ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Wednesday, October 15, 2008

คนจนรีเทิร์น


ในขณะที่รัฐบาล กำลังหาวิธีการในการแก้ปัญหาความยากจน โดยวิธีการต่างๆ ทั้งการแต่งตั้งอดีต นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าทีมแก้ปัญหาความยากจน และการที่นายกรัฐมนตรีสร้างภาพการ แก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเหมาะสมหรือไม่ 'อาจสามารถโมเดล' จะเป็นทางออก ของการแก้ปัญหาความยากจนได้จริงหรือไม่เพียงใดนั้น เราก็มองเห็นคนยากจนอีกมาก มายที่กำลังรอรับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐด้วยความหวังว่าจะเป็นมาตรการที่ ช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจนอย่าง ถาวร

บทความนี้ขอยกตัวอย่าง กลุ่มคนจนอีกกลุ่มหนึ่งในจำนวนกลุ่มที่นับไม่ถ้วน กำลังดิ้นรนต่อสู้ อยู่ท่ามกลางภาวะอันโหดร้ายของระบบเศรษฐกิจ สังคม ปัจจุบัน

กลุ่มคนเหล่านี้เป็น กลุ่มเกษตรกร ทั้งชาว นา ชาวสวน และชาวประมง ในพื้นที่ ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งเคยดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย มีวิถีชีวิตที่พอเพียง มีระบบการผลิตพึ่งพิงอยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศ 3 น้ำ คือน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม นั่นคือการทำนาปี การทำไร่นาสวนผสม และการทำประมงพื้นบ้านในแม่น้ำลำ คลองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิดตามฤดู


เหตุการณ์เริ่มแปรเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ชาวลุ่มน้ำปากพนังแทบทุกกลุ่มอาชีพ ทั้งเกษตรกร ชาวประมง ข้าราชการ พ่อ ค้า และนายทุน ได้เริ่มทำอาชีพใหม่ที่สามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา นั่นคือการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการทำนากุ้ง ซึ่งในช่วงแรกปรากฏผลว่าได้รับผลตอบแทนอย่างมหาศาล ชนิดที่พวกเขาไม่เคยได้รับมาก่อน ประกอบกับการส่งเสริมจากภาครัฐทำให้ผู้คนในพื้นที่หันมาทำนากุ้งกันอย่าง ขนานใหญ่ จนถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า

"ทำนาตลอดชีวิตก็ไม่สามารถที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีเท่า กับการเลี้ยงกุ้งเพียงไม่กี่รุ่น"

ด้วยความเชื่อดังกล่าวที่ประกอบกับหลักฐาน เชิงประจักษ์ในพื้นที่ ทำให้แทบทุกครอบครัวหันเหระบบการผลิตจากดั้งเดิมมาเป็น การผลิตรูปแบบใหม่ที่ทิ้งฐานการผลิตแบบเดิมเกือบสิ้นเชิง

เพียงช่วง 4 - 5 ปีที่อุตสาหกรรมนากุ้ง รุ่งเรืองสุดขีด ปรากฎว่าชาวบ้านที่ทำนากุ้งแทบทุกครัวเรือนต่างกลายเป็นเศรษฐี ใหม่ในพริบตา มีการจับจ่ายใช้สอยกันอย่างสนุกสนาน บ้านใหม่ รถใหม่ผุดขึ้นเป็น ดอกเห็ด ร้านค้า ร้านอาหาร คาราโอเกะผุดสะพรั่ง แสงไฟจากนากุ้งกลางคืนสว่างไสว ทั่วพื้นที่เหมือนมีงานเทศกาลที่ยิ่งใหญ่

ใครเลยจะนึกว่าให้หลังจากนั้นอีกเพียงไม่นาน ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 นี่เอง ผู้คนที่ทำนากุ้งกลับต้องแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ด้วยระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่บันยะบันยัง ทำให้การผลิตไม่ได้ผลดีดังเดิม ประกอบกับกลไกการตลาดระดับโลกที่ส่ง ผลให้ราคากุ้งตกต่ำ และการสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำปากพนัง ตามโครงการพัฒนา พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ที่ยิ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ 3 น้ำที่อ่อนไหวเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้คนที่ทำนากุ้งต้องล้ม ละลายเป็นหนี้เป็นสินกันพะรุงพะรัง หน้าตาที่เปื้อนด้วยรอยยิ้มกลับหม่นหมองลงอย่างเห็นได้ชัด

ความร่ำรวยที่เคยมี ความเป็นเศรษฐีใหม่ที่ขาดการเตรียมตัว ตั้งรับกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น ทำให้เหล่าเศรษฐีใหม่เหล่า นี้ต้องกลายเป็นคนที่เต็มไปด้วยหนี้สินเหมือนพลิกฝ่ามือ

รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ที่ผ่อนดาวน์ถูกยึดคืนแทบหมดสิ้น บางคนต้องขายที่ดิน/จำนองที่ดินเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ บางรายที่ไม่มีที่ของตัว เองแต่เช่าที่คนอื่นเขาทำ ก็ต้องหาทางออกด้วยการไปทำงานรับจ้างยังต่างถิ่น ไปเป็นกรรมกรแบกหาม หรือเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ครั้นจะหวนกลับไปประกอบอาชีพที่เคยทำ มาแต่ดั้งแต่เดิมคือการทำนา ทำสวนผสมผสาน หรือทำการประมง ก็ไม่ค่อยได้ผลเนื่องจากสภาพของระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปแทบหมดสิ้นแล้ว

ความยากจนหวนคืนกลับมาสู่พื้นที่อย่างหนักหน่วงกว่าเดิม ความพอเพียงที่เคยดำรงอยู่ ถูกกลืนกลายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเกือบสิ้นเชิง คนยากจนเหล่านี้กำลังรอคอยมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐ เนื่องจากไม่มีต้นทุนทั้งระบบนิเวศ และตัวเงินในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

เราไม่ได้กล่าวโทษใครว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น และมีบทสรุปอย่างนี้เพราะเหตุใด ไม่ว่าจะเป็นพวกเขาเหล่านี้กระทำตัวเองจากการ ใช้ทรัพยากรอย่างล้นเกินและขาดจิตสำนึก หรือการกระตุ้นค่านิยมการบริโภคอย่างบ้าคลั่งจากระบบทุน และภาครัฐที่ทุ่มหว่านเม็ดเงินลงในชุมชน หวังเพียงเพื่อการ กระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการสร้างงานอย่างท้จริง เราเพียงแต่อยากให้หวนทวนย้อนถึง เหตุปัจจัยที่แท้จริงของปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วต่อให้สร้าง โมเดลการแก้ปัญหาทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้านก็ไม่อาจที่จะแก้ปัญหาความยากจน ได้

นี่เป็นตัวอย่างเพียงกรณีหนึ่งในอีกจำนวนมหาศาลของสยามประเทศนี้ ที่เหล่าคนจนต้องดิ้นรนต่อสู้ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยหรือ เหตุผลกลใดก็ตาม คนจนก็ยังคงไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากความยากจนไปได้อย่างถาวร หากการแก้ปัญหาความยากจนยังไม่ เป็นระบบ และยังไม่ได้สร้างวิธีคิดในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงให้เกิดขึ้นก่อน ที่จะมีโครงการใดๆ ของรัฐมาสนับสนุน มิเช่นนั้นแล้วเราจะเห็นคนจนที่กลายเป็นเศรษฐีใหม่ และสุดท้ายก็กลับมาเป็นคนจนอีก หมุนเวียนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และ ไม่สามารถจะหลุดพ้นจากวิถีทางแห่งความจนได้ แม้จะมีการสร้างภาพโพนทนาเม็ดเงินลงไปมากมายเพียงใดก็ตาม



(ขอบคุณ คุณวิเชียร ไทยเจริญ ที่ช่วยตั้งชื่อเรื่องให้)

1 comment:

ลุ่มน้ำปากพนัง said...

คนจนมากกว่าเดิมเพราะประตูระบายน้ำแห่งนี้นี้แหละจากคนในพื้นที่