ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Wednesday, October 15, 2008

ชุมชนดูงาน


ชุมชนคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นชุมชนเล็ก ๆ กลางหุบเขาซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในเรื่องความเป็นชุมชนเข้มแข็ง อันมีรากฐานมาจากวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติและการพึ่งพาตนเอง ท่ามกลางสถาบันผู้อาวุโสที่เป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาในการดำรงวิถีชีวิต จากบรรพบุรุษที่ช่วยให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็งมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี แม้ว่าจะผ่านเรื่องร้ายแรงจากภัยพิบัติจากธรรมชาติ และการรุกคืบของการพัฒนาที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

การสืบทอดวิธีคิด วิธีปฏิบัติอย่างเข้มข้นจากรุ่นสู่รุ่น ได้มีส่วนพัฒนาชุมชนคีรีวงภายใต้ความเป็นตัวตนของชุมชนที่มีอัตลักษณ์ของตนเองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการชุมชนบนวิถีชีวิตวัฒนธรรม จนกลายเป็นสถาบันสร้างปราชญ์ชุมชนภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมอย่างน่าสนใจ

ภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้านในเรื่องการจัดการชุมชนของชาวคีรีวง อาจจะมองเห็นไม่ชัดเหมือนการจัดการของรัฐที่มีขั้นตอนผ่านองค์กรและการจัดระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ในขณะที่ปราชญ์ชาวบ้านสร้างชุมชนขึ้นจากการใช้เวทีพูดคุยเพื่อก่อให้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในการพัฒนาชุมชนตามวิธีคิดที่พึ่งพาอยู่กับธรรมชาติ และวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชน ดังนั้นการพัฒนาชุมชนด้วยวิธีคิดของปราชญ์ชาวบ้านจึงล้วนมีฐานมาจากความสัมพันธ์และวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยเฉพาะการทำสวนสมรม ซึ่งเป็นการทำสวนผลไม้พื้นบ้านหลากหลายชนิดผสมผสานร่วมกับไม้ยืนต้นดั้งเดิมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ การพัฒนาชุมชนตามแนวคิดของปราชญ์ชาวบ้านจึงเป็นการต่อยอดมาจากฐานการผลิตดังกล่าวแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันทำทางขึ้นสวน การนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปทั้งในเรื่องของอาหารการกินและสิ่งของเครื่องใช้ แม้แต่การเกิดขึ้นของกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนที่มีชื่อเสียง ก็เกิดขึ้นบนฐานของการออมหรือการกู้เพื่อนำมาใช้ในการดูแลพัฒนาสวนสมรม หรืออื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และยังแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้นำกลับมาพัฒนาตามความต้องการร่วมของชุมชนอีกส่วนหนึ่งด้วย รวมไปถึงการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนซึ่งเกิดขึ้นมาภายหลัง ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่เกิดจากต้นธารของชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ชุมชนมีชื่อเสียงในการพึ่งตนเอง และกลายเป็นชุมชนเข้มแข็งตามคำนิยามของรัฐ

เมื่อชุมชนมีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความต้องการในการเข้ามาเรียนรู้ในเรื่องวิธีคิด วิถีชีวิต จากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย จนทำให้ชุมชนคีรีวงที่เคยเป็นเหมือนชุมชนปิดกลางหุบเขา กลับกลายเป็นชุมชนเปิด และเป็นชุมชนที่ถูกเข้ามาศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกลุ่มองค์กรชุมชนต่าง ๆ เฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 30 คณะ บางวันมีผู้เข้ามาศึกษาดูงานซ้อนกัน 4 ? 5 คณะเลยทีเดียว โดยไม่นับกลุ่มที่เพียงแวะผ่านมาเยี่ยมเยียน ท่องเที่ยว หรือกลุ่มที่เข้ามาศึกษา เขียนรายงาน ทำวิทยานิพนธ์ในระดับต่าง ๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอีกจำนวนมาก จนชุมชนกลายเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญ


อาจพูดได้ว่าแทบทุกอณูของชุมชนคีรีวงถูกประทับรอยจากคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความมุ่งหมายของแต่ละคน / กลุ่ม การเข้ามาของกลุ่มคนที่หลากหลายทั้งวิธีคิด วัฒนธรรม ความเชื่อ เหล่านี้ส่งผลให้ชุมชนอยู่ในภาวะที่เป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งการถูกกระทำของชุมชนนั้นอาจจะมีทั้งมองเห็นที่เป็นรูปธรรม เช่น ภาษา การแต่งกาย ขยะ ฯลฯ หรือที่มองไม่เห็นที่เป็นนามธรรม เช่น วิธีคิด การครอบงำทางความเชื่อ และวัฒนธรรมต่างถิ่น สิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่อาจทำให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงหรืออาจถูกกลืนกลายวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม จริงอยู่แม้ชุมชนเองจะมีเกราะคุ้มกันตนเองที่ค่อนข้างเข้มแข็ง แต่การเป็นชุมชนที่ถูกกระทำและอยู่ในภาวะตั้งรับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเช่นนี้ การสร้างเกราะป้องกันตนเองก็อาจไม่สามารถที่จะพัฒนาขึ้นได้อย่างทันท่วงทีกับการเข้ามาของกระแสการดูงาน ปราชญ์ชุมชนจึงต้องทำงานร่วมกับสมาชิกชุมชนอย่างหนักในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันกับกระแสดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นับว่าชุมชนคีรีวงมีจุดแข็งจากการผ่านวิกฤติมาต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ ความขัดแย้งทางด้านความคิด จนแทบเป็นเรื่องปกติของชุมชน แต่ด้วยวิถีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กันในระบบเครือญาติอย่างแน่นแฟ้น รวมทั้งการมีปราชญ์ชาวบ้านที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้วิกฤติต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาสามารถคลี่คลายไปได้ ชุมชนคีรีวงจึงยังคงดำรงตัวตนและสามารถตั้งรับกระกระแสภายนอกที่ไหลบ่าเข้ามาในชุมชนได้อย่างดี แม้จะมีเหตุความขัดแย้งกันเองบ้างในชุมชนอันเนื่องมาจากความคิดที่แตกต่าง แต่ชุมชนคีรีวงก็ยังมีเวทีเรียนรู้มากมายภายในชุมชนที่จะเป็นตัวประสานความเข้าใจในความคิดที่แตกต่าง รวมทั้งสถาบันวัด สถาบันผู้อาวุโสในชุมชน ที่คอยเป็นเหมือนเวทีหรือผู้ใกล่เกลี่ยประณีประนอมความขัดแย้งโดยยึดประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก ปัญหาต่าง ๆ จึงสามารถก้าวผ่านไปได้ด้วยการคิดถึง ?ส่วนรวม? มากกว่า ?ส่วนตน?



ชุมชนคีรีวง ไม่ใช่เป็นชุมชนเดียวที่กลายเป็นเหยื่อของการศึกษาดูงาน แต่ทว่าจะมีสักกี่ชุมชนที่มีความเข้มแข็งอันเกิดจากการหล่อหลอมจากประวัติศาสตร์และความสำนึกร่วมของชุมชน จนกลายเป็นภูมิคุ้มกันของชุมชนที่ดำรงมาอย่างยาวนานอย่างนี้ เราจึงพบว่าหลายชุมชนที่กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงาน ต้องพบกับความขัดแย้งที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ อันเป็นผลมาจากวิธีคิด วัฒนธรรม และผลประโยชน์จากภายนอกที่รุกเข้ามาทำลายโครงสร้างความสัมพันธ์ และวิถีวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชนไปเสียสิ้น

1 comment:

ฅนวัฒนธรรม said...

เชิญชวนแสดงความคิดเห็นได้ครับ