ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Wednesday, October 15, 2008

ว่าด้วยเมืองใหญ่


เราพยายามพูดพยายามนำเสนอว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย เชียงใหม่ หาดใหญ่ ฯลฯ ไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่ภาพที่ออกมาผ่านสื่อหรือการนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ มักไม่พ้นการใช้เมืองใหญ่มาเป็นภาพแทนเมืองเล็กเสมอๆ ทำให้ผลที่ออกมาและภาพที่แสดงออกมาเป็นภสพรวมถูกทำให้เมืองใหญ่กลายเป็นเมืองไทยไปทันที

ในยุคสังคมข่าวสารและสภาพของการบ้านการเมืองในปัจจุบัน เราจะเห็นถึงการสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่แข่งขันกันสำรวจความคิดเห็นหรือทำโพลล์กันจนแทบเป็นกระแสของวงวิชาการ ทั้งๆ ที่การสำรวจความคิดเห็นเหล่านั้นยังจำกัดอยู่ในหัวเมืองใหญ่ และเป็นกระแสชี้นำ หรือนำไปตีขลุมกับภาพรวมในเมืองเล็ก ผู้เขียนจะยกตัวอย่างให้เห็นกรณีล่าสุด

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา ผู้เขียนนั่งดูรายการข่าวโทรทัศน์รายการหนึ่ง มีการประการผลการทดสอบเรื่อง การทดสอบความสุข 36 ข้อ โดยองค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง เพื่อวัดคุณภาพชีวิตของคนในเมืองใหญ่ 5 จังหวัดทุกภาค พบว่าภาพรวมคุณภาพชีวิตเมื่เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วปรากฏว่าเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน และในประเทศภูมิภาคเดียวกัน คือจีน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ พบว่าต่ำมากที่สุด แม้จะมีการบอกว่าทดสอบใน 5 จังหวัดใหญ่ แต่เมื่อมองภาพรวมเปรียบเทียบกับประเทศอื่นมันก็กลายเป็นภาพแทนของประเทศไทย นี่เป็นเพียงกรณีหนึ่งในท่ามกลางการให้ความสำคัญกับเมืองใหญ่ในเกือบทุกกรณี

เราจะเห็นว่าการสำรวจความคิดเห็น หรือการทดสอบ การจัดกิจกรรมอื่นใดทั้งของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษา ล้วนแล้วแต่มุ่งเน้นไปที่เมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ ก็มักจะเป็นเชียงใหม่ พิษณุโลก ภาคอีสานก็จะเป็น ขอนแก่น นครราชสีมา และอุบลราชธานี ภาคกลางก็จะเป็นกรุงเทพฯ (และปริมณฑล) ภาคใต้ ก็จะเป็น สงขลา (หาดใหญ่ และสุราษฎร์ธานี เป็นหลัก)

เป็นที่น่าสนใจว่ากระบวนการคิดของผู้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ดูจะมีความเชื่อมั่นว่าเมืองใหญ่จะเป็นตัวแทนภาพของสังคม ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นภาพแทนสังคมอื่นๆ ได้ และยังมองว่าเมืองเล็กๆ มักจะทำตามเมืองใหญ่ ทั้งในเรื่องของความรู้ กระแสต่างๆ เป็นเหตุให้การตัดสินใจบางประการจึงเป็นไปตามความต้องการของสังคมเมืองของคนเมืองใหญ่ที่เป็นคนชั้นกลางสูง และชั้นสูง มากกว่าจะเป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่โดยรวมที่มักจะเป็นคนชั้นกลางล่าง และชั้นล่าง ซึ่งคนเหล่านี้นอกจากจะขาดโอกาสในการดำรงชีวิตในหลายๆ ประการแล้ว ยังขาดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นอีกด้วย

เรามักเอาประสบการณ์ของคนเมืองใหญ่มาวัดคนเมืองเล็ก แม้ว่าในทางการวิจัยอาจอ้างว่าได้มีวิธีวิจัยที่ครอบคนทุกกลุ่มก็ตาม แต่คนทุกกลุ่มในเมืองใหญ่ก็ใช่ว่าจะเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มในเมืองเล็ก เราจึงเห็นผลการสอบถาม สำรวจของแต่ละหน่วยงานมักเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเขาสุ่มเอาคนที่ใกล้เคียงกัน เราจึงมักไม่ค่อยเห็นการสำรวจความคิดเห็นของคนเมืองใหญ่คละเมืองเล็ก ความแตกต่างจึงมักถูกทำให้หายไป

จริงอยู่ในเรื่องการจัดกิจกรรมที่เน้นเรื่องเป้าหมายทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดคอนเสิร์ต การโฆษณา หรือการรณรงค์ต่าง ๆ จะมุ่งทำที่เมืองใหญ่เพื่อตอบสนองเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก แต่การสำรวจความคิดเห็นในเรื่องที่เป็นประเด็นสาธารณะอื่นๆ ก็สมควรที่จะต้องมองหรือให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของคนในเมืองเล็กๆ ที่ขาดโอกาสในแทบทุกด้านบ้าง เพื่อให้สังคมได้เห็นภาพรวมและสามารถตอบคำถามที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง อันจะช่วยในการกำหนดหรือชี้ทิศทางของสังคมได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงภาพแทนดังที่เห็นและเป็นอยู่เท่านั้น

No comments: