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องครัว เครื่องเสียง ของที่ระลึก เป็นต้น วัสอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องเหล่านี้แม้ว่าทางร้านจะไม่มีบริการไว้อย่างครบวงจร แต่ร้านขายโลงก็จะมีเครือข่ายในการที่จะประสานให้บริการแก่ลูกค้าได้ ดังนั้นร้านขายโลงจึงไม่ได้มีความหมายเพียงร้านค้าที่ทำหน้าที่ขายเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำหน้าที่ในการให้บริการ การประสาน แทนลูกค้าอีกด้วย ขณะที่ในอดีตลูกค้าต้องจัดการเองทั้งหมดทุกอย่าง


การจัดตกแต่งโลงศพด้วยดอกไม้สด

ดังนั้นจะพบว่า การเกิดขึ้นของร้านขายโลง เป็นการเกิดขึ้นเพื่อทดแทนการลดถอยของการทำหน้าที่ของชุมชน/สังคม ในเรื่องพิธีกรรมหลังความตาย ร้านขายโลง คนขายโลง ผู้ใช้บริการ และเครือข่ายอื่นๆ เป็นกลไกย่อยๆ ของสังคม ที่มีมิติความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอย่างไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ในโครงสร้างที่ไม่ได้ซับซ้อนมากนักนี้ กลไกต่างๆ ของโครงสร้างเหล่านี้ก็ขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงไป ตามสภาพสังคมที่ดำรงอยู่และขับเคลื่อนไป เป็นการทำหน้าที่ที่รักษาดุลยภาพของโครงสร้างสังคมเล็กๆ นี้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสังคมใหญ่ให้ดำรงอยู่ได้ แม้จะเกิดการขัดแย้งอยู่บ้างในกลไกเล็กๆ นี้ แต่มันก็มีการปรับตัวให้เกิดดุลยภาพสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมเช่นเดียวกัน

ร้านขายโลงจึงสามารถอยู่ได้และยังทำหน้าที่ (function) อยู่ในสังคมตราบเท่าที่สังคมต้องการ การเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวของร้านขายโลงก็เป็นการพยายามที่จะให้ร้านขายโลงยังทำหน้าที่บริการแก่ลูกค้าอยู่ได้ และเมื่อมีวัด มีองค์กรต่างๆ เริ่มเข้ามาทำหน้าที่แทน หรือทำหน้าที่ร่วมกับร้านขายโลงด้วย ก็ทำให้ร้านขายโลงต้องสูญเสียผลประโยชน์ไปเป็นจำนวนมหาศาลเช่นกัน การเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้กลไกการตลาดของร้านขายโลงต้องสะดุด และต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการค้าใหม่โดยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ร้านสามารถดำรงอยู่ได้ ในภาวะที่มีการแข่งขันกันอย่างสูง และบางร้านโดยเฉพาะร้านในตำบล หมู่บ้านต่างๆ เมื่อวัดเข้ามาทำหน้าที่แทน ร้านเหล่านั้นก็ถูกแย่งหน้าที่ไปโดยวัด ทำให้หมดหน้าที่ (dis-function) จนต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

นอกจากจะเห็นการทำหน้าที่ของร้านขายโลงศพแล้ว ยังเห็นการทำหน้าที่ของโลงศพอย่างน่าสนใจ ซึ่งบทบาทหน้าที่ของโลง นอกจากจะเป็นที่ใส่ศพตามประเพณีแล้ว โลงศพยังเป็นตัวแสดงถึงสถานะของผู้ตายและญาติๆ ทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม เป็นต้น ผู้ประกอบการค้าโลงได้ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่มีฐานะดี มีหน้ามีตาทางสังคม มักจะใช้โลงไม้ที่มีราคาสูง ตกแต่งอย่างสวยงาม มีการจัดดอกไม้สดจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นฐานะทางเศรษฐกิจ และสถานะทางสังคมทั้งของผู้ตายและของผู้อยู่ โดยเชื่อว่าของที่คนอื่นใช้แล้วเขาจะไม่ใช้ จึงไม่เอาโลงศพที่คนอื่นเคยใช้แล้ว เช่น โลงแอร์ ทำให้ผู้มีฐานะจะไม่นิยมใช้โลงแอร์ เพราะเชื่อว่าบ้านหลังสุดท้ายของผู้ตายควรจะเป็นบ้านที่ดี ที่สวยที่สุด และทำให้ผู้ตายมีที่อยู่ในโลกหน้าด้วย ในขณะที่ผู้ที่มีฐานะปานกลางถึงต่ำ จะนิยมใช้โลงแอร์ ซึ่งดูดีทันสมัย และราคาไม่แพงนักคือประมาณ ๕,๐๐๐ - ๗,๕๐๐ บาท แล้วแต่รูปแบบของโลง และการจัดดอกไม้ประดับ และบางคนอาจจะใช้โลงไม้ที่มีราคาประมาณ ๓,๕๐๐ - ๕,๐๐๐ บาท จะเห็นได้ว่า การเลือกซื้อโลงก็เป็นการบ่งบอกนัยยะได้หลายประการ ดังนั้นโลงศพจึงทำหน้าที่หลายประการในสังคม ทั้งการใช้ใส่ศพ เพื่อประกอบพิธีกรรมตามประเพณีแล้ว ยังบ่งบอกฐานะ ความเชื่อของผู้ใช้บริการอีกทางหนึ่งด้วย ดังมีผู้ประกอบการท่านหนึ่งบอกว่า "การเลือกโลงนั้นคิดถึงหน้าตาผู้อยู่มากกว่าผู้ตาย" ซึ่งสื่อให้เห็นบทบาทหน้าที่ของโลงได้เป็นอย่างดี

ธุรกิจค้าโลงศพ : การเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมความเชื่อและวัฒนธรรมการบริโภค
การเกิดขึ้นของร้านขายโลง สืบเนื่องมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จากสังคมที่มีความผูกพันช่วยเหลือเกื้อกูลกันสูงในอดีต มาสู่สังคมที่ต้องการความรีบเร่ง ความสะดวกสบาย การแข่งขัน ประกอบกับความสัมพันธ์ในสังคมแบบดั้งเดิม ที่มีการพึ่งพิงช่วยเหลือกันเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจการค้าโลงที่เกิดขึ้น จึงเป็นการปรับเปลี่ยนที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังที่ ศ.สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ ให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมที่จะสามารถดำรงอยู่ได้ จะต้องเป็นวัฒนธรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม วัฒนธรรมบางอย่างเมื่อไม่ได้มีบทบาททำหน้าที่หรือไม่ตอบสนองต่อความต้องการ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมนั้น ก็ต้องตายหรือสูญหายไปในที่สุด แต่วัฒนธรรมบางอย่างก็สามารถที่จะพัฒนาเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมต่อไปได้ เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้วัฒนธรรมนั้นๆ สามารถให้ดำรงอยู่ได้ (สัมภาษณ์ ศ.สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ ณ บ้านพัก ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา ๑๑ มกราคม ๒๕๔๗)

ดังนั้นการเกิดขึ้น การดำรงอยู่ หรือการล่มสลายไปของร้านขายโลงนั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมนั้นๆ เพียงใด ในปัจจุบันวิธีคิดของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมความเชื่อ ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม ที่ผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ระบบพาณิชย์นิยมจึงเกิดขึ้นมารองรับความต้องการการบริโภคนั้นๆ อย่างไรก็ตามการบริโภคบางอย่างก็ยังมีระบบความเชื่อที่แฝงอยู่ ดังนั้นระบบพาณิชย์นิยมจึงต้องหลอมความเชื่อ และความต้องการของผู้บริโภคให้สอดคล้องกัน

ถ้าเรามองว่าการปรับเปลี่ยนของพิธีกรรมความเชื่อเรื่องโลงศพ และพิธีกรรมหลังความตายจากอดีตถึงปัจจุบันในแง่ของวัฒนธรรมแล้วเราจะพบว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา จากการใช้ภูมิปัญญา และความคิดที่เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสม วัฒนธรรมบางอย่าง ที่คนรุ่นก่อนได้สร้างไว้อาจจะยังคงของเดิมอยู่มาก บางอย่างอาจจะปรับเปลี่ยนไป จนเหลือร่องรอยเดิมอยู่บ้าง วัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ก็เพื่อให้วัฒนธรรมนั้นๆ ได้เป็นสิ่งที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ต่อไปนั่นเอง

ดังนั้นวัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้ และต้องมีการถ่ายทอดวัฒนธรรม การถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นนั้น ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมเดิมที่หยุดนิ่งตายตัว แต่วัฒนธรรมที่ถ่ายทอดย่อมมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง ตามสภาพสังคม อย่างไรก็ตามในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ย่อมจะมีค่านิยมแกนกลางร่วมกัน ที่ให้สมาชิกของสังคมนั้นๆ ปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ขัดกับการยอมรับ หรือจารีตของสังคม เมื่อวัฒนธรรมมีค่านิยมของสังคมที่เป็นแกนกลางให้สมาชิกของสังคมยึดถือเป็นหลัก พฤติกรรม แนวคิด วิธีการทำงาน ตลอดจนการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ย่อมจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมนั้นโดยอัตโนมัติ และเมื่อทุกอย่างสอดคล้องกัน ก็หมายความว่าการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมก็ดำเนินไปได้อย่างไม่มีปัญหา ถึงแม้ว่าการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมอาจจะหมายถึงว่า ลักษณะบางอย่างของวัฒนธรรมได้เปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ค่านิยม และหลักใหญ่ที่ใช้เป็นกฎเกณฑ์ของสังคมก็ยังจะไม่เปลี่ยนแปลงไป (อมรา พงศาพิชญ์ วัฒธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ : วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา, ๒๕๔๑ หน้า ๒๐ - ๒๑)

อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันทีทันใด แต่การปรับเปลี่ยนจะค่อยๆ ปรับหรือกลืนกลายจนเป็นวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งจะมีส่วนผสมของวัฒนธรรมเก่าและวัฒนธรรมใหม่หลอมรวมกันอยู่ เช่นเดียวกับพัฒนาการของโลงศพ ที่เป็นสิ่งที่ลงตัวในการเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ ระหว่างธุรกิจกับความเชื่อ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้จึงยังเป็นสิ่งที่ยึดโยงซึ่งกันและกัน ตราบเท่าที่สังคมยังคงมีวัฒนธรรมความเชื่อที่เป็นสิ่งธำรงสังคมที่ผ่านมา และต่อไปอย่างยาวนาน

การเกิดขึ้นของร้านขายโลง แม้จะเป็นปรากฎการณ์ของหน่วยเล็กๆ ในสังคม แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงระบบใหญ่ของสังคม และวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ที่การดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านั้นย่อมต้องตอบสนองต่อความต้องการของสังคม และมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ ถ้าหากหยุดนิ่งตายตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในไม่ช้าวัฒนธรรมเหล่านั้นก็จะถูกลบเลือนหายไป หรือกลายเป็น "วัฒนธรรมที่ตายแล้ว" ไปในที่สุด

อ้างอิง
กลิ่น คงเหมือนเพชร "ปริศนาความเชื่อเบื้องหลังความตาย" วารสารแลใต้ ฉบับที่ ๖๘ ปีที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒.
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ วิถีชีวิตชาวใต้ : ประเพณีและวัฒนธรรม ชมรมเด็ก ๒๕๔๔.
พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ วัฒนาพานิช ๒๕๓๔.
สารคดี ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์ สารคดี ๒๕๓๒.
สืบพงศ์ ธรรมชาติ วัฒนธรรมในวรรณกรรมมุขปาฐะพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ๒๕๔๓.
อมรา พงศาพิชญ์ วัฒธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ : วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา พิมพ์ครั้งที่ ๕ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๑.
อุดม หนูทอง "โลงศพ" สารานุกรมวัฒนธรรมไทย : ภาคใต้ เล่ม ๑๔ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ๒๕๔๒.
สัมภาษณ์/พูดคุย
ผู้ประกอบการค้าโลงศพหน้าโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช
ศ.สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์
บุญธรรม เทอดเกียรติชาติ
อักขณิช ศรีดารัตน์ (นักศึกษาปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

No comments: