ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ฅนวัฒนธรรม" มีความประสงค์ที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมศึกษาทุกแนว บทความต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นบทความของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจ และส่วนหนึ่งก็จะนำเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ มาเปิดความรู้ด้วยมิติทางวิชาการบ้างตามสมควร

ขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องน้องพี่ที่สนใจส่งบทความมาลง หรือให้ข้อคิดเห็นได้ครับ
เชื่อมั่น
ครูตรินห์
trinmanee@gmail.com
-------------------------------------------------------------------------------------

Thursday, October 16, 2008

พระพิฆเนศวร : บนความเชื่อและพื้นที่ทางสังคม

พระพิฆเนศวร เป็นเทพองค์หนึ่งที่คนไทยเรามีความเคารพบูชากันมาแต่โบราณภายหลังการเข้ามาของอารยธรรมอินเดีย ซึ่งแผ่ขยายเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ โดยปรากฏตามตำนานและคัมภีร์ต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับลัทธิพราหมณ์หรือศาสนาพราหมณ์ซึ่งคนไทยตลอดจนเชื้อชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับเอาความเชื่อและพิธีกรรมเข้ามาใช้ในวิถีชีวิตของประชาชน และพระราชพิธีต่างๆ ในราชสำนักของเจ้าผู้ครองนคร ตลอดจนขุนนาง และในภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนคลี่คลายไปตามยุคสมัย โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่าพระพิฆเนศวรทรงเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการตามคติพราหมณ์-ฮินดู ยกย่องเป็นปราชญ์เทวะที่จะช่วยขจัดอุปสรรคและความขัดข้องทั้งปวงให้แก่ผู้ที่เคารพบูชาอธิษฐานขอพร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงมีความเชื่อและศรัทธาพระพิฆเนศวร ถึงกับทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลพระพิฆเนศวรไว้ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม เพราะพระองค์ทรงมีความเคารพต่อองค์เทพนี้ในฐานะ “องค์บรมครูแห่งศิลปิน”

สังคมไทยปัจจุบันนี้แม้ว่าความเจริญทางด้านศิลปะวิทยาและเทคโนโลยีในด้านต่างๆ มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับสังคมโลก แต่มิติทางด้านความเชื่อ และการเคารพบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงองค์เทพต่างๆ ก็ใช่ว่าจะหมดไป แต่กลับมีความผูกพันกับวิถีชีวิตอย่างล้ำลึก และนานวันไปดูเหมือนว่ายิ่งเพิ่มความสำคัญเข้าไปอยู่ในทุกภาคส่วนของสถาบันต่างๆ ในสังคมอย่างเหนียวแน่น

ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ในการเขียนบทความนี้เพื่อที่จะอธิบายและวิเคราะห์สภาพความเป็นจริงในสังคมนครศรีธรรมราช ที่มีต่อองค์พระพิฆเนศวรในด้านความเชื่อ-พิธีกรรม และพื้นที่ทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะลบหลู่หรือทำลายความเป็นจริงทางด้านวัฒนธรรมแต่อย่างใด โดยที่ให้น้ำหนักไปทางด้านวิถีชีวิตของคนนครศรีธรรมราชในสาขาอาชีพต่างๆ ที่เข้าถึงหรือศรัทธาต่อองค์เทพพระองค์นี้

จากการลงพื้นที่ศึกษาบริเวณร้านค้าของเก่า เครื่องเงิน เครื่องโลหะ และ ร้านจำหน่ายพระพุทธรูป รูปปั้น บริเวณหน้าวัดและในวัดพระมหาธาตุวรวิหาร ตลอดจนชมรมพระเครื่องในบริเวณวัดวังตะวันตก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พบว่ารูปปั้นหรือรูปหล่อองค์พระพิฆเนศวร มีวางจำหน่ายหรือให้เช่าตั้งแต่ ๖๐๐-๑๕๐๐ บาท ตามลักษณะวัสดุที่ใช้ ขนาดองค์ ความเก่าแก่ของรูปลักษณะ และอายุการสร้างยิ่งสร้างมานานจะมีราคาสูงขึ้นตามลำดับ เช่นเดียวกับพระเครื่องบูชาอื่นๆ

ลักษณะทางด้านความเชื่อ ศาสนาและความสัมพันธ์ทางสังคมปรากฏเด่นชัดในยุคแรก ว่าชนชาติไทยนับถือผีสางเทวดาหรือที่เรียกรวมๆ ว่าลัทธิวิญญาณ (Animism) เช่นเดียวกับชนชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในสังคมดั้งเดิมของทวีปเอเชียและแอฟริกา ต่อมา เมื่อพระพุทธศาสนาถือกำเนิดขึ้นมาในประเทศอินเดีย และพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงทำนุบำรุงและเผยแพร่พุทธศาสนาไปยังดินแดนต่างๆ ตลอดจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชนชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว มอญ เขมร จีน จาม หรือชาวพื้นเมืองอื่นๆ ต่างยอมรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม และต่อมา เมื่อลัทธิพราหมณ์ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของศาสนาฮินดู ได้แผ่กระจายเข้ามาอีกiะลอกหนึ่ง เกิดการปะทะสังสรรค์กับพุทธศาสนาและความเชื่อในเรื่องผีสางเทวดาซึ่งมีอยู่เดิม โดยมีพวกพราหมณ์ที่เข้ามากับการเผยแพร่ลัทธิพราหมณ์เข้ามาเป็นเจ้าพิธีการ เริ่มจากชุมชนต่างๆ สู่ราชสำนัก

สนิท สมัครการ ได้ให้ความเห็นว่า โดยที่บทบัญญัติของศาสนาฮินดู-พราหมณ์ สนับสนุนชนชั้นปกครองหรือชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมอย่างชัดแจ้ง พวกเจ้าและชนชั้นสูงจึงนิยมเลื่อมใสในลัทธิศาสนานี้มากกว่าคนสามัญ กษัตริย์ขอมซึ่งมีอำนาจอยู่ขณะนั้น จึงหันไปนับถือศาสนาฮินดูและนับถือพระเจ้าต่างๆ รวมทั้งปฏิบัติการตามแนวคิดเรื่องสมมติราชอย่างเต็มที่ มีการสร้างปราสาทสูงๆ เป็นเทวสถานเพื่อการติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์ตามลัทธิปฏิบัติ โดยการเกณฑ์แรงงานราษฎรมาทำการก่อสร้างปราสาทหลายหลัง อย่างเช่น ปราสาทนครวัด นครธม พิมาย และเขาพนมรุ้ง เป็นต้น

การแพร่กระจายของศาสนาฮินดูเข้ามาสู่สังคมไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยราชสำนักอยุธยา ได้นำเอาแบบพิธีกรรมของพวกพราหมณ์เข้ามาใช้ รวมทั้งแนวคิดเรื่องสมมติราชด้วย แต่ก็ไม่ทำให้กษัตริย์ไทยและชนชาวไทยทั้งมวลเปลี่ยนจากการนับถือพุทธศาสนาไปนับถือศาสนาฮินดูแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าความเชื่อในเรื่องของการเคารพบูชาต่อพระเจ้าบางองค์ของศาสนาฮินดูยังคงดำรงอยู่ ทั้งในระดับราชสำนักและในระดับชุมชน ซึ่งแสดงออกมาในลักษณะของพฤติกรรมความเชื่อผ่านพิธีการทางศาสนา รัฐพิธีราชพิธี และพิธีกรรมของชาวบ้านในระดับชุมชน ในขณะที่นับถือพุทธศาสนาและเป็นศาสนาประจำชาติไทยด้วย

ในขณะที่มุมมองของ อมรา พงศาพิชญ์ เชื่อว่าศาสนามีองค์ประกอบสามส่วนคือ พระธรรม หลักศีลธรรม และการกระทำตามคำสั่งสอน ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติตนทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและพิธีกรรม ศาสนาจึงต้องประกอบด้วยความเชื่อและพิธีกรรม จึงทำให้มองเห็นถึงความซับซ้อนของโครงสร้างทางด้านศาสนาและความเชื่อในสังคมไทยปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เหมือนกับว่าคนไทยได้หันมานับถือศาสนาใหม่ หรือลัทธิใหม่ ที่มีพัฒนาการของการผสมผสานและกลืนกลายเป็นอุดมการณ์ใหม่ของพุทธศาสนา ที่มีลักษณะของพิธีกรรมที่เป็นทั้งพุทธ ผี และพราหมณ์อยู่ในพิธีกรรมอันผสมกลมกลืน ยากที่จะจำแนกออกมาเป็นส่วนๆ ได้ ซึ่งในสภาพความเป็นจริงในข้อนี้ ท่านพุทธทาส อินทปัญโญ ได้มีความเห็นไว้ในหนังสือคู่มือมนุษย์ ว่าแม้แต่พิธีรีตองต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาอย่างน่าสมเพท เช่น การจัดสำรับคาวหวาน ผลหมากรากไม้ เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้า อย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระ เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนาและได้สอนกันอย่างเคร่งครัด

ในการเข้ามาของฮินดูพราหมณ์ ได้ก่อให้เกิดลัทธิบูชารูปเคารพอื่นนอกเหนือจากพระพุทธรูปโดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาของพวกพราหมณ์ ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในเทวสถาน หรือโบสถ์พราหมณ์ที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่ หลังจากการลดน้อยลงของตระกูลพราหมณ์ เนื่องจากพราหมณ์ถือว่าตนอยู่ในวรรณะสูงรองจากวรรณะกษัตริย์ จึงไม่นิยมสมรสกับวรรณะอื่น ปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุงของหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ว่าพนักงานพิธีของฝ่ายพราหมณ์ขึ้นกับหลวงทิพย์มณเฑียรหน้าวัง มีพราหมณ์ ๒๐ คน กับพนักงานรักษาเทียนไชยหัวหน้าพราหมณ์ ๔ คนคือขุนศรีสยมภู หัวหน้าพราหมณ์ ขุนศรีสพสมัย เป็นผู้ถือบัญชีพราหมณ์ ขุนไชยปาวี กับขุนสิทธิชัย เป็นผู้นำเจ้าเมืองเข้าเมือง นอกจากนี้ยังมีผู้ช่วยอีก ๔ คน คือขุนไชยธรรม ขุนเทพมณี ขุนยศ ขุนน้อย และนอกนั้นเป็นพราหมณ์บัณเฑาะว์ชาวสังข์อีก ๑๒ คน การดังกล่าวดำรงอยู่ในหัวเมืองต่างๆ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงปฏิรูปการปกครองใน พ.ศ.๒๔๓๗ ความสำคัญของพราหมณ์เกี่ยวกับพิธีการต่างๆ ตามหัวเมืองก็ลดความสำคัญลง ทำให้การนับถือพราหมณ์เสื่อมลง จนบางครั้งก็รวมเอาพิธีกรรมของพราหมณ์กับพุทธเข้าด้วยกัน ตามสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ในตำนานเมืองพัทลุง ได้กล่าวถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของพวกพราหมณ์จากอินเดีย ว่าเข้ามาพร้อมพร้อมๆ กับเมืองไชยา และเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานว่ามาจากเมืองพาราณสี หรือรามนคร โดยการเข้ามานอกจากสร้างเทวสถาน เทวาลัย เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้วยังสร้าง ศิวลึงค์ อุมาลิงค์และรูปเคารพขององค์เทพต่างๆ เช่นที่ปรากฏในเมืองพัทลุง นครศรีธรรมราช ไชยา ปัจจุบัน

รูปเคารพของพราหมณ์พัทลุงเท่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน คือรูปพระอิศวรหล่อสำริดปางนาฏราชศิลปะอินเดีย พระพิฆเนศวร พระอุมา และยังมีรูปพระโพธิสัตว์มัชชุศรีของพุทธศาสนาลัทธิมหายานร่วมอยู่ด้วย โดยเข้าใจว่าพวกรุ่นหลังพราหมณ์เข้าใจว่าเป็นรูปพระอิศวร เช่นเดียวกับที่ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานการสร้างพระธาตุได้กล่าวถึงการเข้ามาของพวกพราหมณ์ ว่าเป็นการเข้ามาอย่างผู้ทรงคุณความรู้ทางวิชาการด้านต่างๆ เป็นที่ยอมรับและศรัทธาของชนพื้นเมืองเดิม หลักฐานทางด้านโบราณคดีเช่นหอพระอิศวร หอพระนารายณ์ และเทวสถานอื่นๆ รวมถึงรูปเคารพขององค์เทพต่างๆ ยังคงมีน้ำหนักต่อการยืนยันปรากฏการณ์ในอดีตได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงกับพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่าที่ ตรี อมาตกุล ได้นำมาอ้างถึงในบทความเรื่องนครศรีธรรมราชสมัยอยุธยาว่า<ฝp>

“แต่ก่อนนครศรีธรรมราชเป็นเมืองใหญ่ข้างฝ่ายใต้ เรือลูกค้าไปมาค้าขายอยู่ทั้งสองฝั่งทะเล คือข้างฝั่งนี้ (ฝั่งตะวันออก) เข้ามาถึงเมืองนครศรีธรรมราช ข้างฝั่งตะวันตกเข้ามาทางเมืองตรัง พวกพราหมณ์เมื่อได้เข้ามาถึงเมืองนครสรีธรรมราชมากแล้ว จึงขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ เป็นการสะดวกดีกว่าที่จะเดินผ่านเขตแดนพม่ารามัญ ซึ่งเป็นปัจจามิตร ซึ่งตั้งสกัดอยู่ข้างทางเหนือ เพราะฉะนั้นเชื้อพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราชจึงไม่มีสิ้นสุดมาจนกระทั่งบัดนี้ มีเทวสถาน มีเสาชิงช้า ซึ่งพราหมณ์ยังคงทำพิธีอยู่แต่เป็นอย่างย่อๆ ตามมีตามเกิด และที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในชั้นหลังก็มี เช่น พระครูอัษฎาจารย์ (บิดาหลวงสุริยาเทเวศร์) เป็นต้น ลัทธิเวทย์มนต์อันใดก็ไม่ผิดแปลกกันเพียงแต่เลือนๆ ไปเหมือนพระสงฆ์ในกรุงเทพฯและหัวเมือง ชะรอยหัวเมืองข้างใต้ตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาจะเป็นเมืองที่พราหมณ์อยู่โดยมาก จนถึงเพชรบุรีก็ยังมีบ้านพราหมณ์ตั้งสืบตระกูลกันมาช้านานจนถึงเดี๋ยวนี้ สิ่งสำคัญ”

ตรี อมาตยกุล ยังยืนยันเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรม ราชที่ยังทำสืบกันเรื่อยมาแต่โบราณ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงได้เลิก แต่เสาชิงช้าที่ใช้ในพิธีตรียัมปวายของพราหมณ์เพิ่งรื้อเสียเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๘๓ ส่วนกระดานสำหรับโล้ชิงช้าเวลานี้ยังคงเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานวัดพระมหาธาตุ เชื้อสายพราหมณ์ที่เมืองนครศรีธรรมราช ในปัจจุบันก็ยังมีเหลืออยู่บ้าง แต่เป็นจำนวนน้อย เนื่องจากพวกพราหมณ์มีลัทธิประเพณีกีดกันไม่ให้สมพงศ์ร่วมกับพวกต่างตระกูล จึงมีพงศ์พันธุ์เหลืออยู่ไม่มากนัก ในเวลานี้พวกพราหมณ์ที่มีเชื้อสายสืบเนื่องมาจากพราหมณ์ดั้งเดิม ก็ยังมีตั้งบ้านเรือนอยู่ทั้งในเมืองและนอกเมือง เมื่อสมเด็จกรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช เสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลใน พ.ศ.๒๔๒๗ ได้เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ทรงเล่าว่ามีพราหมณ์อยู่เมืองนครศรีธรรมราชประมาณ ๕๐๐ คน การแต่งกายของพวกพราหมณ์ก็ผิดแปลกกับชาวพื้นเมืองทั่วไปคือ นิยมแต่งกายด้วยเครื่องขาว คือทั้งเครื่องนุ่งและเครื่องห่มตามประเพณีเดิมของตน มิได้หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม ส่วนผมก็ยังคงไว้ยาวเกล้ามวยไว้ข้างหลัง อย่างเดียวกับพวกพราหมณ์ที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนี้เหมือนกัน และยังยืนยันว่าเมืองเก่าอื่นๆ ก็เป็นแบบเดียวกันมักจำทำเทวสถานประจำเมืองไว้แทบทุกเมือง เช่นที่เมืองตะกั่วป่า เมืองไชยา และเมืองเวียงสระ ก็มีเทวสถานทั้งนั้น แม้เมืองที่ตั้งทางทิศเหนือ เช่น เมืองอู่ทอง (อยู่ในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี) เมืองลพบุรี เมืองปราจีนบุรี และเมืองศรีเทพ (อยู่ในเขตอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์) ก็มีเทวสถานประจำเมืองด้วยกันทุกเมือง แต่เนื่องจากเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองใหญ่ จึงไม่ปล่อยให้เทวสถานรกร้างหักพังไปเหมือนอย่างเช่นเทวสถานในเมืองอื่นๆ ที่เคยเป็นเมืองร้างในบางยุคบางสมัย คงทำการซ่อมแซมกันเรื่อยมาหลายุคหลายคราว และด้วยการซ่อมแซมกันอยู่เสมอนี่เอง เป็นเหตุให้เทวสถานต่างๆ ของเมืองนี้เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ ผิดจากรูปทรงที่สร้างไว้แต่เดิมหมด ในปัจจุบันจึงไม่ได้พบของเก่าที่นับว่าเป็นฝีมือช่างแต่ดั้งเดิมเหลืออยู่เลยสักแห่งเดียว

ในโบสถ์พราหมณ์มีกุฏิสำหรับเก็บรักษารูปสำหรับใช้ในพิธีพราหมณ์ คือ ศิวลึงค์ศิลา ๔ อัน ฐานสำหรับรองศิวลึงค์อันหนึ่ง ฐานรองเทวรูปฐานหนึ่ง และรูปพระคเณศวร์องค์หนึ่ง นอกกุฏิมีศิวลึงค์โคนทำเป็นแปดเหลี่ยมอันหนึ่ง เดิมในกุฏินี้มีกระดานอยู่แผ่นหนึ่ง สำหรับใช้ฝังในหลุมศพตามพิธียัมปวายของพราหมณ์ กระดานที่กล่าวนี้จำหลักเป็นรูปนางคงคาสองแผ่น เป็นของเก่าครั้งอยุธยา และกระดานจำหลักเป็นรูปพระอาทิตย์แผ่นหนึ่ง เป็นของสร้างขึ้นใหม่สำหรับใช้แทนรูปนางคงคา แต่เมื่อเลิกพิธีตรียัมปวายสำหรับเมืองนี้แล้ว จึงได้นำกระดาษจำหลักทั้งสามแผ่นนี้ไปในพิพิธภัณฑสถานวัดพระมหาธาตุวร มหาวิหาร และนอกจากนี้ยังมี “หอพระอิศวร” เป็นที่ไว้เทวรูปสำริดฝีมือช่างอินเดียอยู่หลายองค์มี พระอิศวรปางนาฏราช พระลักษมี พระคเณศวร์ และรูปหงส์ เป็นเทวรูปที่ประดิษฐานประจำหอนี้มาแต่โบราณ ส่วน “หอพระนารายณ์” อันเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพพระนารายณ์ แต่การซ่อมครั้งหลังสุดช่างกลับนำเทวรูปปูนปั้นองค์หนึ่งฝีมือช่างครั้งสมัยอยุธยามาประดิษฐานไว้ ชาวเมืองเรียกว่าพระนารายณ์ ที่จริงกลับเป็นรูปพระอิศวร ส่วนองค์ที่ขุดพบใหม่เป็นรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขกทำด้วยศิลา เป็นแบบช่างอินเดีย นอกจากนี้แล้วยังมี “ศาลพระเสื้อเมือง” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเทพารักษ์ประจำเมืองซึ่งมีกุฏิเล็กๆ สำหรับไว้รูปปั้นเทพารักษ์สององค์ เค้าหน้าคล้ายท้าวเวฬุราช ในวิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สำหรับ “ฐานพระสยม” ในเมืองนครศรีธรรมราชถึงสองแห่ง ทั้งนี้คงเนื่องจากพวกพราหมณ์ที่เข้ามาอยู่แต่ก่อนมีหลายพวกด้วยกันก็ได้ ที่หอนี้มีฐานเทวรูปศิลาขนาดกว้าง ๑ เมตรสี่เหลี่ยมฐานหนึ่งกับศิวลึงค์ศิลาอันหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้เป็นของเก่าที่เป็นฝีมือช่างสมัยก่อนขอมหรือสมัยเจนละ ซึ่งมีอายุประมาณว่าไม่ต่ำกว่า ๑๒๐๐ ปี

กำเนิดพระพิฆเนศวร
ในคัมภีร์ภารตอินเดีย มีการระบุถึงที่มาและกำเนิดของพระพิฆเนศวรไว้แตกต่างกัน แต่จะมีรูปลักษณ์ที่เหมือนกัน คือรูปร่างเป็นมนุษย์พระเศียรเป็นช้างซึ่งในที่นี้จะยกมากล่าวอ้าง ให้พอเห็นความหลากหลายตามที่ อรชุน กุรุนนท์ได้อธิบายไว้ว่าดังนี้

คัมภีร์สุประภีทาคม ได้กล่าวถึงกำเนิดของพระพิฆเนศวรว่าในครั้งที่พระศิวะ และพระแม่ปาราวตีเสด็จไปเที่ยวชมป่า ก็ได้บังเอิญพบเห็นช้างพลายและช้างพังคู่หนึ่งกำลังเสพสมกันอยู่ ด้วยความนึกสนุกทั้งสองพระองค์จึงต่างแปลงกายเป็นช้างทั้งคู่ แล้วเสพสมสู่กันในป่านั้น ซึ่งในเวลาต่อมาพระนางปาราวตีทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลเป็นพระโอรสองค์หนึ่งเป็นเทพที่มีร่างกายเหมือนมนุษย์แต่ทว่าพระเศียรเป็นรูปช้าง

คัมภีร์มัตสยปุราณะ กล่าวว่า ขณะที่นางปาราวดีผู้เป็นอัครมเหสีเอกของพระศิวะกำลังสรงน้ำอยู่ตามลำพังนั้น ได้ทรงนำเอาเหงื่อไคลของนางมาผสมกับน้ำมันหอม แล้วนำมาปั้นเป็นรูปเทพที่มีหัวเป็นช้างแต่ตัวเป็นคน แล้วประพรมด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นน้ำของพระแม่คงคาอีกด้วย พระพิฆเนศวรจึงจุติขึ้นมาในครั้งนั้น โดยพระนางปาราวตีมีพระประสงค์จะให้พระพิฆเนศวรไปช่วยขัดขวางชาวบ้านชาวเมือง ที่ประสงค์จะไปสักการบูชาพระศิวะลึงค์ที่เทวาลัยอีกด้วย

คัมภีร์ลิงศปุราณะ กล่าวว่าบรรดาพวกอสูรและรากษส ได้เกิดความฮึกเหิมกำเริบเสิบสาน สร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์และทวยเทพ เนื่องจากได้ไปทำการบวงสรวงสักการะพระศิวะอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานาน จึงได้พรวิเศษหลายประการตามที่พระศิวะประทานให้ พระศิวะจึงทรงเนรมิตองค์เทพด้วยการแบ่งภาคส่วนหนึ่งของพระองค์ แล้วประทานพรให้เป็นเทพแห่งความขัดข้องหรือขัดขวางพวกอสูรและรากษสเหล่านั้น จนหมดฤทธิ์เดชไป และยังช่วยอำนวยพรให้แก่ผู้กระทำความดีให้ปราศจากความขัดข้องนานาประการ เทพบุรุษหนุ่มผู้นี้ไม่ได้มีเศียรเป็นรูปช้างแต่อย่างใด

คัมภีร์สถานทปุราณะ กล่าวว่ามีพวกศูทร พวกคนบาปคนชั่วทั้งปวง ที่เคยประกอบพิธีพลีบูชาที่พระวิหารโสมีศวน เมื่อตายแล้วบรรดาคนเหล่านั้นได้พรจากการที่เคยทำบุญจึงไปจุติบนสรวงสวรรค์ และกลายเป็นเทพอสูรที่ชอบแสดงฤทธิ์เดช ทำความเดือดร้อนให้ทั้งโลกและสวรรค์สั่นสะเทือนมากขึ้นทุกที พระอินทร์และทวยเทพพากันไปปรึกษาหารือกับพระศิวะ พระศิวะแนะนำให้ไปปรึกษานางปาราวตี มเหสีของพระองค์ นางจึงได้อธิษฐาน แล้วใช้พระหัตถ์ลูบพระวรกายของนาง ก็บังเกิดเป็นเทพองค์หนึ่งซึ่งมีเสียงเป็นช้างและมี ๔ กร คือ พระพิฆเนศวร และให้ไปทำหน้าที่กำจัดอสูร รากษส และบรรดาคนบาปคนชั่วให้หมดไปจากสวรรค์ได้เป็นผลสำเร็จ

คัมภีร์พรหมไววรรตปุราณะ กล่าวว่า พระศิวะกับนางปวาราวตีได้ครองคู่อยู่ร่วมกันมานานแสนนาน แต่ทว่ายังไม่มีพระโอรสเป็นมิ่งขวัญเลย จึงให้นางปาราวตีประกอบพิธีบูชาพระวิษณุขึ้นในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ เรียกว่าพิธีปัญญากะพรต โดยมีการบริจาคทานแก่ชาวบ้านและพราหมณ์นับพันคนทุกๆวัน เรื่อยไปจนครบ ๑ ปี จนเวลาผ่านไป พระนางเข้าไปในตำหนักพบพระกุมารน้อยๆ องค์หนึ่งอยู่บนพระแท่น ซึ่งทำให้พระนางได้ทราบว่าพระกฤษณะ ได้อวตารมาจุติเป็นโอรสของพระนาง เมื่อบรรดาเทพทั้งปวงทราบข่าวก็ได้มาแสดงความยินดี มีการเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกครึกครื้น ในจำนวนนั้นพระเสาร์มีกิริยาแปลกกว่าเทพองค์อื่น คือ ไม่สามารถทอดพระเนตรพระโอรสตรงๆ ได้ เนื่องจากเกรงว่าจะต้องคำสาปของพระชายา แต่เมื่อถูกนางปาราวตีคะยั้นคะยอและอนุญาต จึงหันไปทอดพระเนตรมองพระเนตรพระกุมารน้อย ในวินาทีนั้นพระเศียรของพระกุมารน้อยก็ขาดกระเด็นลอยล่องไปถึงสรวงสวรรค์ อันเป็นชั้นของพระกฤษณะ สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับปวงเทพ พระวิษณุก็รีบประทับพญาครุฑเสด็จไปยังแม่น้ำบุษปภัทร พบช้างพลายตัวหนึ่งกำลังนอนหลับ จึงตัดศีรษะช้างนั้นกลับมาต่อที่พระศอของพระกุมารน้อย จึงได้ฟื้นคืนพระชนม์ชีพขึ้นมา

รูปลักษณ์และพระนามของพระพิฆเนศวร
พระพิฆเนศวรทรงเป็นเทพที่มีรูปโฉมแปลกแยกแตกต่างจากองค์อื่นๆ ทั้งปวง การมีเศียรเป็นช้างซึ่งมีงาเดียวนั้นเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว อันสามารถกล่าวได้ว่า เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้พระพิฆเนศวรทรงโดดเด่นและแตกต่างจากเทพองค์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง รูปลักษณ์ของเทพองค์อื่นๆ นั้นในแต่ละปางก็อาจมีรูปลักษณ์ที่แปลกแยกแตกต่างออกไป แต่สำหรับพระพิฆเนศวรนั้นไม่ว่าจะปรากฏในปางใด ก็จะปรากฏเสมอกันว่าทรงมีพระเศียรเป็นช้างและมักจะมีเพียง ๑ เศียร ๑ หน้าเท่านั้น แต่ในรูปเคารพรูปหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของอินเดียโบราณก็ปรากฏว่าพระพิฆเนศวรมี ๒ เศียร ๒ พักตร์ โดยที่เศียรหนึ่งนั้นเป็นช้าง อีกเศียรหนึ่งเป็นมนุษย์ และมี ๔ กร หรือ ๔ มือ ในแต่ละพระหัตถ์ก็ทรงถือสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ เช่น ขนมโมทกะ บ่วง ขอ และงา เป็นต้น รูปเคารพลักษณะนี้มักจะปรากฏอยู่ในบอมเบย์ และบางท้องถิ่นในอินเดีย โดยส่วนใหญ่แล้วพระพิฆเนศวร จะมีสองพระเนตร มีบางปากเป็นส่วนน้อยเท่านั้นมีดวงพระเนตรที่สามอยู่บนหน้าผาก เป็นรูปเปลวไฟ และนูนออกมา หรืออาจจะมีรูปจันทร์เสี้ยวอยู่ตรงกลางหน้าผากคล้ายๆ กับพระศิวะมหาเทพผู้เป็นบิดาของพระองค์ ในบางปางหน้าผากปรากฏเป็นเส้นสีขาวแนวนอน ๓ เส้น ขนานกันกลางหน้าผาก เหนือระหว่างคิ้ว ซึ่งรูปเคารพ ลักษณะนี้มักจะปรากฏในลัทธิไศวนิกาย ส่วนงวงมักจะห้อยลงมาเบื้องหน้าตรงๆ แต่ปลายงวงจะบิดไปทางซ้ายหรือขวาบ้าง มีเพียงบางปางเท่านั้นที่จะหันงวงไปทางซ้าย แล้วห้อยงวงตรงไปเบื้องล่าง และอาจมีบางปางซึ่งเป็นส่วนน้อยที่จะมีงวงยกขึ้นในระดับบ่า งามีงาเดียว ส่วนใหญ่จะมีงาทางด้านขวา แต่บางปางก็ปรากฏว่ามีงาข้างเดียวทางด้านซ้าย ส่วนพระกร บางปางมี ๒ พระกร แต่บางปางมี ๔ กร สิ่งของส่วนใหญ่ที่อยู่ในพระหัตถ์นั้นโดยมากจะเป็นสิ่งของอันเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ เช่น งาข้างที่หักไป ขนมโมทกะหรือขนมต้ม มะขวิด มะม่วง หัวผักกาด บ่วง ขอ ตรีศูล วัชระ ดาบ เป็นต้น โดยมีพระหัตถ์ข้างขวา ยกขึ้นในท่าห้ามมาร ทั้งนี้จะแตกต่างกันตามปางที่ปรากฏในคัมภีร์นั้นๆ สำหรับท่วงท่าในแต่ละปาง มีท่าประทับนั่งสองขาไขว้กัน ประทับห้อยพระบาทข้างใดช้างหนึ่งลงเบื้องล่าง ส่วนอีกข้างหนึ่งพับวางอยู่บนอาสนะ ประทับนั่งบนอาสนะโดยเข่าข้างหนึ่งพับงอ แต่เข่าอีกข้างหนึ่งยกตั้งขึ้น นั่งอยู่บนอาสนะโดยขาทั้งสองเข้าหากันแบบท่านั่งขัดสมาธิ แต่ฝ่าเท้าด้านหน้าชิดแบบติดกัน ประทับยืนตรง ประทับยืนด้วยปลายเท้า แต่ยกช่วงส้นเท้าทั้งคู่ขึ้นเสมือนอยู่ในท่าร่ายรำ ประทับยืนด้วยขาข้างหนึ่งส่วนอีกข้างหนึ่งยกขึ้นไขว้ไปบนช่วงเข่าของขาอีกข้างหนึ่งเป็นเสมือนกำลังร่ายรำ ส่วนเครื่องประดับในการอธิบายรูปลักษณ์สมัยแรกๆ ทรงเป็นมหาเทพที่มิได้ประดับด้วยเครื่องอัญมณีหรือสายสังวาลใดๆ เลย แต่จะปรากฏมีเครื่องประดับแตกต่างกันตามคัมภีร์ต่างๆ เช่นอาจจะประดับด้วยสายศักดิ์สิทธ์ที่เรียกว่า สายยัชโญปวีต บางคัมภีร์นั้นทรงคล้องงู หรือคล้องสายสังวาล และมีงูพันท้องไว้เสมือนเป็นเข็มขัด ส่วนในยุคต่อมาจะทรงสวมมงกุฎเป็นอัญมณี สวมสร้อยคอ สร้อยข้อมือที่เป็นเพชรนิลจินดาตลอดจนข้อเท้าก็มีอัญมณีเช่นกัน พาหนะของพระองค์ คือ หนู ในความหมายว่าเป็นสัตว์ที่เป็นตัวแทนของความมืด ซึ่งพระพิฆเนศวรในอีกทางหนึ่งก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง ผู้ทำลายความมืด หนูเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการทำลายอุปสรรคเครื่องกีดขวางทั้งปวง ในแต่ละคัมภีร์อาจกล่าวถึงพระนามของพระองค์แตกต่างกันไปจนมีพระนามถึง ๒๕ พระนาม เช่น ฆเณศวร คณปติ คณนาท คณกรีฑา คณนายก คชนน ธูมรกะ ทวิเทหก เอกทันตะ สิทธิธาดา มโหทร วักตุณฑ อาขุรถ เหรัมภะ วิกัฎ วินายกหรือวิฆนหารี สิทธิปติหรือสิทธิบดี ลัมโพทร คณปุงควะ รักตตุนท คชวัทน กรีมุข วินฆนราช หรือวิฆเนศวร วิฆนายก และพิฆเนศวร แต่พระนามที่รู้จักกันในภาคใต้กลับเรียกว่า “พระคเณศ” ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ได้อธิบายว่า เป็นเทพที่ถือกำเนิดค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับเทพองค์อื่นๆ ในศาสนาพราหมณ์ เพราะเพิ่งได้รับการยกย่องเป็นเทพในลัทธิไศวนิกายในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๐ นี้เอง แต่พระคเณศกลับกลายเป็นเทพที่ได้รับการนับถือบูชามากที่สุด เนื่องจากพระคเณศเป็นเทพที่สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวง และยังเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาและการประพันธ์ด้วย จึงได้พบรูปเคารพพระคเณศทั่วทุกภาคของอินเดีย และนอกอินเดีย เช่น ในเนปาล ทิเบต ปากีสถาน ชวาบาหลี บอร์เนียว พม่า ไทย เขมร จัมปา จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยปราชญ์อินเดียสันนิษฐานว่า พระคเณศเดิมเป็นเทพพื้นเมืองมาก่อน เพิ่งจะมาได้รับการยกย่องเป็นเทพในศาสนาฮินดู เดิมในคติพื้นเมือง พระคเณศสัมพันธ์กับเทพแห่งแสงอาทิตย์ เพราะพระคเณศมีหนูเป็นพาหนะ เนื่องจากหนูเป็นสัญลักษณ์ของความมืด พระคเณศทรงหนูจึงหมายถึงชัยชนะของแสงอาทิตย์ที่ขจัดความมืดให้สิ้นสุดลงได้ นอกจากนี้ตามคติพื้นเมือง พระคเณศยังได้รับการยกย่องให้เป็น “เทพแห่งการเก็บเกี่ยว” (Lord of the Harvest) และยังได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าของเทพที่มีเศียรเป็นสัตว์ จนกระทั่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าของพวกกึ่งมนุษย์กึ่งเทวดา และเป็นบริวารของพระศิวะ อาศัยอยู่ที่เขาไกรลาศตามคติของศาสนาฮินดู โดยได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งอุปสรรค (Lord of Obstacle) หรือในชื่อพระพิฆเนศวรซึ่งแปลตามรูปศัพท์ว่าอุปสรรค พิฆเนศวร หรือ พระพิฆเนศวร์ จึงเป็นเทพแห่งอุปสรรคและสิ่งกีดขวางทั้งปวง คือสามารถขัดขวางมนุษย์ สัตว์ เทวดา และมารร้ายต่างๆ และในขณะเดียวกันก็สามารถขจัดสิ่งกีดขวางทั้งปวงได้ด้วย

การแพร่กระจายของคติการนับถือบูชาพระคเณศในภาคใต้ของไทย
การรับนับถือพระคเณศในภาคใต้มีความสัมพันธ์ประสมประสานกับการรับนับถือศิวลึงค์ การแพร่กระจายของคตินี้จึงเป็นทำนองเดียวกัน และควบคู่กันมาอย่างแยกไม่ออก ส่วนการบูชานับถือเท่าที่ปรากฏหลักฐานพบว่า มีทั้งปฎิมากรรมพระคเณศขนาดเล็กที่ทำด้วยตะกั่ว ขนาดใหญ่ทำจากสำริด และสลักจากหิน โดยพบจากแหล่งชุมชนโบราณทั้งสองฝั่งทะเล บริเวณฝั่งตะวันออกพบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง ส่วนบริเวณชายฝั่งตะวันตกจะพบในเขตจังหวัดกระบี่และพังงา โดยได้กล่าวรายละเอียดไว้ดังนี้

ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการสำรวจของกรมศิลปากร (ยังไม่มีรายงาน) พบว่าปะติมากรรมศิลาทรายรูปพระคเณศชำรุด ๒ องค์ ในบริเวณเจดีย์วัดแก้ว ส่วนใน นครศรีธรรมราช ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ได้พบประติมากรรมรูปพระคเณศจำนวนหลายองค์ ส่วนใหญ่เป็นสำริด มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มีทั้งหมด ๕ องค์ ๓ องค์ เป็นพระคเณศที่ย้ายมาจากโบสถ์พราหมณ์ อีก ๒ องค์เป็นพระคเณศที่ได้จากเอกชน องค์ที่ ๑ เป็นทองสำริด สูง ๔๖.๕ เซนติเมตร เป็นพระคเณศ ๔ กร ประทับยืนตรง (สมภังค์) บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๒ ชั้นซ้อนกัน องค์พระคเณศสวมกรัณฑมงกุฏ และเครื่องประดับต่างๆ และมีสายยัชโญปวีตพาดพระอังสาซ้าย นุ่งผ้าสมพต (ถกเขมร) กรขวาบนทรงถือขอสับช้าง กรซ้ายบนทรงถือบ่วงบาศ กรล่างขวาทรงถืองา (งาขวาที่หัก) กรซ้ายล่างทรงถือขนมโมทากะ งวงห้อยตรงลงมาแล้ว ตวัดปลายไปทางซ้าย ที่น่าสังเกตคือพระคเณศองค์นี้มีจารึกอยู่บนฐานชั้นล่างทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จารึกด้านหน้าเป็นตัวอักษรทมิฬสมัยใหม่ อ่านได้ว่า มะ-ชหา-ปิ-จิ-เท-ศะ (Ma-Jha-pi-ci-de-sa) ซึ่งแปลได้ว่า “ประเทศอันรุ่งเรืองแห่งมัฌชหาปิ” (มัฌชปาหิต) และด้านหลังเป็นตัวอักษรไทยปัจจุบันอ่านได้ว่า “มหาวิคิเนกสุระ” ซึ่งหมายถึงพระคเณศนั่นเอง สำหรับตัวอักษรทมิฬนั้น อัญชนา จิตสุทธิญาณ (ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกแห่งภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ได้กำหนดอายุว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ แม้ว่าจารึกภาษาทมิฬจะกล่าวถึงราชวงศ์มัฌชปาหิต ซึ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งของชวา ที่รุ่งเรืองขึ้นในชวาภาคตะวันตกในช่วงระหว่างพุทธสตวรรษที่ ๑๙-๒๑ และเป็นราชวงศ์ที่อุปถัมภ์ศาสนาพราหมณ์ก็ตาม แต่รูปแบบของพระคเณศองค์นี้มิได้เหมือนรูปแบบพระคเณศในศิลปะชวาแต่อย่างใด หากแต่รับอิทธิพลรูปแบบจากศิลปะเขมรเป็นส่วนใหญ่ จึงสามารถกำหนดอายุพระคเณศองค์นี้ไว้ในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒) ส่วนการกล่าวถึงราชวงศ์มัฌชปาหิตในจารึกนั้น อาจตีความได้ว่าพราหมณ์ดินแดนภาคใต้ของไทยกลุ่มหนึ่ง คงจะอพยพมาจากชาวตะวันออกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ หรือก่อนหน้านั้น

องค์ที่ ๒ เป็นพระคเณศสำริดขนาดเล็กสูงเพียง ๘ เซนติเมตร ประทับนั่งขัดสมาธิพระบาทขวาทับซ้าย (ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระคเณศในศิลปะเขมร) บนฐานสี่เหลี่ยมที่มีร่องน้ำสรง ใต้ฐานมีรูปหนู (ซึ่งเป็นพาหนะของพระคเณศ) มองเห็นด้านข้างทั้งตัว พระคเณศองค์นี้มี ๔ กร งวงห้อยตรงลงมา ปลายงวงตวัดไปทางซ้าย กรขวาบนทรงถือขอสับช้าง กรซ้ายบนทรงถือบ่วงบาศ กรขวาล่างทรงถืองา (งาขวาที่หัก) กรซ้ายล่างทรงถือขนมโมทากะ จะทรงเครื่องครบทั้งกรัณฑมุกุฏ และเครื่องประดับแบบกษัตริย์ รวมทั้งสายยัชโญปวีต การทำรูปหนูประดับพระคเณศโดยทำเป็นหนูหันด้านข้าง เป็นคตินิยมของพระคเณศในอินเดียใต้ หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไปแล้ว พระคเณศองค์นี้จึงเป็นงานประติมากรรมชิ้นที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบศิลปะอินเดียใต้ผสมผสานกับรูปแบบศิลปะเขมร ซึ่งแผ่เข้ามาในบริเวณนี้ (ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙) อย่างไรก็ตามพระคเณศองค์นี้จะเป็นพระคเณศรุ่นเดียวกับองค์แรก เนื่องจากมีรายละเอียดต่างๆ คล้ายคลึงกัน ต่างกันแต่เพียงท่าประทับนั่งและยืนเท่านั้น ดังนั้นพระคเณศองค์นี้จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ เช่นเดียวกัน

องค์ที่ ๓ เป็นทองสำริดขนาดสูง ๑๙ เซนติเมตรเป็นพระคเณศประทับนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม พระบาทขวาทับซ้าย (ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระคเณศในศิลปะเขมร) มี ๒ กร กรขาวทรงถืองา (งาขวาที่หัก) กรซ้ายทรงถือบ่วงบาศสวมกรัณฑมงกุฏ และเครื่องประดับต่างๆ รวมทั้งสายยัชโญปวีต พระคเณศองค์นี้น่าจะเป็นของใหม่ ทำเลียนแบบพระคเณศรุ่นที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เนื่องจากมีรูปทรงแข็งกระด้าง และลวดลายการตกแต่งก็ทำแบบหยาบๆ

กลุ่มพระคเณศที่ได้มาจากเอกชน
กลุ่มนี้มี ๒ องค์ คือ องค์ที่ ๑ เป็นพระคเณศสำริดสูง ๒๐ เซนติเมตร เดิมเป็นของ นายบุษย์ มณีกฎ เป็นพระคเณศประทับนั่งพระบาทขวาทับซ้าย (ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระคเณศในศิลปะเขมร) บนฐานดอกบัวมี ๔ กร กรขวาล่างทรงถือขอสับช้าง กรล่างซ้ายทรงถือขนมโมทากะ สวมกะบังหน้าแบบศิลปะเขมรแบบมหายาน และสวมเครื่องประดับแบบกษัตริย์และสายยัชโญปวีต พระคเณศองค์นี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙

องค์ที่ ๒ เป็นสำริดเช่นกันแต่เป็นพระคเณศขนาดเล็ก ทรงพาหนะคือหนู สูง ๒ เซนติเมตร กรมศิลปากรซื้อมาจาก ม.จ.ปิยะ ภักดีนาถ เป็นพระคเณศ ๔ กร กรขวาบนทรงถือบ่วง กรล่างทรงถือขนม กรซ้ายบนทรงถือสังข์ กรซ้ายล่างทรงถืองาที่หัก (งาขวาที่หัก) อาจกล่าวได้ว่าพระคเณศทรงหนู เป็นคตินิยมของศิลปะอินเดียในภาคเหนือ แต่หลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไปแล้ว ศิลปะอินเดียใต้ก็นิยมนำเอาหนูซึ่งเป็นพาหนะของพระคเณศมาประดับบัลลังก์ที่ประทับของพระคเณศด้วย พระคเณศองค์นี้สวมเครื่องประดับแบบกษัตริย์และสวมกะบังหน้าซึ่งมีรูปคล้ายคลึงกะบังหน้าของเทพ ในศิลปะเขมรแบบบายน จึงอาจกล่าวกำหนดอายุพระคเณศองค์นี้ว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมศิลาทราย รูปพระคเณศประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย สวมเครื่องทรงแบบกษัตริย์ รวมทั้งสายยัชโญปวีต แต่ชำรุดมาก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้บริเวณระเบียงวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังมีพระคเณศหินทรายอีก ๒ องค์ คือ พระคเณศที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดสวนชัน อำเภอฉวาง และอีกองค์เป็นของเอกชนที่ได้มาจากอำเภอท่าศาลา

ในจังหวัดสงขลา พบประติมากรรมรูปพระคเณศ ๒ องค์ คือ องค์ที่ ๑ เป็นพระคเณศศิลาพบที่อำเภอพังหนุน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา) เป็นพระคเณศประทับนั่งท่ามหาราชลีลาชันพระชานุขวาขึ้น พระบาทซ้ายพาดขวางบนแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความสูง ๓๕ เซนติเมตร มี ๔ กร งาซ้ายหัก (ตามคัมภีร์ว่างาขวาหัก) กรขวาบนทรงถือสังข์ กรซ้ายบนทรงถือบ่วง กรขวาล่างทรงถือวัตถุชิ้นหนึ่งไม่อาจตีความได้ กรซ้ายล่างทรงถือถ้วยใส่ขนมโมทากะ มีงวงตวัดปลายมาทางซ้ายมาจับขนมในกรซ้าย มีสายยัชโญปวีตรูปนาคพระอังสาซ้าย ลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติไม่ตกแต่งเครื่องประดับของกษัตริย์ สวมแต่สร้อยไข่มุกเส้นเดียวรอบพระศอ และรอบพระกร จัดเป็นพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในภาคใต้ของไทย และจากลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติคือไม่มีเครื่องประดับตกแต่ง สวมสายยัชโญปวีตและมีปั้นเหน่งเป็นรูปนาคหรืองู ประทับนั่งท่ามหาราชลีลา ซึ่งจัดเป็นรูปแบบนิยมของพระคเณศอินเดียช่วงสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) แต่เนื่องจากกรขวาบนของพระคเณศองค์นี้ทรงถือสังข์ซึ่งไม่ปรากฏในพระคเณศอินเดียแต่ปรากฏในเขมรสมัยก่อน เมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔) พระคเณศองค์นี้จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ไปแล้ว แต่คงไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทยได้กำหนดอายุของพระคเณศองค์นี้ อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒

องค์ที่ ๒ เป็นพระคเณศสำริดขนาดเล็กสูงประมาณ ๖ เซนติเมตร พบจากบ้าน พังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา) เป็นพระคเณศ ๒ กร ประทับนั่งในท่าที่แปลก คือ คุกพระชานุซ้ายลงกับพื้น และยกพระชานุขวาขึ้น สัญลักษณ์ที่ถือในพระหัตถ์มองไม่ชัดว่าเป็นอะไรกันแน่ เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก พระคเณศองค์นี้จะสามารถสวมกะบังหน้าและพระเครื่องประดับตกแต่งแบบกษัตริย์ สำหรับพระคเณศองค์นี้ นักประวัติศาสตร์ศิลป์กำหนดอายุว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยเปรียบเทียบกะบังหน้าของพระคเณศ ว่าเป็นแบบเดียวกับกะบังหน้าของเทพในศิลปะเขมรแบบบายน

ส่วนในจังหวัดพังงา เป็นพระคเณศที่สลักจากศิลาทราย พบที่บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดอินทราวาส จังหวัดสุราษฏร์ธานี) มีขนาดความสูง ๗๒ เซนติเมตร เป็นพระคเณศ ๔ กร ประทับนั่ง พระบาททั้งสองแยกห่างจากกัน สวมกรัณฑมุกุฏ เครื่องประดับกษัตริย์และสายยัชโญปวีต งาขวาหักไปเหลือแต่งาซ้าย งวงห้อยลงมาแล้วตวัดปลายไปทางขวามือ กรขวาบนทรงถือลูกประคำ กรซ้ายบนทรงถือสัญลักษณ์บางอย่างซึ่งตีความไม่ได้ ส่วนกรขวาล่างทรงถืองาและกรซ้ายล่างทรงถือขนม (๒ กรล่างยกขึ้นในระดับพระอุระ) จากลักษณะทั่วไปคือทรงมงกุฎ (กรัณฑมุกุฏ) และการทำงวงตวัดไปทางขวา จึงอาจนำไปเปรียบได้กับพระคเณศในศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์โจฬะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖) ดังนั้นพระคเณศศิลาองค์นี้จึงเป็นประติมากรรมหินสลักที่รับรูปแบบศิลปะอินเดียใต้มา และเนื่องจากหินทรายที่ใช้สลักพระคเณศองค์นี้เป็นหินที่หาได้ในท้องถิ่น จึงอาจจะเป็นพระคเณศฝีมือพื้นเมืองที่เลียนแบบศิลปะอินเดียใต้ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ดังนั้นพระคเณศองค์นี้จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และพระคเณศองค์นี้น่าจะมีบทบาทเป็นเทพผู้ปกป้องคุ้มครองเด็กๆ ไม่ให้เจ็บป่วยเนื่องจากพบประติมากรรมศิลารูปเทพมารดา (ผู้หญิงอุ้มเด็ก) ในบริเวณเดียวกัน

ในจังหวัดกระบี่ เป็นพระคเณศสำริดขนาดเล็กสูงประมาณ ๖ เซนติเมตร พบที่เกาะเขาหลัก บ้านแหลมกรวด อำเภอเมืองกระบี่ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นพระคเณศ ๔ กร มีลักษณะรูป “โอม” ประดับด้านหน้าและหลัง น่าจะเป็นเครื่องรางที่ไว้ติดตัวผู้เดินทางเพื่อขจัดอุปสรรคต่างๆ

การเปรียบเทียบรูปแบบพระคเณศในภาคใต้ของไทยกับพระคเณศในอินเดียและในเอเชียอาคเนย์
อาจกล่าวได้ว่าคติการบูชาพระคเณศได้แผ่เข้ามายังดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ของไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย สาเหตุที่คติการบูชาพระคเณศแผ่อิทธิพลมายังบริเวณนี้ เนื่องจากดินแดนแถบนี้เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างอินเดียและจีน และพระคเณศเป็นเทพที่พ่อค้าต้องทำการสักการบูชา ด้วยสาเหตุที่เป็นเทพผู้สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวงได้ ทำให้การค้าขายคล่องตัวและประสบความสำเร็จ จึงไม่น่าแปลกที่พระคเณศจะมีบทบาทสำคัญในดินแดนแถบนี้ และนอกจากจะเป็นผู้ขจัดอุปสรรคทั้งปวงแล้ว พระคเณศยังปรากฏเป็นเทพบริวารของพระศิวะ และยังคงมีบทบาทเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองเด็กๆ ไม่ให้เจ็บป่วยอีกด้วย

จากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน ปรากฏประติมากรรมรูปพระคเณศทั้งแบบที่สลักจากหินซึ่งมีขนาดใหญ่ และแบบที่หล่อจากสำริดซึ่งมีขนาดเล็กๆ ในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทย องค์ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นพระคเณศศิลาประทับนั่งมี ๔ กร สูง ๓๕ เซนติเมตร พบที่พังหนุน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทยได้กำหนดอายุไว้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เนื่องจากมีรูปแบบใกล้เคียงพระคเณศในศิลปะอินเดียภาคเหนือสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) พระคเณศองค์นี้นอกจากจะเป็นพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในภาคใต้ของไทยแล้ว ยังจัดได้ว่าเป็นรูปแบบพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนเอเชียอาคเนย์ คือเก่ากว่าพระคเณศในศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครซึ่งพบที่ออกแล้ว (เวียดนามตอนใต้) และพบที่ตวลผักกิน (ประเทศเขมร) และเก่ากว่าพระคเณศรุ่นเก่า ของจัมปาอีกด้วย

นอกจากอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะแล้ว อิทธิพลรูปแบบพระคเณศจากอินเดียใต้ สมัยราชวงศ์โจฬะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖) ก็ปรากฏในดินแดนภาคใต้ของไทยด้วย ดังได้พบประติมากรรมศิลาทรายรูปพระคเณศประทับยื่นมือมี ๔ กร สูง ๗๒ เซนติเมตร ที่บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

จึงกล่าวได้ว่าคาบสมุทรภาคใต้ของไทยได้รับอิทธิพลคติการบูชาพระคเณศ และรูปแบบทางศิลปกรรมรูปพระคเณศโดยตรง จากอินเดียภาคเหนือตั้งแต่สมัยคุปตะ และจากอินเดียภาคใต้ในสมัยโจฬะด้วย และตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อิทธิพลศิลปะเขมรได้แผ่เข้ามายังดินแดนแถบนี้ ดังนั้นประติมากรรม พระคเณศที่พบในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทยในช่วงนี้ส่วนใหญ่จึงรับอิทธิพลรูปแบบพระคเณศในศิลปะเขมร ซึ่งมีลักษณะของตนเองนั่นคือ การทำพระคเณศในท่าประทับนั่งขัดสมาธิราบ โดยให้พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย และจะสวมกะบังหน้าแบบกะบังหน้าของเทพเขมรสมัยบายน จึงสรุปได้ว่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นไป พระคเณศในดินแดนภาคใต้ได้รับรูปแบบศิลปะเขมรสมัยบายน ดังปรากฏประติมากรรมรูปพระคเณศสำริด ขนาดเล็กมี ๒ กร ประทับนั่งและมีความสูงเพียง ๖ เซนติเมตร ที่พังยาง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา) กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และอีกองค์หนึ่ง คือพระคเณศสำริด ๔ กร สูง ๒๐ เซนติเมตร ประทับนั่งขัดสมาธิพระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของพระคเณศในศิลปะเขม

หลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ไปแล้วก็ยังปรากฏประติมากรรมรูปพระคเณศในดินแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมสำริด ๔ กร มีทั้งแบบประทับนั่งและยืน และยังคงสืบต่อรูปแบบพระคเณศแบบเขมรสมัยบายน โดยเฉพาะรูปแบบกะบังหน้าและท่าประทับนั่งขัดสมาธิแบบเฉพาะของเขมร เป็นต้นว่าประติมากรรมสำริด ๒ องค์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช องค์หนึ่งเป็นรูปพระคเณศ ๔ กร ประทับยืนบนแท่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๒ ชั้น ซึ่งด้านหน้าและด้านหลังของแท่นมีจารึกภาษาทมิฬ กำหนดอายุไว้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ อีกองค์หนึ่งเป็นพระคเณศ ๔ กร ประทับนั่งพระบาทขวาทับพระบาทซ้าย (แบบเฉพาะของระคเณศในศิลปะเขมร) ใต้ฐานซึ่งเซาะเป็นร่องรับน้ำสรงเป็นรูปหนู เห็นด้านข้างซึ่งเป็นรูปแบบนิยมของศิลปะอินเดียใต้ หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไปแล้ว และประติมากรรมชิ้นนี้ก็อาจจัดได้ว่ามีรูปแบบคล้ายคลึงกับองค์แรก จึงน่าจะมีอายุใกล้เคียงกันคือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ซึ่งเป็นช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น จากจารึกภาษาทมิฬที่ฐานพระคเณศองค์แรก และจากการนำรูปหนูซึ่งเป็นพาหนะของพระคเณศมาประดับฐาน พระคเณศองค์ที่ ๒ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลอินเดียใต้จากดินแดนทมิฬที่เข้ามาในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒)

การเปรียบเทียบรูปแบบพระคเณศในภาคใต้ของไทยกับพระคเณศในภาคต่างๆ ของไทย
นอกจากในคาบสมุทรภาคใต้ของไทยแล้ว ยังได้พบประติมากรรมรูปพระคเณศในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยอีกด้วย

ภาคตะวันออก ประติมากรรมรูปพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในปรากฏในเขตจังหวัดปราจีนบุรีที่เมืองพระรถ อำเภอศรีมหาโพธิ์ เป็นประติมากรรมศิลาขนาดใหญ่ เป็นรูปพระคเณศประทับยืน ๒ กร แต่ชำรุดมาก แตกออกเป็น ๑๘ ชิ้น กรทั้งสองก็หักออกหมดจนไม่ทราบว่าถืออะไรกันแน่ แต่เนื่องจากมีรูปทรงใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สวมเครื่องประดับตกแต่ง อยู่ในกลุ่มพระคเณศรุ่นเก่าที่รับอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะและน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงศตวรรษที่ ๑๖

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะพบประติมากรรมรูปพระคเณศเป็นจำนวนมากในแถบนี้ เป็นรูปแบบที่รับอิทธิพลศิลปะเขมร มีทั้งที่เป็นประติมากรรมหินสลักลอยตัว และที่เป็นภาพสลักนูน และทับหลังปราสาทหินต่างๆ ที่เป็นประติมากรรมหินสลักลอยตัวที่น่าสนใจมี ๒ องค์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา องค์ที่ ๑ เป็นประติมากรรมศิลาทรายขาวสีเทา สูง ๒๔ เซนติเมตร พบที่ปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพระคเณศประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทซ้ายทับพระบาทขวา มี ๒ กร ไม่มีเครื่องประดับตกแต่งใดๆ หัตถ์ขวาหักไป หัตถ์ซ้ายทรงถือขนม มีงวงตวัดไปจัดขนมที่หัตถ์ซ้าย ได้รับการกำหนดอายุอยู่ในช่วงระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ โดยเปรียบเทียบกับศิลปะเขมรแบบไพรกเมง (พ.ศ.๑๑๗๘-๑๒๔๓) อีกองค์หนึ่งเป็นประติมากรรมศิลาทรายเช่นกัน สูง ๔๗ เซนติเมตร พบที่ปรางค์แถวหน้าองค์กลางของปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพระคเณศประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย (เป็นแบบเฉพาะของศิลปะเขมร) มี ๒ กร สวมกะบังหน้า กรขวาหัก กรซ้ายทรงถือขนมโมทากะ เป็นรูปของพระคเณศในศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ นอกจากประติมากรรมลอยตัวแล้วยังปรากฏเป็นภาพสลักนูนบนหน้าบันและทับหลังปราสาทหินต่างๆ

ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งรับอิทธิพลศิลปะเขมร ส่วนใหญ่จะปรากฏเป็นภาพบริเวณของเทพศิวะในภาพสลักเหล่านั้น

ภาคกลาง มักพบประติมากรรมสำริดรูปพระคเณศขนาดเล็กจำนวนหลายองค์ ส่วนใหญ่เป็นสมบัติของเอกชน มีความสูงประมาณ ๔.๕-๕.๐ เซนติเมตร เป็นต้นว่า พระคเณศที่พบที่วัดกลาง (วัดร้าง) ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมืองนครปฐม ที่จังหวัดนครปฐม และพระคเณศที่พบจากจังหวัดลพบุรี ซึ่งมักทำเป็นพระคเณศ ๔ กร กรซ้ายบนทรงถือตรี กรขวาล่างทรงถืองา และกรซ้ายล่างทรงถือขนมโมทากะ ทรงเครื่องประดับแบบกษัตริย์ครบเครื่อง ประติมากรรมสำริดขนาดเล็กที่พบบริเวณภาคกลางนี้เป็นอิทธิพลศิลปะเขมรที่แผ่เข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ ทั้งสิ้น หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ไปแล้ว คติการบูชาพระคเณศได้รุ่งเรืองขึ้นอีกในบริเวณภาคกลางของไทยในสมัยอยุธยา ดังปรากฏประติมากรรมศิลา จังหวัดอยุธยา ส่วนใหญ่จะปรากฏในรูปของเทพแห่งศิลปวิทยาการ คือถือคัมภีร์และงา นอกจากเป็นประติมากรรมลอยตัวแล้ว ยังปรากฏเป็นภาพเขียนในสมุดไทย ชุดสมุดภาพพระพุทธรูป ๔๘ ปาง ซึ่งมีภาพพระคเณศ ๔ เศียร ๔ กร , เศียรเดียว ๘ กร และเศียรเดียว ๔ กร ในรูป ๔ กร มักทรงถือขอสับช้างในกรขวาบนกรซ้ายบนถือบ่วง กรขวาล่างทรงถืองาและกรซ้ายล่างทรงถือขนมโมทากะ บางภาพแสดงภาพพระคเณศจับช้างไว้ในพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง เป็นช้างตัวเดียวหลายเศียรก็มีหรือช้างหลายตัวก็มี

ในภาคเหนือก็ปรากฏคติการบูชาพระคเณศเช่นกัน แต่ช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ไปแล้ว โดยนับถือเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการเช่นเดียวกับในภาคกลางและสืบต่อคติและรูปแบบมาจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบพระคเณศที่พบในภาคใต้ของไทยกับภาคอื่นๆ แล้ว ปรากฏว่าคติการนับถือพระคเณศและรูปแบบพระคเณศที่ปรากฏในภาคใต้นั้นเก่าแก่กว่าภาคอื่นๆ จึงสรุปได้ว่าคติการบูชาพระคเณศได้แผ่จากอินเดียโดยตรงและมารุ่งเรืองอยู่ในดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ของไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ดังได้พบพระคเณศศิลาที่อำเภอพังหนุน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา (แม้ว่าจะพบพระคเณศรุ่นเก่า ๑ องค์ ที่เมืองพระรถ อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี แต่ก็ไม่มีพัฒนาการคติการบูชาพระคเณศที่ต่อเนื่อง) แล้วในดินแดนภาคใต้ของไทยยังได้รับอิทธิพลรูปแบบพระคเณศจากอินเดียใต้ สมัยราชวงศ์โจฬะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖) อีกด้วย ดังได้พบพระคเณศศิลาทรายที่บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และเมื่ออิทธิพลศิลปะเขมรได้แผ่เข้ามายังดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และเข้าไปในภาคกลางบางส่วนนั้น อิทธิพลศิลปะเขมรดังกล่าวได้แผ่เข้ามายังดินแดนภาคใต้ของไทยด้วย ดังได้พบประติมากรรมรูปพระคเณศแบบศิลปะเขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ของไทย แต่ในภาคใต้ของไทยนั้น ดูเหมือนจะรับอิทธิพลศิลปะเขมรช้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง คือหลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไปแล้ว พระคเณศในภาคใต้ของไทยได้เลียนแบบเทพเขมรสมัยบายนโดยเฉพาะลักษณะกะบังหน้า ส่วนท่านั่งขัดสมาธิแบบเขมร (พระบาทขวาทับพระบาทซ้ายนั้นก็จัดเป็นแบบที่นิยมมากของพระคเณศภาคใต้ช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไปแล้ว และดูเหมือนว่ากะบังหน้าแบบบายนและท่านั่งขัดสมาธิแบบพิเศษของเขมรจะให้อิทธิพลต่อรูปแบบพระคเณศในภาคใต้ของไทยจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ซึ่งเป็นช่วงสมัยอยุธยาทีเดียว)

ถึงแม้ว่าคติการบูชาพระคเณศจะแผ่เข้ามาในดินแดนภาคใต้ของไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ และรุ่งเรืองสืบต่อมาโดยไม่ขาดช่วงจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ก็ตาม ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีลัทธิการบูชาพระคเณศที่เรียกว่าลัทธิคาณปัตยะ ซึ่งรุ่งเรืองในอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๕ นั้น มาปรากฏในดินแดนภาคใต้ของไทย เนื่องจากลัทธิคาณปัตยะเป็นลัทธิที่บูชาพระคเณศเป็นเทพสูงสุดเหนือเทพอื่นใด และยังบูชาศิวลึงค์ของพระคเณศด้วย แต่คติการบูชาพระคเณศในภาคใต้ของไทยนั้น จัดเป็นคติบูชาพระคเณศในฐานะที่เป็นเทพแห่งอุปสรรค ผู้สามารถขจัดอุปสรรคให้แก่พวกพ่อค้าชาวฮินดูที่เดินทางเข้ามาค้าขายยังบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทย และในช่วงต่อมาเมื่อมีชุมชนพราหมณ์มาตั้งถิ่นฐานถาวรในดินแดนภาคใต้ ชุมชนพราหมณ์เหล่านี้ก็บูชาพระคเณศทั้งในฐานะเทพบริวาร (พระโอรสของพระศิวะ) และในฐานะเทพผู้ขจัดอุปสรรคและประสิทธิ์ประสาทความสำเร็จแก่ผู้บูชาทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดๆ ก็ตาม และเนื่องจากในดินแดนภาคใต้มีชุมชนพราหมณ์มาอาศัยอยู่ต่อเนื่องกันตลอด จึงปรากฏประติมากรรมรูปพระคเณศในศาสนาพราหมณ์ติดต่อกันมาจนถึงสมัยอยุธยา นอกจากนี้คติการบูชาพระคเณศในฐานะผู้ปกป้องคุ้มครองเด็กไม่ให้เจ็บป่วยก็คงปรากฏในดินแดนภาคใต้นี้ด้วย เนื่องจากได้พบประติมากรรมศิลารูปเทพมารดา (ผู้หญิงอุ้มเด็ก) ในบริเวณบ้านทุ่งตึก จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับที่ได้พบประติมากรรมศิลารูปพระคเณศ ๔ กรด้วย

ในปัจจุบันแม้ว่าไม่มีพราหมณ์เหลืออยู่แต่คติความเชื่อของพราหมณ์ยังคงได้รับการถ่ายทอดและสืบสานต่อมาในหลายสาขาอาชีพและกลุ่มชน พิธีกรรมอย่างพราหมณ์แม้จะยากและซับซ้อนสำหรับคนปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นอุปสรรคในการนับถือบูชาต่อองค์เทพพระองค์นี้ จากการศึกษาข้อมูลในพื้นที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พบว่าผู้ที่บูชาจะใช้คาถาบูชาพระคเณศ เป็นภาษาบาลี ซึ่งมีแตกต่างกันไป สั้นบ้างยาวบ้างตามแต่จะจดจำบอกเล่ากันมา โดยมีพระภิกษุและผู้สูงอายุหลายท่านที่มีความสามารถในเรื่องการให้คำแนะนำในการบูชา และทำให้เป็นที่มาของการดำรงอยู่ของคติความเชื่อดังกล่าวนี้ โดยในส่วนของผู้นับถือ ต่างมุ่งหวังให้เป็นมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ในเรื่องของการประกอบอาชีพ การทำมาหากิน และการลงทุนในด้านต่างๆ

พระพิฆเนศวรกับพื้นที่ทางสังคมในนครศรีธรรมราช
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการดำรงอยู่ของคติความเชื่อ และการนับถือพระคเณศที่ฝังรากลึกอยู่ในนครศรีธรรมราช ได้มีปรากฏการณ์ผ่านปัจเจกบุคคลประเภทต่างๆ อันนำไปสู่การแสดงตัวตนทางสังคมในฐานะต่างๆกันทั้งที่เป็นไปโดยเปิดเผย และที่เป็นไปโดยไม่เปิดเผยโดยผู้ศึกษาได้ทำการสำรวจ สังเกต และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องพบว่ามีดังนี้

๑. พระสงฆ์ ในฐานะผู้เป็นเจ้าพิธีกรรม และผู้บูชาส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์รุ่นอายุ ๘๐ ขึ้นไป ส่วนพระสงฆ์รุ่นใหม่บางรูปรู้จัก แต่บางรูปไม่รู้จักเลย โดยบางรูปบอกว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตำนานความเชื่อ ที่ไม่ควรไปหลงงมงายโดยเชื่อว่าการเคารพบูชาดังกล่าว เป็นเรื่องของอวิชาที่ควรได้รับการขจัดออกไปจากสังคม ในยุคของความเจริญก้าวหน้าทางด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี

๒. คนแก่และผู้อาวุโสโดยทั่วไปทราบและเข้าใจในคติความเชื่อดังกล่าว แต่ไม่เคยทำการบูชาเลย โดยส่วนใหญ่บอกว่าต้องไปถามพระ หรือไปถามหมอยาหรือหมอพื้นบ้านที่เคยรู้จัก แต่เมื่อไปสอบถามคนเหล่านั้นกลับได้รับคำตอบว่าเป็นเรื่องของพวกพราหมณ์ ปัจจุบันไม่มีแล้ว และแนะนำว่าอย่าไปเคารพบูชาโดยที่ไม่เข้าใจจะเป็นเสนียดจังไรแก่ตน การเคารพบูชาต้องกระทำโดยหลักของเวทย์มนต์คาถาที่ยากแก่การจดจำ และมีขั้นตอนการนำไปใช้ที่ซับซ้อน

๓. ศิลปินพื้นบ้าน พบว่าศิลปินพื้นบ้านโดยทั่วไปจะรู้จักดี เพียงแต่ไม่เคยเข้าถึงโดยการนับถือบูชาอย่างจริงจัง โดยบอกว่าเพียงแต่ได้เอ่ยพระนามถึงในฐานะที่เป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการ และการแสดง ส่วนนายหนังตะลุงเชื่อว่า เป็นองค์เทพที่สำคัญและแม้ไม่ได้ออกพระนามบูชาเป็นบทกลอน แต่ก็ได้เอ่ยพระนาม เพื่อขอพรให้มีความสำเร็จเจริญรุ่งเรืองในการแสดงในแต่ละคืน และบางคนมีรูปบูชาไว้ที่หิ้งบูชาที่บ้านด้วย และมีบางคณะที่วาดรูปพระพิฆเนศวรไว้ที่ตรงกลางของฉากบน (ฉากที่อยู่เหนือจอหนังเพื่อเขียนชื่อของคณะ ส่วนฉากล่างใช้เป็นพื้นที่โฆษณาของผู้สนับสนุน) สำหรับนายโรงโนราห์ส่วนใหญ่รู้จักดีแต่บอกว่าไม่ได้ทำพิธีการบูชาแต่อย่างใด สำหรับเพลงบอกก็เช่นเดียวกัน ส่วนบรรดาลูกคู่ทั้งของหนังตะลุง มโนราห์ และเพลงบอกส่วนใหญ่บอกว่าไม่เคยได้ทำพิธีบูชาเลย คือเป็นเรื่องยากและเป็นหน้าที่ของหัวหน้าคณะเท่านั้น

๔. ร้านค้าในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ร้านค้าโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จักเทพองค์นี้ และไม่เคยทราบตำนานหรือประวัติเลย โดยทราบและบูชานางกวักเป็นเทพประจำร้าน และเท่าที่สังเกตเห็นก็เป็นจริงดังคำตอบ แต่จะมีปรากฏในร้านจำหน่ายพระพุทธรูป ร้านขายของเก่าบางร้านที่นำออกมาวางโชว์เพื่อจำหน่าย เมื่อถามถึงการนับถือบูชาเจ้าของร้านบอกให้ไปถามคนแก่ๆ รุ่นคุณตาคุณยายเพราะเคยได้ยินการกล่าวถึงในความศักดิ์สิทธิ์ และบางคนแนะนำให้ไปสอบถามจากชมรมพระเครื่องในวัดวังตะวันตก และเมื่อไปสอบถามที่ชมรมพระเครื่อง พบว่าเจ้าของแผงพระเครื่องรู้จักดีแต่สำหรับการนำไปเคารพบูชาให้ไปถามพระสงฆ์ เพราะพวกเขาบอกว่าเขามีความชำนาญทางด้านการดูเนื้อพระ หรือรูปปั้นเพื่อหาค่าของความเก่าแก่ ว่าเป็นของแท้ของจริงเพื่อการคำควณราคามากว่าการทำพิธีกรรม

และเมื่อตระเวนไปยังอำเภออื่นๆ โดยรอบมีอำเภอพระพรหม ลานสกา ท่าศาลา ปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร และเฉลิมพระเกียรติ ก็พบสภาพการณ์เช่นเดียวกันซึ่งพอประมาณได้ว่า ความเชื่อและพิธีกรรมการบูชาต่อองค์พระพิฆเนศวร น่าจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่ได้เป็นจารีตแบบแผนโดยทั่วไป

๕. สถานที่ราชการ บริษัทเอกชน และธนาคาร ไม่ปรากฏร่องรอยของการมีรูปปั้นของพระพิฆเนศวรไว้บูชา เห็นเพียงหิ้งพระหรือโต๊ะหมู่บูชาในห้องสำนักงานของหัวหน้าหรือผู้จัดการ ซึ่งมีพระพุทธรูปและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่เท่านั้น มีบางแห่งจะมีการบูชาพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย โดยจัดสถานที่ไว้ในลักษณะของหิ้งบูชาและทรงอยู่ในที่สูงกว่าโต๊ะหมู่บูชา

๖. วัด วัดบางวัดเห็นมีรูปปั้นวางอยู่ในลักษณะที่รวมอยู่กับพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ที่บริเวณฐานของพระประธานในโบสถ์ หรือโรงธรรมศาลาหรือบริเวณหน้าระเบียงหรือในกุฎเจ้าอาวาสและไม่ได้เป็นที่สนใจของบรรดาพระสงฆ์หรือศิษย์วัด เมื่อสอบถามก็จะบอกให้ถามเจ้าอาวาสอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะได้รับคำตอบที่หลากหลายดังได้กล่าวแล้ว

๗. โรงเรียน/วิทยาลัย การเข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศในโรงเรียน และวิทยาลัยต่างๆ ภายในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พบว่า พระพิฆเนศวร ในความหมายของนักเรียน เข้าใจว่าคือพระอิศวร เมื่อสอบถามจากครูและผู้บริหารโรงเรียนโดยทั่วไป ก็ได้ทราบว่าเป็นเรื่องตำนานและโบราณไปแล้ว และไม่สามารถออกความเห็นอะไรได้เพราะไม่มีข้อมูล ฉะนั้นพระพิฆเนศวรในสายตาของคนเหล่านั้นจึงกลายเป็นความเป็นอื่นไปแล้ว

สำหรับในวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช เป็นสถานศึกษาแห่งเดียวที่คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์และคนงานภารโรงรู้จักพระพิฆเนศวร มีความคุ้นเคยกับชื่อนี้ และพอทราบรายละเอียดบางประการ เนื่องจากว่าภายในวิทยาลัยมีรูปปูนปั้นที่จำลองขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของสถาบัน และทุกๆ ปี ในวันไหว้ครูประจำปีจะมีการจัดพิธีกรรมเซ่นบวงสรวง โดยนำดอกไม้หรือมาลัยพร้อมเครื่องเซ่นไปถวาย ภาพเหล่านี้อาจเป็นความเคยชิน ที่ได้เห็นแต่ส่วนใหญ่มองเห็นในฐานะผู้ดู ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติพิธีกรรม โดยนักนักศึกษาทั่วไปเห็นว่าเป็นรูปเคารพที่น่ากลัวและน่าเกรงขาม แต่บางคนได้ให้ข้อมูลว่า มีความมั่นใจถ้าหากได้นำพวงมาลัยไปสวมก่อนที่จะสอบ หรือก่อนที่จะไปทำการแสดงนาฏศิลป์นอกสถานศึกษา

กล่าวโดยสรุปแล้ว พื้นที่ทางสังคมของพระพิฆเนศวรไม่ได้มีความกว้างขวางอย่างที่คาดการณ์ไว้แต่แรก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่ากาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนวิธีคิดของคนในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป จนไม่ได้เหลือรากเหง้าแห่งพราหมณ์นครศรีธรรมราชอีกเลย หรืออีกประการหนึ่งก็คือพื้นที่ของพระพิฆเนศวรที่จะดำรงความเป็นเทพอยู่ได้ก็เป็นเพียงในความคิดคำนึงของปัจเจกชนบางคน และอาชีพบางอาชีพเท่านั้น ซึ่งน่าจะพิจารณาต่อไป ว่าในบรรดาคนเหล่านั้นมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านความเชื่อต่อไปอย่างไร และดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างไร ถ้ามองในแง่ของทฤษฎีเกี่ยวกับแนวคิดการปะทะสังสรรค์ทางสังคม (Social Interaction) การที่สังคมของพราหมณ์-ฮินดูได้เข้ามาถ่ายทอดแนวความคิดของตนสู่สังคมชาวพุทธตั้งแต่ในครั้งอดีตนั้น ได้เกิดการสนองตอบ (Response) ซึ่งกันและกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม โดยผ่านพฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ ที่เกิดจากการปะทะสังสรรค์ของสมาชิกทั้งสองสังคม แต่เมื่อพฤติกรรมของสมาชิกได้รับการยอมรับซึ่งกันและกันแล้วก็จะกลายเป็นจารีตของสังคม โดยแยกไม่ออกว่าจารีตนั้นมาจากสังคมส่วนใด ซึ่งถ้ามองในอีกแง่หนึ่งจะสอดคล้องกับแนวคิดในเรื่องการปรับตัว (Adaptation) เช่นที่ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล กล่าวไว้ว่า มนุษย์ใช้กระบวนการปรับตัว เป็นกลไกของการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ที่ช่วยให้อยู่รอดได้ในแทบทุกสภาพภูมิศาสตร์ ดังนั้นวัฒนธรรมที่ต่างแบบกันอันเป็นผลมาจากการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของเทคโนโลยีทางการผลิตที่แตกต่างกัน

การกล่าวถึงการปรับตัวนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดผสมผสานกันของทฤษฎีวิวัฒนาการแนวใหม่ (Evolutionism) กับแนวคิดที่โต้กับทฤษฎีวิวัฒนาการแนวใหม่ ล่าวคือแม้ว่าการปรับตัวที่ดีหมายถึงการเพิ่มขีดความสามารถของโอกาสในการดำรงอยู่ ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวต้องนำมาสู่ความก้าวหน้าในความซับซ้อนทางสังคมและวัฒนธรรม โดยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง สังคมใดมีกลไกในการปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็นำไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้นไปสู่สังคมใหม่ แต่เส้นทางการวิวัฒนาการมีหลายเส้นทาง การวิวัฒนาการอาจมิได้มีความซับซ้อนเสมอไป และความซับซ้อนกับความก้าวหน้ามิใช่สิ่งเดียวกัน กรณีของการเกิดสงคราม การเกิดไหม้ การเกิดน้ำท่วมใหญ่ หรือการเกิดภูเขาไฟระเบิด การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเห็นได้ชัดเจนจากการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัฐกาลที่ ๕ และการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๗ ทำให้วัฒนธรรมพราหมณ์ในประเทศไทยอ่อนตัวลง และเกิดการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไปสู่ความซับซ้อนที่ก้าวหน้าขึ้น แต่ต้องเกิดการปะทะสังสรรค์ครั้งใหม่กับวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็วอีกครั้ง เป็นลักษณะอย่างนี้ต่อไปอีก จนมาถึงการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน ที่ทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศวร ลดระดับลงไปเป็นความเชื่อของคนจำนวนน้อย และมีฐานะเป็นแค่เพียงพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลเท่านั้นเอง

แต่ถ้าหากมองในแง่ของการบูรณาการทางวัฒนธรรม (Cultural Integration ) ซึ่งเป็นการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรม โดยไม่มีความพยายามที่จะครอบงำกัน โดยเน้นการยอมรับของรัฐ จะมองเห็นว่าวัฒนธรรมพราหมณ์ไม่ได้ถูกปฏิเสธโดยรัฐ แต่ในทางปฏิบัติ รัฐมีความจำเป็นในอันที่จะในการที่จะจำกัดพื้นที่ทางสังคมให้แคบลง โดยการประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในขณะเดียวกันก็ประกาศอุปถัมภ์ศาสนาอื่นๆ อย่างเสมอภาคแต่ในทางปฏิบัติย่อมเสมอภาคได้ยาก วัฒนธรรมพราหมณ์ถูกยกย่อง แต่ต้องถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในชุมชนที่ใกล้รัฐ เพื่อให้มีความสะดวกต่อการปกครองอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต โดยลดความสำคัญพิธีกรรมตามแบบวัฒนธรรมพราหมณ์ในหัวเมืองต่างๆ แต่ก็ไม่ได้จำกัดสิทธิของประชาชนในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ

เราสามารถมองเห็นความเป็นจริงเกี่ยวกับพื้นที่ทางสังคมของพระพิฆเนศวรได้ โดยผ่านทฤษฎีการบูรณาการทางวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อกระบวนการทางวัฒนธรรมพราหมณ์ถูกทำให้สั้นลงไป ก็เท่ากับว่าเป็นการโดดเดี๋ยวจำกัดไม่ให้เครือข่ายกว้างไกลออกไปอีก ก็เท่ากับว่าผลักดันไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างใหม่ ที่เรียกว่าการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (Cultural Assimilation) คือปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน คือ พุทธ ผี และพราหมณ์ มาพบกัน แล้วมีความสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง มีการหยิบยืมแลกเปลี่ยนกัน และในที่สุดต่างฝ่ายต่างก็รับเอาวัฒนธรรมของอีกฝ่ายมาเป็นของตนเองอย่างแยกไม่ออก จนเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้น ซึ่งไม่มีร่องรอยของวัฒนธรรมเดิมหลงเหลืออยู่เลย แต่ในความเป็นจริงแล้วในสังคมโลก ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้ทั้งหมดที่คนจากทั้งสองวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจะเกิดการกลืนกลายทางวัฒนธรรมได้อย่างแนบสนิท โดยไม่มีการแย่งพื้นที่กัน การที่พื้นที่ของพระพิฆเนศวรถูกจำกัดลง แต่ก็ถูกทดแทนโดยการให้ความเสมอภาคในการนับถือ การประกอบพิธีกรรม จึงเท่ากับว่ารัฐได้เปิดพื้นที่ใหม่ให้ด้วยในขณะเดียวกัน เพียงแต่ว่าสภาพแวดล้อมทางสังคมในขณะนั้น หรือแม้ในขณะนี้ มีความเหมาะสมเพียงไรเท่านั้นเอง คำตอบทั้งหมดอยู่ในตัวของปัจเจกชน ที่อาจมีวันใดวันหนึ่งที่เขาคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนจำเป็นต้องพึ่งบารมีของพระพิฆเนศวร วันนั้นจะเป็นปรากฏความเชื่อของคนหรือความเชื่อของกลุ่มคนเหล่านั้นจะกลับมาอีก โดยผ่านทางพฤติกรรม หรือจริต แล้วอาจจะวิวัฒนาการไปเป็นจารีตอย่างใหม่ หรือวัฒนธรรมใหม่อีกครั้งหนึ่ง

บรรณานุกรม
ตรี อมาตยกุล. “นครศรีธรรมราชสมัยอยุธยา” นครศรีธรรมราชในอดีต หน้า 37 - 47
กวี กาญจนาภา,บรรณาธิการ กรุงเทพมหานคร : กรุงสยามการพิมพ์, 2525.
ผาสุข อินทราวุธ. “พระคเณศ : ที่พบในภาคใต้”
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้. เล่ม 10 ( 2542) : 4863 - 4875.
พุทธทาสภิกขุ. คู่มือมนุษย์ (บันไดขั้นแรกของการศึกษาพระพุทธศาสนา)กรุงเทพมหา นคร : สำนักพิมพ์การพิมพ์พระนคร, 2516.
เวทย์ วรวิทย์. เขาอ้อวิทยาลัยไสยเวทแห่งสยาม. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ร่มฟ้าสยาม, 2544.
สนิท สมัครการ. วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์,2534.
อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. แนวคิดพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม. เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543.
อมรา พงศาพิชญ์. วัฒนธรรมศาสนาและชาติพันธุ์:วิเคราะห์สังคมไทยแนวมนุษยวิทยา กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538.
อรชุน กุรุนนท์. พระพิฆเณศวร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร:ศักดิ์ชัยการพิมพ์,2545

สถิตย์ ทองวิจิตร

No comments: