ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Wednesday, October 15, 2008

ความเข้มแข็งของชุมชนบนฐานวัฒนธรรม


ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา "ชุมชนเข้มแข็ง" เป็นคำยอดนิยมที่ใช้กันทั่วตั้งแต่ภาครัฐจนถึงภาคประชาชน เพราะคำว่า?ชุมชนเข้มแข็ง? เป็นคำที่โดนใจกับคนทุกกลุ่ม เป็นการผนวกเอาวิธีคิดของความเป็น "ดั้งเดิม" กับ "ความเป็นสมัยใหม่" อย่างลงตัว ทั้งที่โดยวิธีคิดในการใช้คำนี้มันมีนัยที่แตกต่างกันอย่างมาก

"ชุมชนเข้มแข็ง" ในความเป็นดั้งเดิมนั้นยึดโยงอยู่กับความเป็นชุมชน ที่มีความสัมพันธ์และเอื้ออาทร อยู่บนฐานทรัพยากรของชุมชนเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อการดำรงวิถีชีวิตของชุมชนให้อยู่รอด จนเกิดการเรียนรู้ในการใช้ทรัพยากรบนความสัมพันธ์ของคนในชุมชน จนเกิดเป็นวิถีวัฒนธรรมร่วมกัน เกิดเป็นสำนึกร่วมในการใช้และดูแลทั้งความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและการใช้ทรัพยากร

ในขณะที่"ชุมชนเข้มแข็ง" ในวิธีคิดสมัยใหม่นั้นจะคำนึงถึงปัจจัยด้านการเงินและทรัพย์สินเป็นหลัก ความเข้มเข็งของชุมชนโดยนัยนี้จึงหมายถึงการจัดการด้านการเงิน ธุรกิจของชุมชน เพื่อให้เกิดการบริโภคหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรเพื่อการบริโภคในชุมชน เห็นได้ชัดจากการเกิดขึ้นของแนวคิดเรื่อง กองทุนต่าง ๆ ในชุมชนมากมาย เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน กองทุน SML กองทุน กขคจ. เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นหัวใจในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนที่มีการพูดถึงและส่งเสริมกันออย่างมากมายโดยแทบจะไม่มีการพูดถึงการส่งเสริมเรื่องความมั่นคงของทรัพยากร ความสัมพันธ์ของชุมชน และวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งอาจจะมีบ้างแต่ก็จะเป็นการแตะเพียงเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา และเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ ในกระบวนการของ?ชุมชนเข้มแข็ง? ทีแทบจะไม่ได้มีการดำเนินกันอย่างจริงจัง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องนามธรรม หรือเรื่องไกลตัวที่มองไม่ชัดในยุคสังคมทุนนิยมบริโภคนี้

"ชุมชนเข้มแข็ง" จึงเป็นคำที่ถูกทำให้ชุมชนลืมหันกลับไปมองรากเหง้าของตนเองว่าความเข้มแข็งที่แท้จริงอยู่ตรงไหน เพราะกระแสของความเข้มแข็งที่ถูกส่งผ่านความเชื่อโดยระบบทุนนิยมที่ตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาจากกระแสทุนนิยมบริโภค ทั้งโดยภาครัฐ เอกชน และแม้กระทั่งชุมชนเอง ดังนั้นกระแสของ"ชุมชนเข้มแข็ง" ส่วนใหญ่จึงถูกวัดกันที่การบริหารสินทรัพย์ที่เป็นตัวกองทุนเงินมากกว่าต้นทุนทางสังคมอื่น ๆ ดังที่เห็นกันได้อยู่ทั่วไปในสังคม/ชุมชนปัจจุบัน

จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนเองจะต้องหันกลับมาทบทวนทิศทางการก้าวเดินไปสู่นิยามของ"ชุมชนเข้มแข็ง" ว่าควรจะอยู่ตรงไหนจึงจะอยู่ในจุดที่สมดุล จะใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทันจากกองทุนเงินอย่างไรที่ไม่ไปส่งผลกระทบต่อระบบความสัมพันธ์ของคน ทรัพยากร และวัฒนธรรมของชุมชน นี่จึงเป็นโจทย์ที่ชุมชนน่าจะหันมาทบทวนและร่วมกันคิดเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างแท้จริง ไม่ใช่หลงติดอยู่เพียงมายาคติของวิธีคิดของสังคมทุนนิยมบริโภคเท่านั้น

No comments: