ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Wednesday, October 15, 2008

ที่เห็นความเป็นไป


(ฮ้าเอ้อ...เหอ)
น้องนอนเหอ นอนให้หลับดี
แม่ซื้อทั้งสี่ เข้ามาพิทักษ์รักษา
อาบน้ำป้อนข้าว มารักษาเจ้าทุกเวลา
มาช่วยพิทักษ์รักษา เด็กอ่อนนอนใน...เปล...เหอ
(ตามคติความเชื่อของชาวภาคใต้ว่า แม่ซื้อหรือแม่เซ้อเป็นสิ่งเร้นลับที่อยู่ในความเชื่อของชาวบ้าน ไม่มีตัวตน จะมีฐานะ เป็นเทวดาหรือภูติผีก็ไม่ปรากฏชัด แต่เชื่อกันว่าทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทารกตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 12 ขวบ)

ได้ยินเสียงร้องเรือจากแม่เฒ่าวัยเกือบ 80 ปี กำลังไกวเปลร้องเพลงร้องเรือ (เพลงกล่อมเด็ก) ด้วยเสียงสั่นเครือตามวัย ทำให้หวนคิดถึงตอนวัยเด็กจนอดไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปพูดคุยทักทาย เนื่องจากน้อยครั้งเหลือเกินที่ได้กลับมาได้ยินเพลงร้องเรือกล่อมน้องนอนอีกครั้ง

แม่เฒ่าบ้วนน้ำหมากลงในร่องกระดานก่อนที่จะหันมาพูดคุยกับเรา แม่เฒ่าเล่าว่าเด็กอายุไม่เกิน 1 ขวบที่นอนในเปลนั้นเป็นหลานชายที่ลูกสาวซึ่งทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่งมาให้เลี้ยง แม่เฒ่าเล่าว่าแกต้องรับหน้าที่เลี้ยงหลานมาแล้ว 5 คน เพราะลูก ๆ ไม่มีเวลาดูแลเนื่องจากต้องออกไปทำงานที่โรงงานตั้งแต่เช้า แล้วต้องกลับมาจนเกือบค่ำมืดดึกดื่น จึงต้องเป็นภาระที่แม่เฒ่าต้องรับผิดชอบแทน แต่ละคนที่แม่เฒ่าเลี้ยงมาเมื่อโตขึ้นพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้พ่อแม่เขาก็รับไปอยู่ด้วย และลูกคนอื่น หรือคนเดิมที่มีลูกอีกคนก็จะเอามาให้เลี้ยงหมุนเวียนไปเรื่อย เมื่อถามถึงความผูกพันที่แม่เฒ่าเลี้ยงพอโตพอที่จะช่วยเหลืองานได้ก็ต้องจากไป ว่าก็ผูกพันและคิดถึง แต่ก็ต้องส่งให้พ่อแม่เขาเลี้ยงดูแลต่อ เป็นอย่างนี้เรื่อยไป

"ไอ้คนที่โตกว่านี้ก็เล่นอยู่หน้าบ้านนั่นแหละ โตแล้วแต่พ่อแม่มันยังไม่มารับ ยายก็เลยต้องเลี้ยงต่อ เงินมันก็ไม่ได้ส่งมาให้ ได้ใช้จ่ายบ้างก็แม่ไอ้เจ้าตัวเล็กนี่แหละส่งมาให้บ้างพอได้ใช้จ่าย ซื้อนม ซื้อกับข้าว เพราะยายเองก็ทำอะไรไม่ค่อยไหวแล้ว..." แม่เฒ่าบอกกับเรา เราพูดคุยเรื่องความเป็นอยู่และเรื่องสัพเพเหระอยู่ครู่หนึ่งจึงขอตัวกลับ

เมื่อลงจากบ้านแม่เฒ่าก็ได้เห็นภาพเด็ก ๆ อายุไล่เลี่ยกันทั้งเด็กหญิงเด็กชายจำนวนมากวิ่งเล่นไล่กันอยู่บนลานหน้าบ้านอย่างสนุกสนาน เมื่อมองข้ามเด็ก ๆ เหล่านั้นไปก็เห็นภาพของแม่เฒ่าอีกคนกำลังใช้กระด้งฝัดข้าว ผุ่นละอองจากข้าวเปลือฟุ้งกระจาย มีเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ เกาะชายผ้าถุงร้องไห้ได้ยินเสียงอยู่แว่ว ๆ และอีกหลาย ๆ ภาพที่ผ่านเข้ามาในโสตประสาทตา มันเป็นภาพซ้ำ ๆ ที่เปลี่ยนเพียงตัวละครที่มีวัยใกล้เคียงกันแค่นั้น นาน ๆ ครั้งจึงจะพานพบกับคนวัยหนุ่มสาวบ้าง แต่ก็น้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับผู้เฒ่าและเด็กน้อย เมื่อเราดูภาพรวมของชุมชนนี้ก็พบว่าภาพที่เห็นนั้นมีแต่ผู้เฒ่ากับเด็กเล็ก ๆ เท่านั้น หลังจากได้พูดคุยกับผู้เฒ่าหลายคนในหมู่บ้านนั้น ก็ได้รับทราบว่าในหมู่บ้านนี้มีอีกจำนวนมากที่มีสภาพเช่นเดียวกับแม่เฒ่าที่เราพูดคุยด้วย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าทำไมหนอจึงเป็นเช่นนี้...หนุ่มสาวหรือคนวัยทำงานหายไปไหนกันหมด เมื่อหันย้อนมองดูท้องทุ่งกว้างก็เห็นแต่ผืนนาที่รกร้างไร้ผู้ทำนา ทราบว่าผืนนาเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของผู้อื่นเสียแล้ว

"ข้าวมันราคาถูกน่ะ...ทำไปก็ไม่พอกิน เด็ก ๆ เขาก็ไม่ทำนากันแล้ว ไปทำงานที่อื่นกันหมด ไอ้เราก็ทำไม่ไหว ต้องขอลูกขอหลานเขากินอย่างนี้แหละ..." แม่เฒ่าสูงวัยอีกท่านหนึ่งบอกอย่างยอมรับสภาพ

นับวันวิถีชีวิตที่เคยง่ายงามของชุมชนกำลังจะหมดไปเรื่อย ๆ ด้วยสภาพสังคมเศรษฐกิจ รวมทั้งค่านิยมต่าง ๆ ที่แปรเปลี่ยนไป ค่านิยมของคนชนบทรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่เห็นว่าการทำเกษตรกรรมตามบรรพบุรุษแบบดั้งเดิมนั้นไม่สามารถที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้เพียงพอ อีกทั้งยังเป็นงานที่ใช้แรงงานหนัก ดังนั้นเราจึงพบเห็นว่าที่ดินซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้ ค่อย ๆ ถูกทยอยขายไปเปลี่ยนมือเป็นของนายทุน จนน่าเป็นห่วงว่าในอนาคตชาวนาชาวไร่ผู้เคยเป็นเจ้าของที่ดินเหล่านี้จะอยู่ที่ไหน และจะเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานเมื่อทรัพย์สินที่ดินผืนสุดท้ายกำลังจะถูกเปลี่ยนมือไป...

แม้เรื่องราวเหล่านี้เราอาจจะเคยได้เห็น ได้ยิน หรือได้อ่านมาบ้างจากในหนังสือ หรือนวนิยายอยู่บ่อย ๆ จนรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดาและไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจแต่อย่างใด แต่ทว่าเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังสัมผัสอยู่นี้มันเป็นความเป็นจริงที่เจ็บปวดและกำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมชนบทแทบทุกที่ ซึ่งความรุนแรงของปรากฏการณ์เหล่านี้เด่นชัดและรุนแรงเสียจนน่าตกใจ...ครอบครัวล่มสลาย วิถีชีวิตวัฒนธรรมค่อย ๆ จางหายไปตามกาลเวลา จะมีอะไรมาหยุดยั้งหรือปรับสภาพให้สังคมกลับมาสมดุลอีกครั้งหนึ่งได้อีกไหมในเมื่อยุคสมัยแห่งความเชื่อมันเปลี่ยนไปแล้ว

No comments: