ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Thursday, October 16, 2008

ทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง : พิธีกรรม ภูมิปัญญา วิธีคิด วิถีชีวิตท้องถิ่น

บทนำ
ความเชื่อ สำหรับสังคมไทยเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน และมีความผูกพันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะความเชื่อต่าง ๆ ได้ถูกส่งผ่านสืบทอดต่อ ๆ กันมาจากบรรพบุรุษจนถึงคนรุ่นหลัง เกิดการผลิตซ้ำความเชื่อจนกลายเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของสังคมไทย

ดังนั้นปรากฏการณ์ของประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ล้วนแล้วเกิดขึ้นมาจากความเชื่อแทบทั้งสิ้น การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางก็เช่นเดียวกัน เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ฝังแน่นอยู่ในกลุ่มชาวเรือ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรือในทุกพื้นที่ แม้ว่าพิธีกรรมในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่พิธีกรรมเหล่านี้ก็มีจุดมุ่งหมายที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือเป็นการแสดงถึงความกตัญญูรู้คุณต่อเรื่อที่ต้องใช้ในการประกอบอาชีพ และใช้สัญจรไปมา และสร้างความเชื่อมั่นขึ้นในจิตใจของผู้ที่เป็นเจ้าของ หรือผู้เกี่ยวข้องกับเรือว่าจะได้รับการปกปักรักษาให้ปลอดภัยในการใช้เรือเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ

ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะความเชื่อ และพิธีกรรมตามความเชื่อเรื่องแม่ย่านางในเขตลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้เรือ นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยจะนำเสนอถึงเรื่องความเชื่อ พิธีกรรม และการผลิตซ้ำความเชื่อที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เป็นพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่ม และมีแม่น้ำลำคลองหลายสาย โดยมีแม่น้ำปากพนังเป็นแม่น้ำสายหลัก และมีลำคลองสาขาจำนวน ๑๑๙ สาย รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณกว่า ๗๐๐ กิโลเมตร (ณรงค์ บุญสวยขวัญ. - ๒๕๔๔ วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากการพัฒนาของรัฐในระยะแผนพัฒนาฉบับที่ ๑-๘ โครงการวิจัย เรื่องโครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย : หน้า ๓๐) ดังนั้นวิถีชีวิตชาวลุ่มน้ำปากพนังจึงมีความผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่อดีต ทั้งการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และการสัญจรไปมา ส่งผลให้พื้นที่ในส่วนที่ติดแม่น้ำลำคลองมีกิจกรรมการใช้เรือในลักษณะต่างๆ เช่น ใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพการประมง ซึ่งมีทั้งเรือตังเก เรืออวนลาก เรืออวนรุน และเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก การใช้เรือเพื่อการรับส่งสินค้า การใช้เรือเป็นพาหนะเพื่อการสัญจรไปมาหาสู่กัน รวมทั้งการใช้เรือที่ใช้สำหรับกิจกรรมทางศาสนา คือการลากพระในช่วงเทศกาลออกพรรษา (เดือน ๑๑) หรือแม้กระทั่งการใช้เรือเพรียวเพื่อการแข่งขันประจำปี ของชาวลุ่มน้ำปากพนัง เป็นต้น

แม้เรือเหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกัน แต่ชาวเรือ ชาวประมง ก็มีความเชื่อที่สำคัญร่วมกันอย่างหนึ่ง และมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา นั่นคือความเชื่อเรื่อง "การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง" นั่นเอง

การทำขวัญเรือในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังไม่ได้มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ มากนัก ทั้งในเรื่องของพิธีกรรม และจุดมุ่งหมายในการประกอบพิธีกรรม นั่นคือ การทำขวัญเรือเป็นการแสดงความเคารพและบูชาแม่ย่านางประจำเรือ เพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคล ให้ช่วยคุ้มครองปกป้องดูแลความปลอดภัย และเพื่อการทำมาหากินได้คล่องในกรณีของเรือประมง ถ้าหากเป็นเรืออื่นๆ เช่น เรือเพรียวที่ใช้ในการแข่งขัน ก็จะเป็นการทำพิธีกรรมเพื่อเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจให้แก่ฝีพาย เพื่อจะได้มีชัยชนะ และด้วยความเชื่อที่ว่าหากเรือลำใด "บูชาไม่ดีพลีไม่ถูก" ก็อาจจะประสบกับความโชคร้ายได้ เช่น เรือประสบอุบัติเหตุ การทำมาหากินฝืดเคือง หรือจะลงมือทำอะไรก็ดูจะขัดข้องไปเสียทั้งหมด ดังนั้น การบูชาแม่ย่านางจึงเป็นความเชื่อที่ถูกปลูกฝังถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่แนบแน่นกับวิถีชีวิตของชาวเรือมาอย่างยาวนานถึงปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมาของพิธีทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง
ประวัติความเป็นมาของพิธีบูชาแม่ย่านางเรือมีอยู่หลายกระแส ตามความเชื่อของแต่ละพื้นที่ บางตำนานบอกเล่าไปในเชิงเทพนิยาย บางตำนานก็บอกเล่าไปในทางที่ใกล้เคียงกับโลกของวิทยาศาสตร์ ประวัติความเป็นมาเท่าที่สืบค้นพบ พอจะนำมาเสนอพอสังเขปได้ ดังนี้

กระแสความเชื่อแรกนั้นเล่าว่า คนในสมัยก่อนมีความเชื่อว่า พระอินทร์หรือเทวดาเป็นผู้กำหนดให้มนุษย์มาเกิด เมื่อมนุษย์มีความทุกข์ร้อนใจ ก็จะไปร้องทุกข์กับพระอินทร์บนสวรรค์ หรือไม่ก็ที่ประทับของพระอินทร์จะแข็งกระด้างขึ้นมาเอง แล้วพระอินทร์ก็จะคลายทุกข์ให้ ต่อมาเมื่อมนุษย์ร้องทุกข์ต่อพระอินทร์มากขึ้น พระองค์จึงส่งนางฟ้าให้มาเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อคอยช่วยเหลือปัดเป่าความทุกข์ให้แก่เหล่ามนุษย์แทนพระองค์

นางฟ้าผู้นั้นได้ถือกำเนิดมาเป็นชาวอินเดีย ซึ่งมีความสามารถในการระลึกชาติได้ วันหนึ่งหญิงสาวผู้นั้นได้แล่นเรือท่องเที่ยวไปในแถบมหาสมุทรใกล้ๆ กับเมืองลังกา ขากลับเกิดพายุพัดพาเรือหลงทาง และเกือบอับปาง บรรดาผู้ที่เดินทางมาพร้อมกับนางต่างก็กลัวตาย และขอร้องให้นางอ้อนวอนต่อพระอินทร์ให้ช่วยเหลือ นางจึงได้อ้อนวอนไปยังสวรรค์ พระอินทร์จึงตอบกลับมาโดยมีเงื่อนไขว่าจะช่วยให้ทุกชีวิตปลอดภัย แต่นางต้องยอมแลกชีวิตของนางให้กับเรือ และอาศัยอยู่ในเรือตลอดไป เมื่อนางตกปากรับคำ ทันทีทันใดนั้นลมพายุก็สงบลงพร้อมๆ กับร่างของนางที่หายวับไปพลัน ทุกคนที่เดินทางพร้อมกับนางก็รอดชีวิตและสามารถเดินทางกลับโดยปลอดภัย

ต่อมานางได้มาเข้าฝันให้กับผู้ที่เคยร่วมเดินทางกับนางได้รู้ว่านางเป็นผู้พิทักษ์เรือลำนี้ให้ปลอดภัย และนำโชคมาสู่เรือ จึงขอให้บูชาเซ่นสรวงนาง และนางก็จะคอยช่วยพิทักษ์รักษาเรือลำนี้และลำอื่นๆ ที่บูชานางด้วย นับแต่นั้นมาความเชื่อเรื่องแม่ย่านางประจำเรือก็สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ในอีกกระแสหนึ่งเล่าว่า เดิมทีนั้นการลากเรือประมงลงน้ำนั้นจะต้องใช้เชือกดึงหัวเรือให้เรือขับเคลื่อน และเชือกที่ใช้ดึงหัวเรือจะใช้เถาวัลย์ที่พันต้นตะเคียน ซึ่งเรียกกันว่า "เชือกย่านาง" เมื่อใช้เชือกย่านางดึงหัวเรือบ่อยๆ เข้า จึงเรียกบริเวณหัวเรือเป็น "ย่านาง" นอกจากนั้นแล้วเชื่อกันว่าไม้ที่นำมาทำเรือในในสมัยแรกๆ นั้น มักจะใช้ไม้ตะเคียน ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าไม้ตะเคียนที่นำมาทำเรือนั้นเป็นไม้ที่มีผีตะเคียนสิงสถิตอยู่ เมื่อนำไม้ตะเคียนมาทำเรือ ความเชื่อเรื่องผีนางตะเคียนจึงติดมากับเรือด้วย ซึ่งในการโค่นไม้ตะเคียนมีพิธีกรรมปรากฏในพิธีทำขวัญเรือว่า

"...เมื่อเข้าป่าหาไม้ใกล้ต้นตะเคียนใหญ่ ได้ยินสียงปากเหมือนเสียงคน เมื่อได้ยินให้หวั่นหวาด ขอจงเลือกเอาที่รอยคชสารเข้ามาแทง กิ่งคดโค้งกาฝากจากกาฝากยอดไม้ใกล้ธารา ฝ่ายคชสารลักมันเอาไม้มาทำเรือใหญ่ พบรุกขชาติพระยานางไม้ รุกขชาติจึงให้เอาน้ำพระพุทธมนต์ มารดทั่วทุกคนหมดแล้วเข้าแดนไพร ตามวิถีเอาเพศเกรียงไกร แล้วสมมติคนที่ชื่อนายใจ พร้อมด้วยพวกที่ชำนาญไปด้วยกัน เอามือจับขวานเข้าฟันโค่นต้นไม้ ประหนึ่งเหมือนคนร้องครวญครางสะเทือนดง แล้วฟันฟาดไปทางหรดี เสียงสนั่นป่า แล้วตัดปลายไม้ แล้วจัดเครื่องพิธีกรรมอันจะสังเวยเจ้าพระยานางไม้..." (ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ โลกทรรศน์ไทยภาคใต้,๒๕๒๒ : หน้า ๑๓๖)

แต่ต่อมาการเรียกชื่อผีก็ได้เปลี่ยนจากชื่อของผีตะเคียน ไปเป็นเรียกตามชื่อของเชือกเถาวัลย์ที่ใช้เป็น "ผีย่านาง" หรือ "ผีแม่ย่านาง" แทนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของแม่ย่านางเรืออีกหลายกระแส ตามความเชื่อหรือการบอกเล่าสืบต่อกันมา แต่ไม่ว่าประวัติความเป็นมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม ความเชื่อของแม่ย่านางก็ยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้นในกลุ่มของชาวเรือประมง และชาวเรือประเภทอื่นๆ อย่างสืบเนื่องยาวนาน

การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จะมีการทำขวัญเรืออยู่ ๒ ประเภท คือ เรือประมง และเรือเพรียว สำหรับใช้แข่งขันในงานเทศกาลต่างๆ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อของชาวเรือในพื้นที่นี้ การทำพิธีกรรมทำขวัญเรือในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังส่วนใหญ่นั้นจะมีพระที่เป็นที่นับถือของชุมชน และเป็นผู้ที่เชื่อว่ามีคาถาอาคม และคุณความดีอย่างสูง พระที่ชาวเรือในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมักจะให้เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมอยู่เสมอมาได้แก่ พ่อท่านแช่ม วัดเสาธงทอง, พ่อท่านบัญญัติ วัดคงคาสวัสดิ์, ท่านชัย วัดนาควารี และพ่อท่านรุ่น วัดปากนคร เป็นต้น

สำหรับบททำขวัญเรือในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังนั้นไม่ชัดเจนมากนักแล้วแต่ผู้ที่ดำเนินการทำขวัญเรือ แต่เท่าที่พบบททำขวัญเรือในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่นในจังหวัดชุมพร จะมีบททำขวัญเรือ ดังนี้

"ครั้นได้มหาฤกษ์งามยามดี ข้าจะขอเชิญขวัญ โอ้ว่าขวัญพระย่านางเอ๋ย แม่อย่าได้ออกจากเรือใหญ่ลำนี้ แม่จงได้อยู่สุขเจริญสวัสดิ์ แม่อย่าพลัดพรากไปเที่ยวเล่นสำราญองค์ ชมป่าหิมเวศน์นะแม่ อย่าเที่ยวลดเลี้ยวในรอบเขตหิมวา ขวัญเจ้าแม่เอ๋ยร้องระงมไพร ฟังแต่เสียงเรไรร้อง เจ้าแม่อย่าเชยชมสิ่งใดในกลางดง ชมมัจฉาหมู่ปักษาในไพร พลัดคู่อยู่ในสาคร เจ้าแม่อย่ามัวชม จงรีบมาเถิดขวัญ มาเถิดขวัญ แม่มาแม่ขวัญย่านางเอย..."( ท้วม แสงสุวรรณ อ้างใน โลกทรรศน์ไทยภาคใต้,๒๕๒๒ : หน้า ๑๓๕)

ในที่นี้จะนำเสนอพิธีกรรม ความเชื่อ ในการบูชาแม่ย่านางในพื้นทีปากพนังทั้ง ๒ ประเภท คือ การทำขวัญบูชาแม่ย่านางเรือประมง และเรือเพรียวที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้


การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง : เรือประมง
การประกอบพิธีทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางเรือประมงนั้น เป็นการทำพิธีกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แม่ย่านางเรือช่วยคุ้มครองดูแล และช่วยอำนวยโชคให้ทำมาหากินได้คล่องขึ้น ซึ่งจะมีการทำพิธีทำขวัญเรือใน ๒ รูปแบบคือ

การทำขวัญเรือชุดใหญ่ จะเป็นการทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางในกรณีที่สร้างเรือลำใหม่ หรือการซ่อมใหญ่ของเรือแต่ละลำ เป็นการอัญเชิญแม่ย่านางเพื่อให้มาอยู่กับเรือ มาช่วยปกปักรักษาและให้ทำมาหากินได้คล่อง อุปกรณ์สิ่งของที่ใช้ในการทำขวัญเรือชุดใหญ่ ได้แก่ ปลามีหัวมีหาง, ข้าวปากหม้อ, เหล้า, หมากพลู, ธูปเทียน, ดอกไม้, กล้วย, อ้อย, ขนมถั่ว, ขนมงา, มะพร้าวอ่อน ๑ ผล, เสื้อผ้าผู้หญิง ๑ ชุด และน้ำอบไทย จากนั้นจะมีพิธีกรรมต่างๆ เช่น การเชิญขวัญเรือ การทำพิธีทางศาสนาโดยพระสงฆ์ เป็นต้น
การทำขวัญเรือชุดเล็ก หรือการทำขวัญเรือโดยทั่วไป จะเป็นการทำขวัญเรือในการออกเรือประมงในแต่ละครั้ง ซึ่งจะไม่มีพิธีกรรมอะไรมาก ส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยไต้ก๋งของเรือแต่ละลำเอง วิธีการก็คือ ไต้ก๋งเรือจะทำการกราบไหว้บูชาโดยการตั้งนโม ๓ จบ แล้วก็ไหว้แม่ย่านางให้ช่วยดูแลปกปักรักษา ทำมาหากินได้คล่อง เครื่องเซ่นจะประกอบด้วย หัวหมู, ไก่, ดอกไม้, ธูป ๙ ดอก, ผลไม้, กล้วย, ขนมต้มขาว, ขนมต้มแดง บางครั้งอาจมีเครื่องเซ่นไม่ครบก็ได้ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือขนมต้มขาวและขนมต้มแดง
ในส่วนของการออกเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กที่มีการออกเรือประจำวัน เจ้าของเรือหรือนายท้ายเรือจะกาด (การรำลึกถึง) แม่ย่านางเรือ ในช่วงก่อนออกเรือ และจะกาดตาขุนเลในตอนที่เรือออกไปจนถึงน้ำเขียว หรือทะเลลึกพอที่จะเริ่มหาปลาได้แล้ว เพื่อให้หาปลาได้มากตามความเชื่อของไต้ก๋งหรือนายท้ายเรือนั้นๆ


ในกรณีที่เป็นเรือประมงของชาวมุสลิม อุปกรณ์สิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมก็จะไม่แตกต่างกับของชาวประมงไทยพุทธมากนัก ต่างกันเพียงชาวประมงมุสลิมจะใช้ไก่หรือแพะแทนหมู และไม่ใช้ธูปเทียนในการบูชาแม่ย่านาง ไม่มีการตั้งนโม ซึ่งในการทำพิธีจะใช้ผู้ทำพิธีที่เป็นชาวมุสลิม ชาวประมงมุสลิมในลุ่มน้ำปากพนังส่วนใหญ่จะใช้ผู้ทำพิธีมาจากแถบหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา

มีเรื่องเล่าตามความเชื่อว่า เรือแต่ละลำจะมีแม่ย่านางต่างกัน คือมีแม่ย่านางที่เป็นมุสลิมและแม่ย่านางที่เป็นพุทธ โดยดูได้จากผู้ที่สร้างเรือ ถ้าหากผู้สร้างเรือเป็นมุสลิม แม่ย่านางก็จะเป็นมุสลิมด้วย ถ้าหากผู้สร้างเรือเป็นไทยพุทธแม่ย่านางก็จะเป็นพุทธด้วยเช่นกัน ดังนั้นการตั้งเครื่องเซ่นจะต้องดูด้วยว่า แม่ย่านางประจำเรือเป็นพุทธหรือมุสลิม มิเช่นนั้นอาจเกิดอันตรายหรือภัยพิบัติกับเจ้าของเรือได้หากตั้งเครื่องเซ่นบูชาไม่ถูก ชาวประมงที่ซื้อเรือเก่ามาใช้ เมื่อทำมาหากินไม่คล่องก็จะต้องไปสืบถึงผู้ทำเรือว่าเป็นใคร นับถือศาสนาอะไร จะได้ทราบว่าแม่ย่านางประจำเรือของตนนั้นเป็นอย่างไร จะได้ "เซ่นให้ดี พลีให้ถูก" เพื่อจะได้เกิดโชคลาภแก่เจ้าของเรือ ชาวประมงบางคนเล่าว่า ในบางครั้งจะเห็นแม่ย่านางเรือนั่งอยู่ในลำเรือด้วย ถ้าเมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ณ์เช่นนั้น ชาวเรือประมงจะต้องรีบเซ่นบวงสรวง มิเช่นนั้นอาจเกิดผลร้ายตามมาได้

การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง : เรือเพรียว
ในลุ่มน้ำปากพนังจะมีการแข่งขันเรือเพรียวทุกปีในช่วงเทศกาลออกพรรษา หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า "ประเพณีลากพระเดือน ๑๑" นับเป็นกิจกรรมประเพณีที่มีการสืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน โดยในกิจกรรมประเพณีนี้ จะมีการจัดการแข่งขันเรือเพรียวขึ้นควบคู่อย่างยิ่งใหญ่ทุกปีเช่นเดียวกัน จนมีการเรียกประเพณีนี้กันติดปากว่า "ประเพณีลากพระ-แข่งเรือเพรียว" และมีการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในทุกปีจะมีเรือเพรียวเข้ามาแข่งขันทั้งจากในอำเภอปากพนัง จากต่างอำเภอ และต่างจังหวัด เข้ามาร่วมส่งฝีพายเข้าแข่งขันกันอย่างมากมาย ในลุ่มน้ำปากพนังเองก็มีเรือเพรียวอยู่มากมายหลายลำ ที่สร้างขึ้นและส่งเข้าแข่งขัน ดังนั้นพิธีกรรมทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางก็จะมีขึ้นในเรือเพรียวด้วยเช่นกัน การทำขวัญเรือเพรียวจะมีความแตกต่างจากเรือประมงอยู่บ้างพอสมควร ซึ่งการทำขวัญเรือเพรียวสำหรับการข่งขันนั้น จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อความเป็นสิริมงคลและเรียกขวัญกำลังใจของฝีพายก่อนเข้าแข่งขันเป็นสำคัญ


ขั้นตอนการประกอบพธีกรรมการทำขวัญบูชาแม่ย่านางของเรือเพรียวนั้น ผู้เขียนได้ศึกษาการประกอบพิธีกรรมของเรือชัยสวัสดิ์ เรือเจ้าแม่คงคา และเรือเทพพิชัยสวัสดิ์ ใน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจะมีการประกอบพิธีกรรมกันที่วัดคงคาสวัสดิ์ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช สำหรับการประกอบพิธีกรรมนั้นจะมีขึ้นก่อนวันการแข่งขัน ๑ วัน โดยตอนกลางคืนจะมีการตกแต่งเรือ ตกแต่งไม้พาย ส่วนตัวของลำเรือนั้นในสมัยก่อนจะมีการลงเทียนและน้ำมันมะพร้าว (ลงทั้งลำเฉพาะด้านนอกของลำเรือ) ก่อนลงเทียนจะต้องตากเรือให้แห้งโดยการคว่ำเรือลงบนร้านที่ทำไว้รองรับ การลงเทียนจะใช้เทียนไขใส่ในบาตร ตั้งไฟให้ร้อนแล้วใส่น้ำมันมะพร้าวตามลงไป จากนั้นจึงใช้ผ้าจีวรชุบทาท้องเรือด้านนอกให้ทั่วทั้งลำเรือ ประมาณ ๒ - ๓ ครั้ง ให้ลื่นแวววาว ซึ่งจะช่วยให้เรือเพรียวพายได้คล่องและไม่หนักเกินไป แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้ทำวิธีนี้กันแล้วเพราะค่อนข้างยุ่งยาก แต่จะใช้การทาน้ำมันยูรีเทน หรือน้ำมันแลคเกอร์เคลือบเรือแทน

เมื่อตกแต่งเรือเสร็จแล้วก็จะหามเรือเข้าไปในอุโบสถหรือศาลาทำพิธี โดยให้หัวเรือหันไปทางที่มีแม่น้ำลำคลองอยู่ ถ้าหากไม่มีแม่น้ำลำคลองก็ให้หันหัวเรือไปทางทิศตะวันออก ให้หัวเรือสูงกว่าท้ายเรือเล็กน้อย ขั้นตอนต่อไปก็จะเอาไม้พายตั้งไว้ในลำเรือ โดยสลับซ้าย-ขวา เหมือนกับฝีพายนั่งอยู่ในเรือจริงๆ ใช้เทียนไขปักที่กระทงเรือทุกๆ กระทงเรือ (ที่นั่งฝีพาย) กระทงเรือละ ๑ เล่ม และหัวเรือ-ท้ายเรืออีกอย่างละ ๑ เล่ม กลางลำเรือจะมีร่มฉัตรหรือร่มนาคผูกกับกระทงเรืออยู่ตรงกลางลำเรือ ใช้สายมงคลผูกจากยอดร่มฉัตรดึงไปยังส่วนหัวเรือและท้ายเรือ และที่กระทงกลางลำเรือหรือราวกลางลำจะมีห่อผ้าห่อหนึ่ง ภายในประกอบด้วย ผ้าถุง เสื้อ ผ้าสไบ แป้งหอม เป็นต้น บรรจุอยู่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของใช้ของแม่ย่านาง นำห่อผ้ามาผูกไว้ที่ภูมิกลางลำเรือ เมื่อเตรียมพร้อมทุกอย่างแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ เมื่อพระสงฆ์จะสวดทำวัตรเย็น ประธานในพิธี อาจจะเป็นพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาส หรือจะเป็นฆราวาสก็ได้ จุดธูปเทียนหน้าพระประธานและที่เรือทุกเล่ม จากนั้นประธานฝ่ายสงฆ์ก็จะเริ่มพิธีทางศาสนา โดยเริ่มสวดบทชุมนุมเทวดา เชิญเทวดามาปกปักรักษาคุ้มครองฝีพายและผู้เข้าร่วมพิธี จากนั้นก็จะสวดบทสัคเคฯ เพื่อเซ่นแม่ย่านาง และเพื่อให้แม่ย่านาง (อาจมีเจ้าแม่เภตราเรือ เจ้าแม่สำเภาเรือด้วย) มารับศีลรับพร เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะมีการประพรมน้ำมนต์ให้กับเรือเพรียวและฝีพาย ต่อจากนั้นก็จะใช้แป้งหอม น้ำมันจันทน์ ประพรมที่ตัวเรือเพรียวอีกครั้ง และอาจมีการจุดประทัด เล่นกลองยาว ร้องเพลงประจำเรือ ตลอดจนการไชโยโห่ร้องเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้แก่ฝีพายที่จะลงทำการแข่งขันในวันรุ่งขึ้น

การประกอบพิธีกรรมทำขวัญเรือเพรียวนั้นนอกจากจะเป็นการเรียกขวัญและเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ฝีพายแล้ว ก็จะมีการตกลงชี้แนะในเทคนิคต่างๆ ของการพายเรือแข่งขัน ตลอดจนการตกลงฤกษ์เวลาที่จะเอาเรือลงน้ำ และอาจมีการมอบเสื้อผ้าชุดแข่งขัน มอบเครื่องรางของขลังหรือวัตถุมงคลต่างๆ ซึ่งในบางปีจะมีผ้าประเจียดสำหรับรัดแขน หรือโพกศีรษะ หรือเป็นสายรัดเอว ซึ่งเครื่องรางของขลังเหล่านี้นอกจากจะเป็นการเสริมขวัญและกำลังใจแล้ว นายท้ายเรือชัยสวัสดิ์ (สัมภาษณ์ บดีพล ชูมณี นายท้ายเรือชัยสวัสดิ์ เรือแข่งที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือเพรียวรุ่นเล็ก ในประเพณีลากพระ-แช่งเรือเพรียวของอำเภอปากพนังถึง ๕ สมัย) ได้เล่าว่า ในสมัยก่อนจะมีการเล่นทางไสยศาสตร์กันมากจากคู่แข่ง ดังนั้นจึงต้องมีการทำไว้เพื่อป้องกันตัว เพื่อความปลอดภัยจากการทำอันตรายจากคู่แข่งหรือฝ่ายตรงกันข้ามได้

พิธีกรรม ความเชื่อ กับการสืบสานเพื่อดำรงวิถีชีวิต
จะเห็นได้ว่า พิธีกรรมต่างๆ ในสังคมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หรือสืบต่อกันโดยไร้เหตุผล แต่พิธีกรรมความเชื่อทั้งหลายที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่ได้นั้น ย่อมต้องตอบสนองและสอดคล้องต่อการดำรงวิถีชีวิตของกลุ่มคน ชุมชน สังคม ของผู้มีพิธีกรรมความเชื่อร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมการบวชป่า การบูชาผีปู่ตา การทำขวัญข้าว หรือพิธีกรรมอื่นๆ ก็ย่อมล้วนสนองตอบต่อความสอดคล้องกับวิถีชีวิต การทำมาหากิน และปทัสถานของกลุ่มชุมชน สังคมนั้นๆ ทั้งสิน ซึ่งส่วนใหญ่พิธีกรรมต่างๆ จะเป็นพิธีกรรมความเชื่อที่มาจากฐานทรัพยากรในท้องถิ่นที่ชุมชนใช้ร่วมกันแทบทั้งสิ้น

ในกรณีของการทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางก็เช่นเดียวกัน เป็นการเกิดขึ้นมาจากการใช้ฐานทรัพยากรน้ำร่วมกัน และได้สืบทอดต่อมายังคนรุ่นหลัง โดยพิธีกรรมความเชื่อดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความงมงาย แต่เกิดขึ้นด้วยความฉลาดล้ำลึกของผู้คนในอดีต ที่ส่งผ่านพิธีกรรมความเชื่อสู่คนรุ่นหลังโดยแฝงนัยยะบางอย่างเอาไว้อย่างน่าสนใจ และน่าทึ่ง ในความเฉลี่ยวฉลาดของบรรพบุรุษของเรา

ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวเรือในลุ่มน้ำปากพนังนั้น ได้สะท้อนและแฝงนัยยะสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ คือ การทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านางในกลุ่มเรือประมงนั้น ถ้ามองให้ลึกซึ้งถึงกลอุบายของคนในยุคก่อนมาสู่ปัจจุบันนั้นจะเห็นได้ว่า การทำพิธีกรรมเหล่านี้นั้นเป็นการสื่อแสดงถึงความเคารพ ความกตัญญูต่อเครื่องมือที่ใช้ในการทำมาหากิน ที่จะต้องดูแลรักษาและถนอมใช้อย่างรู้คุณค่า มีการเซ่นพลีไม่เคยขาด ซึ่งเป็นการตรวจตราความพร้อมของเรือและลูกเรือก่อนออกทะเลอยู่เสมอ เมื่อมีความพร้อมก็สามารถป้องกันอันตรายได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ในการออกเรือประมงโดยเฉพาะประมงขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ลูกเรือจำนวนมาก จะต้องออกทะเลหาปลาเป็นเวลาหลายวัน บางครั้งก็เป็นแรมเดือนท่ามกลางทะเลที่มองไม่เห็นฝั่ง การอยู่ร่วมกันด้วยกำลังใจและความสามัคคีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะต้องใช้ชีวิตกลางทะเล อันอาจจะผจญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยจากความเครียด ความกลัวในจิตใจของลูกเรือ พิธีกรรมและความเชื่อจึงเป็นจุดร่วมกันของผู้ออกเรือ ที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกิดความเชื่อมั่น และความมั่นคงขึ้นในจิตใจ ด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์คือแม่ย่านางเรือจะคอยปกป้องคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง และจะประสบโชคในการออกเรือ ด้วยความเชื่อที่ยึดเหนี่ยวเช่นนี้ ทำให้การออกเรือของชาวประมงประสบความสำเร็จกลับมาแทบทุกครั้ง

ในกรณีของการทำขวัญบูชาแม่ย่านางเรือเพรียวก็เช่นเดียวกัน การประกอบพิธีกรรมส่วนใหญ่มักจะทำกันที่วัด ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยฝีพายทุกคนจะต้องเข้าร่วมพิธีกรรม เมื่อการประกอบพิธีกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ฝีพายทุกคนจะต้องเก็บตัวอยู่ที่วัดห้ามออกนอกวัดโดยเด็ดขาด การทำเช่นนี้นับเป็นอุบายที่สำคัญ เพื่อให้ฝีพายทุกคนได้มีความพร้อมเต็มที่ทั้งร่างกายและจิตใจ กล่าวคือนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ ความฮึกเหิมในการประกอบพิธีกรรมแล้ว การที่ฝีพายต้องนอนอยู่ที่วัดก่อนจะเริ่มการแข่งขันในวันรุ่งขึ้นนั้น จะทำให้ฝีพายไม่ออกไปเที่ยว ไม่ดื่มเครื่องดองของเมา เพื่อจะได้มีพละกำลังที่สมบูรณ์อย่างเต็มที่พร้อมที่จะแข่งขันในวันรุ่งขึ้น นอกจากนั้นในสมัยก่อนมีการแข่งขันกันสูงมาก รวมทั้งมีการพนันขันต่อในการแข่งขันอีกด้วย นอกจากนั้นการแข่งขันในทุกครั้งเป็นเหมือนกับเป็นศักดิ์ศรีของชุมชนที่ฝีพายสังกัดอยู่ ที่จะต้องคว้าชัยชนะให้ได้ การเก็บตัวที่วัดในค่ำคืนก่อนการแข่งขันจึงเป็นการป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับฝีพาย ทั้งอุบัติเหตุ และการประทุษร้ายของคู่ต่อสู้ เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว บรรดาข้อห้ามต่างๆ ในขณะที่ออกเรือก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การห้ามคนมีประจำเดือนลงเรือ การห้ามร่วมเพศบนเรือ การห้ามเล่นบริเวณหัวเรือ การห้ามปัสสาวะรดหัวเรือ และการห้ามนอนคว่ำหน้าในเรือ เหล่านี้ก็แฝงไปด้วยนัยยะของศีลธรรม และกรอบประพฤติปฏิบัติอันเป็นปทัสถานที่สำคัญของสังคมทั้งสิ้น

บทสรุป
พิธีกรรม ความเชื่อ ในเรื่องการทำขวัญเรือบูชาแม่ย่านาง ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนว่างมงาย หรือไม่มีเหตุผลตามสายตาของคนทั่วไป แต่การที่พิธีกรรมความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ได้ในสังคมอย่างเหนียวแน่นและยาวนาน ผ่านการถ่ายทอด ผลิตซ้ำสู่คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมต่างๆ เหล่านั้นมีคุณค่า มีความหมายสำหรับกลุ่มชนในสังคมนั้นๆ ถึงแม้พิธีกรรมต่างๆ หรือความเข้าใจในความหมายอันแท้จริงของพิธีกรรมเหล่านี้ จะมีการคลาดเคลื่อน หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามยุคสมัย และสภาพการณ์ของสังคมก็ตามที แต่ก็เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งใดๆ ก็ตาม หากยังคงดำรงอยู่สืบเนื่องได้นานนั้นย่อมต้องผ่านการทดสอบมาอย่างยาวนานว่าสามารถตอบสนองและสอดคล้องวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของชุมชน สังคมนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มชนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หรือเกิดจากความงมงายแต่อย่างใด แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังของพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคล กลุ่มคน ที่ร่วมปฏิบัติตามพิธีกรรมความเชื่อที่ส่งผลต่อการดำรงวิถีชีวิตของเขาเหล่านั้นทั้งสิ้น ความเชื่อที่เกิดขึ้นในสังคมไทยส่วนใหญ่ จึงผูกติดอยู่กับฐานทรัพยากรเชื่อมโยงกับหลักคุณธรรม จริยธรรม และความสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ เพื่อขอความคุ้มครองและสร้างความมั่นคงในระบบการผลิตสืบไป ความเชื่อ ความศรัทธา จึงเป็นกลไกที่สำคัญในการกล่อมเกลาสังคม และการควบคุมดูแลสังคม โดยผ่านพิธีกรรมหรือตำนานต่างๆ ที่ได้รับการเล่าขานสืบสานกันต่อมาหลายชั่วอายุคน ตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และสภาพสังคมของกลุ่มชนนั้นๆ ความเชื่อเหล่านี้จึงมีพลังอำนาจในการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ และเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสมดุลของสภาพสังคมให้ดำเนินไปอย่างปกติสุขนั่นเอง

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูลประกอบการเขียน

คุณบดีพล ชูมณี นักการโรงเรียนสตรีปากพนัง (ผู้ถือท้ายเรือเพรียวและฝึกซ้อมฝีพายเรือชัยสวัสดิ์
คุณอิงกมล ดวงแก้ว ศึกษานิเทศก์ ๖ กองการศึกษา เทศบาลเมืองปากพนัง
คุณเซ่งจิ้น เหมจินดา เจ้าของเรือประมงจิตรลดา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
คุณจริยา มหัทธนันท์ เจ้าของเรือประมง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
คุณมนู มนุษย์ ไต้ก๋งเรือประมงจิตรลดา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
คุณสายัณห์ อุบล เจ้าของเรือประมงพื้นบ้าน ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง
เอกสารอ้างอิง
ณรงค์ บุญสวยขวัญ วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่อง มาจากการพัฒนาของรัฐในระยะแผนพัฒนาฉบับที่ ๑-๘ โครงการวิจัยเรื่องโครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,๒๕๔๔.
พรศักดิ์ พรหมแก้ว "แม่ย่านาง" สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม ๑๓ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ๒๕๔๒.
ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ โลกทรรศน์ไทยภาคใต้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สสงขลา ๒๕๒๒.


ตฤณ สุขนวล

No comments: